จากหัวใจนักแสดงโขน คนรุ่นใหม่ มุ่งมั่นสืบสานพระราชปณิธาน ร.9

จากหัวใจนักแสดงโขน คนรุ่นใหม่ มุ่งมั่นสืบสานพระราชปณิธาน ร.9

ตลอดหนึ่งปีของความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่  นับตั้งแต่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช  บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต เมื่อ 13 ต.ค.2559

ท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจของปวงชนชาวไทย  เราคนไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสได้รับรู้ ถึงเรื่องราว พระราชกรณียกิจ   พระอัจฉริยภาพในด้านต่างๆ  ความห่วงใยของพระองค์ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย  ผ่านสื่อสารมวลชนต่างๆ มากมาย  ทำให้ คนไทยและคนรุ่นใหม่ ได้เห็นถึงแบบอย่าง ความทุ่มเท ในการทรงงานของพระองค์มากมาย     รวมถึง ได้เห็นถึง ความรัก ความห่วงใย ของพระองค์ ต่อประชาชน ทรงไม่ย่อท้อต่อการเดินทางในพื้นที่ ที่ยากลำบาก  เพื่อไปเยี่ยมราษฎรในจังหวัดต่างๆ    ตลอดจนได้รับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของชุมชน ของพื้นที่ และของประเทศไทย เมื่อโครงการพระราชดำริ กว่าสี่พันโครงการไปถึง   

ขณะที่เกษตรกร นักธุรกิจ และประชาชน ที่ได้ น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่พระองค์ทรงมอบให้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน   และการทำงาน ได้พบความเปลี่ยนแปลงที่ดี และมีความยั่งยืน

จากสิ่งที่พระองค์ทรงทำให้ประชาชนชาวไทยมากมายเหลือเกิน  ทำให้คนไทยต่างรู้สึกถึงความโชคดี ที่ได้เกิดมาใต้ร่มพระบารมี  และรู้สึกโศกเศร้าเสียใจเป็นที่สุด   เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2560 ซึ่่งเป็นวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช  บรมนาถบพิตร จะมาถึงสัปดาห์ก่อนผู้เขียน ได้พบกับน้องๆ เยาวชนคนรุ่นใหม่ นักแสดงโขน ที่จะได้มีโอกาสไปแสดงมหรสพ เนื่องในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ได้ทราบถึง ความรัก ความประทับใจ  แรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นในหัวใจของคนรุ่นใหม่  และความภูมิใจ ที่จะได้ทำหน้าที่เป็นนักแสดงโขนถวายรัชกาลที่ 9 เป็นครั้งสุดท้าย ดังนี้

                                                                                                                                                                    นางสาววิชุดา คล้ายผล  วิทยาลัยนาฎศิลป  จ. อ่างทอง บอกว่า “ ดีใจมากที่สุด ที่จะมีโอกาสมาแสดง โขนในชุดน้อมรำลึก  พยายามซ้อม  และตั้งใจทำเต็มที่   รู้สึกภาคภูมิใจ และเสียใจในคราวเดียวกัน แม้จะรู้ว่า อย่างไรวันนี้ต้องมาถึง แต่ก็รู้สึกว่าเร็วเกินไป   ในครั้งนี้เป็นครั้งแรก ครั้งเดียว ที่จะได้ใกล้ชิดพระองค์  จะทำให้ดีที่สุด ”

นายนำโชค มั่นคง  วิทยาลัยนาฎศิลป  จ. อ่างทอง บอกว่า  “ครั้งแรกที่คุณครูบอกว่า  ผมจะได้มาร่วมแสดงโขน  ก็รู้สึกภาคภูมิใจมาก ผมตั้งใจจะทำให้ดีที่สุด  จะเป็นศิลปินที่ทดแทนพระคุณ สิ่งที่พระองค์มอบให้  ทรงเป็นอัครศิลปิน  ทรงสนับสนุนงานนาฎศิลป์ดนตรีไทย โดยเฉพาะโขน  วันนี้ ถึงแม้พระองค์จะจากไปแล้ว แต่สิ่งนี้ จะยังอยู่กับคนไทย ผมคิดว่า ผมจะเป็นคนหนึ่งที่จะช่วยสืบสานให้คงอยู่ต่อไป”

