ส่งออกวัฒนธรรม

ส่งออกวัฒนธรรม

“การส่งออกวัฒนธรรม” หนึ่งในวิธีการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศที่ได้ผลชะงักงันจนทำให้หลายๆ ประเทศต่างเดินตามรอยแล้วส่งออกวัฒนธรรมตามกันไป

อย่างญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ทำ ทั้งนี้ก็เพื่อหวังให้ผู้บริโภครับเอาวัฒนธรรมไป นำไปสู่การบริโภคสินค้าที่เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมชาตินั้นๆ กลายเป็นเงินกลับเข้าสู่ประเทศ 

หากจะพูดถึงจุดเริ่มต้นของวิธีการนี้ คงจะต้องย้อนกลับไปยุคที่วงดนตรีสัญชาติอังกฤษอย่าง “The Beatles” ถือกำเนิดขึ้นมา ผมคงต้องบอกว่ามันคือจุดเริ่มต้นของการส่งออกวัฒนธรรมโดยแท้จริง ตามมาด้วยญี่ปุ่น และเกาหลีใต้อย่างที่คนรุ่นเราเห็นกันชัดๆ ในปัจจุบัน ซึ่งวิธีการก็ไม่แตกต่างกัน คือส่งออกผ่านสื่อบันเทิงอย่างเพลง ภาพยนตร์ และซีรีส์

ย้อนไปราวๆ ปี ค.ศ. 1960-1980 จุดเริ่มต้นของการส่งออกวัฒนธรรมผ่านเสียงเพลงได้กำเนิดขึ้นนำโดยวงดนตรีร็อกแอนด์โรลอย่าง “The Beatles” ที่โด่งดังไปทั่วจนกลายเป็นตำนานที่ทำให้คนแทบจะทั่วโลกเริ่มรู้จักภาษาอังกฤษ และเริ่มร้องเพลงภาษาอังกฤษ ตามด้วยนักร้องสายเลือดอังกฤษที่โด่งดังตามกันมาอีกหลากหลายคน เช่น Elton john, Queen, Electric light orchestra เป็นต้น 

ดังนั้นจะบอกว่าประเทศอังกฤษถือเป็นผู้นำในการส่งออกวัฒนธรรมเลยก็ว่าได้ แต่ฝั่งอเมริกาก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะหลังจากนั้นไม่นานอเมริกาก็ข้ามหัวอังกฤษไปด้วยเพลง ภาพยนตร์ และรายการโทรทัศน์ และนับตั้งแต่ปีค.ศ. 1980 โลกก็เปลี่ยนไปเสพวัฒนธรรมของอเมริกันมากขึ้น ยิ่งช่องซีเอ็นเอ็น (CNN) ที่เกิดโด่งดังขึ้นมาจากการทำข่าวสงคราวอ่าวที่อเมริกาบุกไปทวงคูเวตคืนจากอิรัก ยิ่งทำให้โลกตกอยู่ในมือของสื่ออเมริกามากขึ้น แล้วสำหรับประเทศที่มาเงียบๆ ไม่หวือหวามากก็คือญี่ปุ่น ที่ส่งออกวัฒนธรรมผ่านการ์ตูน และซีรีส์มากกว่า 40 ปี ตามด้วยวัฒนธรรมอาหาร และสินค้าแฟชั่น รวมถึงแบรนด์รถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่คนให้การยอมรับกันมากไม่แพ้กัน ในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา 

วัฒนธรรมที่มาแรงสุดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบ้านเราก็หนีไม่พ้นวัฒนธรรมเกาหลีที่ต้องบอกว่า ส่งออกวัฒนธรรมตามแนวญี่ปุ่นมาเลย คนไทยเริ่มรู้จักเกาหลีจากซีรีส์ แดจังกึม” ซีรีส์เกาหลีเรื่องแรกที่มาเขย่าสังคมไทย และหลังจากนั้นเขาก็ส่งออกวัฒนธรรมมาขายบ้านเราแบบกระหน่ำเลยล่ะครับ

