ทิศทางของ UBER และ GRAB ภายใต้นโยบาย Thailand 4.0

ทิศทางของ UBER และ GRAB ภายใต้นโยบาย Thailand 4.0

ปฏิเสธไม่ได้ว่า UBER และ GRAB เข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมแท็กซี่ไม่แต่เพียงเฉพาะในประเทศไทยแต่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมแท็กซี่ทุกประเทศทั่วโลก

ปริมาณการใช้บริการ UBER และ GRAB ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานำไปสู่ข้อพิพาทและการประท้วงจากแท็กซี่ท้องถิ่นในหลายประเทศ และส่งผลให้แต่ละประเทศมีนโยบายรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นแตกต่างกันไป

ในหลายประเทศแก้ปัญหาด้วยการออกกฎหมายห้ามผู้ขับขี่ UBER และ GRAB มาขับขี่รับผู้โดยสารโดยเด็ดขาดและลงโทษปรับสูง ในขณะที่บางประเทศอนุญาตให้ผู้ขับขี่ UBER และ GRAB สามารถขับขี่รับผู้โดยสารได้ แต่ก็มีอีกหลายประเทศที่ไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการดำเนินการในเรื่องนี้ รวมถึงประเทศไทยด้วย ในขณะที่ทั้งสองบริษัทกำลังขยายบริการจากส่วนกลางออกสู่หัวเมืองสำคัญ ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดข้อพิพาทระหว่างแท็กซี่ท้องถิ่นและผู้ขับขี่ UBER และ GRAB เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ดังนั้น การกำหนดนโยบายหรือมาตรการทางกฎหมายที่ชัดเจนในเรื่องนี้จึงมีความสำคัญที่รัฐบาลควรต้องเร่งพิจารณา

เพื่อร่วมหาทางออกในเรื่องนี้ ผู้เขียนได้ศึกษาแนวทางการออกกฎหมายของประเทศเพื่อนบ้านสองประเทศที่มีบริบทใกล้เคียงกับประเทศไทย คือ ประเทศมาเลเซียและประเทศสิงคโปร์เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางในการวิเคราะห์การแก้ปัญหาของประเทศไทย ดังนี้

สำหรับประเทศมาเลเซียมีกฎหมายที่ใช้บังคับในปัจจุบันจำนวน 2 ฉบับ คือ The Country‘s Land Public Transport Act 2017 และ The Commercial Vehicles Licensing Board Act 2017 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีการแก้ไขใหม่และประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2560 สาระสำคัญของกฎหมายทั้งสองฉบับนี้ คือ ให้ขยายขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายให้ครอบคลุมไปถึงผู้ให้บริการ UBER และ GRAB ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการรับส่งคนโดยสารต้องได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐ หากประกอบธุรกิจโดยไม่มีใบอนุญาตอาจมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 500,000 ริงกิต (158,000 ดอลล่าร์) และมีโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ที่ขับรถ UBER และ GRAB หากไม่มีใบอนุญาตจะมีโทษปรับขั้นต่ำ 1,000 ริงกิต แต่ไม่เกิน 200,000 ริงกิต หรือโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ในส่วนของการขอใบอนุญาตจะต้องมีการตรวจสุขภาพ ตรวจสภาพรถ การจัดทำประกันอุบัติเหตุ เป็นต้น

