“สุขภาพ” เพื่อเป้าหมายการเงินที่มี “คุณภาพ”

“สุขภาพ” เพื่อเป้าหมายการเงินที่มี “คุณภาพ”

“สุขภาพ” เพื่อเป้าหมายการเงินที่มี “คุณภาพ”

เมื่อกลางเดือนที่แล้วผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมฟังสัมมนา Active Ageing – Learning from Our friends โดยผู้มีประสบการณ์ด้านการดูแลผู้สูงวัยในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารบ้านพักคนชรา (ที่สะอาด รื่นรมย์ และทันสมัย) กูรูด้านการเงิน อาจารย์แพทย์ทั้งจากออสเตรเลียและโรงเรียนแพทย์ของไทย รวมถึงอาสาสมัครในการดูแลผู้สูงอายุจากทั้งสองประเทศ จัดโดยมูลนิธิบ้านสุทธาวาส และบ้าน Resthaven ของออสเตรเลีย โดยมีคุณตาคุณยาย จากบ้านสุทธาวาส และผู้แทนจากบ้าน Resthaven เข้ามาร่วมแสดงความสามารถและแบ่งปันประสบการณ์ให้กับผู้รับฟังเต็มห้องประชุม

ศาสตราจารย์ Renuka Visvanathan จาก Queen Elizabeth Hospital ได้กล่าวไว้ในการสัมมนาถึงปัจจัยที่มีส่วนช่วยให้ผู้ใหญ่ในครอบครัวมีโอกาสสูงอายุอย่างมีสุขภาพที่ดี โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเสริฐ อัสสันตชัย รองคณบดี หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ร่วมแสดงความคิดเห็น

จากการวิจัยของศาสตราจารย์Renuka พบว่า Frailty” หรือ ภาวะเปราะบาง นั้นสามารถที่จะชะลอออกไปได้ โดยไม่ควรคิดว่า “เป็นเรื่องปกติของคนแก่” เพราะอาการที่ว่านี้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการรับประทานอาหารที่ไม่สมดุล โดยหากพิจารณาจากระดับดัชนีมวลกาย (Body Mass Index - BMI) (ซึ่งคำนวณโดยนำน้ำหนักเป็นกิโลกรัม หารด้วยความสูงที่มีหน่วยเป็นเมตรยกกำลังสอง) ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกแล้ว พบว่าคนหนุ่มสาวควรมี BMI อยู่ในช่วง 18.5 – 25 และหากเกิน 30 จะถือว่ามีน้ำหนักที่มากเกินไป แต่จากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการเสียชีวิตของผู้สูงอายุ อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 197,940 ราย โดยติดตามผลเป็นระยะเวลา 5 ปีพบว่าดัชนี BMI ที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุอยู่ในช่วง 22 – 27 โดยน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นนี้ควรมาจากมวลกล้ามเนื้อ แต่ด้วยผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักจะบริโภคน้อยลง เนื่องจากภาวะการรับรู้รสที่ถดถอยลง ส่งผลให้มวลกล้ามเนื้อในร่างกายลดลงไปด้วย จากการวิจัย ผู้สูงอายุควรที่จะบริโภคโปรตีนเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อในปริมาณที่มากกว่าคนหนุ่มสาว โดยอยู่ที่ระดับ 1 – 1.2 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน และในแต่ละมื้ออาหารหลักควรมีโปรตีนรวมอยู่ด้วยในสัดส่วน 25 -30 กรัม ทั้งนี้ การบริโภคโปรตีนหลังออกกำลังกายยังช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้ออีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ การออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 20 นาที ประกอบด้วยแอโรบิก เช่น การเดิน ว่ายน้ำ และการออกแรงต้าน เช่น การยกเวท เป็นต้น ก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการชะลอภาวะความเปราะบางของผู้สูงอายุออกไปได้

สำหรับความสำคัญของการออกกำลังกายนี้ ไม่เพียงช่วยชะลอการแก่ชรา แต่ยังช่วยลดต้นทุนค่ารักษาพยาบาลลงได้ โดยเมื่อปลายปีที่แล้ว American Heart Association /American Stroke Association ได้ออกผลการศึกษาว่าการออกกำลังกายสำหรับคนทั่วไป (ระดับปานกลางที่ 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือวันละ 30 นาทีต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์ หรือระดับหนักที่ 75 นาทีต่อสัปดาห์) อาจช่วยลดต้นทุนค่ารักษาพยาบาลลงได้ โดยผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่ออกกำลังกายตามที่กำหนด สามารถประหยัดค่ารักษาพยาบาลลงได้ถึง 2,500 เหรียญสหรัฐฯต่อปี ในขณะที่ผู้ไม่ได้เป็นโรคหัวใจ แต่อาจมีความเสี่ยงอยู่บ้าง และออกกำลังกายตามที่กำหนด มีค่าใช้จ่ายด้านการรักษาเฉลี่ยลดลง 500 เหรียญสหรัฐฯต่อปี นอกจากนี้ การออกกำลังประเภทแอโรบิก 40 นาที 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ยังช่วยลดความเสี่ยงหัวใจวายและเส้นเลือดในสมองแตกอีกด้วย

นายแพทย์ Khurram Nasir นักวิจัยอาวุโสและผู้อำนวยการ Center for Healthcare Advancement & Outcomes and the High Risk Cardiovascular Disease Clinic แห่ง Baptist Health South Florida ได้ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า “สารที่ส่งไปยังผู้ป่วยนั้นชัดเจนว่า: ไม่มียาใดที่จะลดความเสี่ยงการเป็นโรคและลดต้นทุนการรักษาพยาบาลได้ดีไปกว่าการออกกำลังกายที่เพียงพอ”

แล้ววันนี้คุณเริ่มออมเงินด้วยการออกกำลังกายแล้วหรือยัง?