นายณัฐพงศ์ บุญช่วย  วิทยาลัยนาฎศิลป์ จ.พัทลุง บอกว่า  “ ในครั้งนี้ ผมได้แสดงเป็นเขนลิง ผมภูมิใจที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์    จากที่ได้ติดตามสารคดีเกี่ยวกับรัชกาลที่ 9 ผม ได้เรียนรู้หลายอย่าง  ผมได้เห็นพระปรีชาสามารถมากมาย   ซึ่งสำหรับผมรู้สึกว่าแปลกมากที่คนๆ หนึ่งจะเก่งทุกด้านท่านเป็นแรงบันดาลใจที่ให้ผมอยากศึกษาต่อ   ทำให้เรารู้สึกว่า  เราก็สามารถฝึกทำอะไรให้หลากหลายได้”

นายสิทธิกร ทรัพย์น้อย วิทยาลัยนาฎศิลป  จ. อ่างทอง  บอกว่า “ดีใจที่ได้มาแสดง และเสียใจที่วันที่เราจะแสดงเป็นวันที่เศร้าที่สุด  จะขอเดินตามรอยพระองค์ ภาพของพระองค์ทรงไปเยี่ยมราษฎรในที่กันดาร    ไม่เหมือนเพระราชาของประเทศอื่น จุดประกายให้ผมอยากทำดีช่วยคนตกทุกข์ได้ยาก  ช่วยเหลือสังคม”

นายมงคล พุ่มประสาท วิทยาลัยนาฎศิลป  จ. อ่างทอง บอกว่า “พระองค์เป็นแบบอย่างของความดี  ทำให้เราอยากทำความดี  สร้างความสามัคคี และมีน้ำใจ พ่อแม่บอกเล่าเรื่องราวของท่านให้ฟังตลอด   เห็นภาพพระองค์นั่งริมรถ  ทีไรก็รู้สึกตื้นตัน รู้สึกภาคภูมิใจที่เรามีพระราชา ที่ดี  คอยเอาใส่ดูแลประชาชน  ทำให้เราอยากจะทำความดีตลอดไป”

นาย สุรเดช จรัญเสริฐ  วิทยาลัยนาฎศิลป  จ.กาฬสินธุ์ บอกว่า  “แม้จะเหนื่อย  แต่ก็จะสู้เพื่อพ่อ    ท่านทำงานหนักเพื่อประชาชนทุกคน   ภาพที่เห็นเหงื่อพระองค์ไหล เป็นภาพที่จุดประกายให้เราไม่ท้อ  แล้วกลับไปคิดพิจารณาว่า  เหนื่อยของเรานั้นน้อยนิดนัก เทียบไม่ได้กับความเหน็ดเหนื่อย ที่พระองค์ทำให้เรา  จะแสดงโขน จะทำให้ดีที่สุด” 

นายวัศพล โนนใหญ่  สถาบันบัณฑิตพัฒนาศิลป์ กรุงเทพ  บอกว่า “ติดตามดู สารคดีเกี่ยวกับพระองค์ตลอด  ยิ่งดู ยิ่งมีประโยชน์ สามารถนำใช้ในชีวิตประจำวัน   โดยเฉพาะเรื่องการปิดทองหลังพระ   ทำให้เราทำความดีได้โดยไม่หวังผลตอบแทนจากผู้อื่น หรือใครจะเห็น   ในฐานะนักแสดงโขน ผม จะขอสืบสาน วัฒนธรรมไทยไปให้นานที่สุด ไม่ให้นาฎศิลป์ไทยสูญสิ้นไป” 

เช่นเดียวกับน้องๆ เยาวชนคนรุ่นใหม่  ผู้เขียน ในฐานะประชาชนคนไทย ที่เกิดและเติบโต ใต้ร่มพระบารมีรัชกาลที่ 9  ซึ่งได้รับเกียรติสูงสุดในชีวิต คือได้รับพระราชทานปริญญาบัตร จากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช  บรมนาถบพิตร  จะเปลี่ยนความโศกเศร้าอันใหญ่หลวงครั้งนี้ให้เป็นพลัง   เพื่อทำหน้าที่ในทุกๆบทบาทอย่างดีที่สุด  โดยเฉพาะการสื่อสารพระราชกรณียกิจสู่สังคมวงกว้าง  และจะร่วมดูแลหวงแหน  ชุมชน สังคม วัฒนธรรมไทย  และอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อมสืบไป