ส่วนอีกประเทศหนึ่งซึ่งรัฐสภาได้ผ่านกฎหมายที่ใช้บังคับกับ UBERและ GRAB แล้วคือประเทศสิงคโปร์ โดยกฎหมายดังกล่าวได้แก่ The Road Traffic Act 2017 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้มีลักษณะทำนองเดียวกับกฎหมายของประเทศมาเลเซีย คือ การนำ UBER และ GRAB เข้ามาสู่ระบบ และนำระบบการขอใบอนุญาตมาใช้บังคับ เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ขับขี่สามารถขับขี่ได้อย่างปลอดภัย รวมไปถึงการกำหนดมาตรการอื่น ๆ เช่น การตรวจสุขภาพผู้ขับขี่ ผู้ขับขี่จะต้องเป็นผู้มีใบขับขี่มาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี การตรวจสภาพรถ การเข้าอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับการขับรถตามที่กฎหมายกำหนด ผู้ขับขี่ต้องมาขึ้นทะเบียนเป็นรถประกอบการรับส่งโดยสารและแสดงสัญลักษณ์ที่ชัดเจนที่รถในฐานะผู้ได้รับอนุญาตให้ขับขี่ เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย สิ่งที่น่าพิจารณาก็คือ ประเทศไทยจะมีนโยบายอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหาผู้ขับขี่ UBER และ GRAB ซึ่งเมื่อพิจารณาในอุตสาหกรรมแท็กซี่ของประเทศไทยเดิมพบปัญหาที่เกิดขึ้นหลายประการ เช่น การปฏิเสธลูกค้า การโก่งราคาค่าโดยสาร อาชญากรรมที่เกิดจากผู้ขับรถแท็กซี่ การสวมสิทธิใบอนุญาตขับรถแท็กซี่ เป็นต้น ปัญหาที่สั่งสมมานานเหล่านี้ทำให้ปริมาณผู้ใช้ UBER และ GRAB เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากผู้โดยสารสามารถทราบราคาค่าโดยสาร เส้นทางและระยะเวลาในการเดินทาง รวมถึงประวัติของคนขับที่มีอยู่ในระบบ แม้ในหลายครั้งที่ค่าบริการจะมีราคาสูงกว่าแท็กซี่ปกติ แต่ผู้บริโภคก็มีแนวโน้มที่จะใช้บริการ UBER และ GRAB เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อแท็กซี่ท้องถิ่นที่ขึ้นทะเบียนถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมหนึ่ง UBER และ GRAB ก็ถือเป็นธุรกิจที่ให้บริการบนช่องว่างของกฎหมายและความไม่เท่าทันของระบบกฎหมายและเทคโนโลยี การประกอบการขนส่งสาธารณะตามความสมัครใจโดยไม่มีการกำกับโดยรัฐเลยก็อาจก่อผลกระทบเชิงลบต่อผู้รับบริการเช่นกัน อาทิ เรื่องความปลอดภัยและสภาพรถยนต์ ผู้ขับขี่และวุฒิภาวะ ซึ่งก็อาจจะนำมาซึ่งอาชญากรรมหรืออุบัติเหตุได้เช่นเดียวกับแท็กซี่ปกติ ผู้เขียนจึงเห็นว่าการตรากฎหมายที่มีมาตรการชัดเจนในการควบคุม UBER และ GRAB ผ่านระบบการอนุญาตโดยรัฐ และกำหนดให้มีความรับผิดทางอาญาและทางปกครองโดยชัดเจนจะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดและเหมาะสมที่สุด

ผู้เขียนเชื่อว่า การที่มีการแข่งขันในตลาดอุตสาหกรรมแท็กซี่เพิ่มสูงขึ้น จะส่งผลดีต่อประชาชนผู้รับบริการที่จะได้รับบริการที่พัฒนามากขึ้นในหลากหลายรูปแบบ และธุรกิจจะไม่ถูกจำกัดเฉพาะแต่เตรียมขนส่งคนโดยสาร อาจมีการต่อยอดธุรกิจให้มีความหลากหลายมากขึ้น ในแง่มุมของรัฐเองก็จะมีรายได้จากการเก็บภาษีที่เพิ่มสูงขึ้น ประชาชนเองก็จะมีโอกาสได้รับริการที่ดีขึ้นและจะมีโอกาสในการประกอบอาชีพเพิ่มเติมเพื่อหารายได้ ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐ ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำธุรกิจซึ่งเป็นการสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล คือ Thailand 4.0 อีกด้วย

 

////

โดย... สุรินรัตน์ แก้วทอง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์