ไปต่อ แต่ต้องรอ Earnings

ไปต่อ แต่ต้องรอ Earnings

ไปต่อ แต่ต้องรอ Earnings

หลังจากตลาดหุ้นบ้านเราทำจุดสูงสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมาที่ระดับเกือบ 1730 จุดไปเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ก่อนจะร่วงลงมาแถวๆ 1680 จุดในเวลาเพียง 3-4 วัน ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าตลาดหุ้นบ้านเราหมดรอบหรือยัง หลายคนเริ่มแซวกันตาม social media ว่าดอยเหมือนเดิม ที่เพิ่มเติมคือความสูง วันนี้จะขอนำเสนอเรื่องราวที่น่าจะช่วยให้นักลงทุนหลายท่านใจชื้นขึ้นได้ว่าจริงๆ แล้วมุมมองระยะยาวต่อตลาดหุ้นบ้านเรานั้นยังไม่เปลี่ยน

ก่อนจะลงในรายละเอียดขอปูพื้นเรื่องของ valuation ซักเล็กน้อยว่าอัตราส่วน Price-to-Earnings Ratio (PE Ratio) ที่เรานิยมดูกันนั้นมองได้หลายแบบ ซึ่งเกิดจากความแตกต่างว่าเราจะเลือก Earnings แบบไหนมาเป็นตัวหาร

PE Ratio ในรูปแบบดั้งเดิมที่เรานิยมใช้นั้นจะเอา Actual Earnings หรือผลประกอบการบริษัทที่เกิดขึ้นจริงในช่วงอดีต 12 เดือนที่ผ่านมาเป็นตัวหาร แต่ปัญหาของการใช้ผลประกอบการในอดีตมาหารมีข้อน่าคิดอยู่ 2 ข้อใหญ่ๆ คือ

1) ความผันผวนสูง เพราะหากในช่วงที่ผ่านมามีเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นแบบครั้งเดียว(one-time hit) เช่นการขาดทุนจากการตีมูลค่าสินค้าคงคลังที่ผันผวนตามราคาตลาดโลก หรือมีบางธนาคารตัดหนี้สูญของลูกค้ารายใหญ่ไปทั้งก้อน ซึ่งของแบบนี้ไตรมาสหน้าก็อาจไม่เกิดอีก ดีไม่ดีอาจเกิดกำไรพิเศษในอนาคตด้วยซ้ำหากราคาสินค้าในตลาดโลกเหวี่ยงกลับขึ้นมา หรือหนี้บางส่วนปรับโครงสร้างแล้วได้เงินคืนมาบ้าง ดังนั้นเหตุการณ์ one-time hit แบบนี้มักทำให้อัตราส่วน PE Ratio กระโดดสูงขึ้นทำให้ตลาดหุ้นดูเหมือนแพงในเวลาชั่วขณะ

2) การลงทุนควรพิจารณาจากผลประกอบการณ์ในอนาคตมากกว่าในอดีต เพราะเราไม่ได้ซื้อบริษัทเพื่อจะเอาผลประกอบการเมื่อปีที่แล้ว ดังนั้นการดู PE Ratio ที่เกิดจาก Earnings ในอดีตอาจทำให้พลาดโอกาสการลงทุนในหุ้นที่ยังมีอนาคตดี

ดังนั้น ในระยะหลังจึงมี PER อีกแบบที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ที่เรียกว่า Forward PE Ratio หรือ PE Ratio แบบมองไปข้างหน้า ซึ่งเกิดจากการเลือกใช้ Forward Earnings หรือกำไรบริษัทจดทะเบียนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตในช่วง 12 เดือนข้างหน้ามาเป็นตัวหาร (อ้างอิงจากผลสำรวจนักวิเคราะห์ทั้งตลาดที่ส่งข้อมูลผ่าน Bloomberg มาคำนวณ) ซึ่งเลข Forward Earnings นี้มักจะมีความนิ่งกว่า Actual Earnings เนื่องจากไม่ถูกกระทบโดยตรงจากความผันผวนของผลประกอบการณ์ในอดีตประเภท one-time hit แต่ก็จะมีข้อเสียอยู่บ้าง ตรงที่ค่าเฉลี่ยมุมมองของนักวิเคราะห์ทั้งตลาดมักมีความล่าช้าอยู่บ้าง แต่ก็คุ้มค่าน่าใช้เมื่อเทียบกับความ noisy ที่ลดลงเหมาะกับการลงทุนในระยะยาว

คำถามคือ Forward PE Ratio ล่าสุดบอกอะไรเราบ้าง คำตอบคือ มันเพิ่งทำจุดสูงสุดไปพร้อมๆ กับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมาเช่นกัน ซึ่งมันแปลว่านักลงทุนในตลาดหุ้นได้ให้ราคาหุ้นไปบน “ความหวัง” ของผลประกอบการในช่วง 12 เดือนข้างหน้าอย่างค่อนข้างเต็มมูลค่าแล้ว ราคาหุ้นจึงเจอกับแรงขายทำกำไรของนักลงทุนที่มองว่าถือเงินสด รอให้บริษัทจดทะเบียนประกาศผลประกอบการก่อนดีกว่า หากทำไม่ได้ตามคาดราคาก็น่าจะย่อลงมาบ้างเป็นโอกาสให้เข้าลงทุนอีกครั้ง

นั่นแปลว่า เม็ดเงินที่ขายออกมารออยู่ข้างนอกนี้ใช่ว่าจะไปแล้วไปลับเพราะต่อให้ผลประกอบการบริษัทพลาดเป้าไปบ้าง แต่เศรษฐกิจยังเป็นขาขึ้น (ไม่ได้เป็นภาวะวิกฤติ) ตลอดจนเรื่องราวหรือ Story การเติบโตของประเทศยังคงไม่เปลี่ยนแปลง เช่นมีการผ่านกฎหมายเฉพาะเพื่อรองรับโครงการ Eastern Economic Corridor (EEC) มีการเบิกจ่ายเงินและอนุมัติโครงการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงประเทศไทยกับเพื่อนบ้านโดยมี EEC เป็นศูนย์กลาง หรือแม้แต่การบริโภคและค้าปลีกในประเทศที่ยังคงได้รับแรงหนุนจากรายได้ในประเทศที่ดีขึ้นและนักท่องเที่ยวแถบเอเชียที่เน้นสัดส่วนการจับจ่ายใช้สอยหรือ shopping ค่อนข้างมากก็เชื่อได้ว่า Theme การลงทุนหลักๆ ที่เราเคยแนะนำให้ลงทุน ทั้งกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม กลุ่มผู้รับเหมาและวัสดุก่อสร้าง ตลอดจนกลุ่มค้าปลีกและกลุ่มที่เกี่ยวกับการบริโภคในประเทศ ก็จะยังคงมีผลประกอบการที่ดีต่อไป และตราบใดที่เศรษฐกิจยังขยายตัว ตลาดหุ้นบ้านเราก็จะยังค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้นได้ในปีหน้าตาม Earnings ที่เติบโตไปกับเศรษฐกิจและ Story ของประเทศ