ประเทศไทยเราก็พยายามส่งออกวัฒนธรรมด้วยวิธีการเดียวกับที่เกาหลีใต้ทำ คือ ละคร และภาพยนตร์ ด้วยเงินสนับสนุนมากมายจากกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงต่างประเทศ เหมือนอย่างที่รัฐบาลเกาหลียกให้อุตสาหกรรมบันเทิงเป็นอันดับหนึ่ง และทุ่มสนับสนุนทั้งเพลง และซีรีส์ของเขา เพราะเขามองว่าเป็นทางที่จะเข้าถึงคนได้มากกว่าภาพยนตร์ แต่บ้านเรากลับพยายามส่งออกภาพยนตร์ทั้งๆ ที่ปีหนึ่งเราผลิตน้อยลงมาก

แต่จริงๆ แล้วมีสิ่งหนึ่งที่คนไทยมองข้ามไปครับ อีกหนึ่งวัฒนธรรมที่ดีที่สุดของชาติเรา คือ อาหารไทย” ถ้าหากเราหันมาปั้นอาหารไทยให้ดังกันดูบ้าง ทำให้คนทั้งโลกคลั่งอาหารไทยจะเป็นอย่างไร ซึ่งวิธีการก็ง่ายๆ เลยครับ คือ สนับสนุนการส่งออกวัตถุดิบ เช่น น้ำปลาหรือกะปิ ส่วนผสมที่ทำให้อาหารไทยมีกลิ่น และรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ ปั้นพ่อครัวหรือแม่ครัวสัญชาติไทยออกไปเหมือนที่ แบบที่ว่า ถ้าดาราโชว์ความสามารถทางการแสดง พ่อครัวหรือแม่ครัวก็โชว์ความสามารถในการปรุงอาหารให้คนได้รับรู้รสชาติอาหารไทยแบบต้นตำรับ และสุดท้าย เราเรียกชื่ออาหารไทยแบบทับศัพท์ไปเลย ไม่ต้องแปลเป็นภาษาอื่นหรอกครับ ส้มตำก็คือส้มตำ ไม่ต้องแปลเป็น “Papaya Salad” ดูอย่างอาหารญี่ปุ่นสิครับ ซูชิก็เรียกว่าซูชิ วาซาบิก็เรียกวาซาบิ 

มันง่ายมากเลยนะครับที่เราจะเอาอาหารไทยไปขายให้คนทั้งโลก เพราะอาหารไทยเป็นที่ยอมรับเรื่องรสชาติอยู่แล้ว เพียงแค่เราต้องทำให้อาหารไทยมีมาตรฐานเดียวกัน เช่น ถ้าใส่พริก 1 เม็ด ก็จะเผ็ดในระดับเดียวกันหมดไม่ว่าเมนูใด หรือหาวิธีให้เราส่งออกใบมะกรูด ขิง ข่า กระชาย กะเพรา ได้แบบผูกขาด ไม่มีชาติอื่นมาส่งออกตาม มีโรงเรียนพัฒนาเชฟอาหารไทยให้เก่งๆ เหมือนที่เชฟตะวันตกทำได้ ให้เขาได้เรียนรู้การสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ เพื่อสร้างความแตกต่าง นี่แหละครับ Innovation และ Creativity ก็เกิดได้กับอาหารไทยครับ แถมให้ครบเครื่องไปอีกคือ ฝึกภาษาอังกฤษ และสอนให้เข้าใจการทำธุรกิจด้วย 

เราไม่จำเป็นต้องเดินตามชาติอื่นหรอกครับ แค่บิดวิธีการคิดนิดนึง แถมใช้ของดีที่ประเทศเรามีอยู่แล้ว ดูอย่างฝรั่งเศส อิตาลีเป็นตัวอย่างสิครับ เขาก็ส่งออกอาหารของเขาออกไปให้คนทั้งโลกเช่นเดียวกับจีน และญี่ปุ่น 

เพราะฉะนั้นเราลองมาปั้นอาหารไทยกันสักตั้งไหมล่ะครับ?