ผู้หญิงกับวงการ Data Science

ผู้หญิงกับวงการ Data Science

เป็นที่กล่าวกันว่ามีผู้หญิงจำนวนน้อยทำงานในวงการเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาวิศวกรรม

บางรายงานกล่าวว่า ในบริษัทเทคโนโลยีจำนวนมากมีสัดส่วนของจำนวนวิศวกรหญิงน้อยกว่า 20%

สำหรับในวงการวิทยาศาสตร์ข้อมูล(Data Science) ซึ่งต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะสถานการณ์นับว่าแย่กว่านั้น จากผลการสำรวจพบว่า นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) ที่เป็นผู้หญิงนั้นมีอยู่น้อยกว่า 10% 

ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่โลกของเรากำลังขาดแคลนบุคลากรด้านดังกล่าว บริษัทต่างๆ จึงควรพยายามเชิญชวนให้ผู้หญิงเข้ามาทำงานในวงการนี้ให้มากขึ้น ผมเชื่อว่า กระบวนการคัดเลือกคนที่ใช้วัตถุประสงค์ของการทำงานเป็นตัวตั้ง และลดอคติให้น้อยลงจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้

ปัจจุบัน มีผู้หญิงจำนวนมากที่จบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยด้วยเกรดเฉลี่ยสูงกว่าผู้ชาย แต่นี่ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่น่าสงสัยอย่างมากว่า แล้วทำไมจำนวนของวิศวกรหญิงในวงการเทคโนโลยีจึงมีน้อยกว่าวิศวกรชายอย่างเห็นได้ชัด 

มีทฤษฎีมากมายที่พยายามจะอธิบายถึงสาเหตุของปรากฏการณ์นี้ ยกตัวอย่างเช่น อดีตวิศวกรจากบริษัทเสิร์ชเอ็นจิ้นระดับโลกคนหนึ่งได้ให้เหตุผลว่า ธรรมชาติของผู้หญิงไม่เหมาะสมที่จะทำงานในเชิงเทคนิค จากคำกล่าวนี้ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากว่า “เชื่อถือไม่ได้” เพราะเป็นเพียงความคิดจากมุมมองที่ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มายืนยัน และไม่ได้มีพื้นฐานจากความเป็นจริง 

แต่อย่างไรก็ตามเป็นที่น่ากังวลใจว่ามีคนจำนวนมากที่ยังมีความเชื่อเดียวกับวิศวกรนายนี้และพวกเขาเหล่านั้นก็พยายามเผยแพร่ความคิดนี้ให้กับคนอื่นๆ แม้ว่าพวกเขาจะต้องเสี่ยงกับโอกาสที่จะต้องสูญเสียงานของพวกเขาไปก็ตาม

การมีอคติหรือความลำเอียงในการคัดเลือกคนด้วยการใช้ความคิดที่ว่าจะเลือกรับเฉพาะพนักงานที่มีความคล้ายคลึงกับคนในองค์กรนั้น เป็นสิ่งที่อันตรายต่อองค์กรเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่เพียงทำให้ลดโอกาสที่จะได้พบกับผู้สมัครงานที่มีความสามารถแล้ว ยังเป็นการลดความหลากหลายของการทำงานในองค์กรด้วย 

สิ่งสำคัญในวงการวิทยาศาสตร์ข้อมูลคือ การสร้างทีมที่ประกอบด้วยผู้คนที่มีความสามารถและความเชี่ยวชาญที่หลากหลายจากวงการต่างๆ ให้มาทำงานร่วมกัน เพื่อต่อยอดหรือสร้างไอเดียใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น เหมือนกับทีมนักกีฬาที่ต้องมีคนเก่งๆ จากหลากหลายสาขา ช่วยกันเติมเต็มจุดแข็งเพื่อช่วยส่งเสริมให้ทีมประสบความสำเร็จได้ดียิ่งขึ้น

ส่วนผมเองเชื่อว่า การที่สร้างระบบการคัดเลือกคนที่ตั้งจากวัตถุประสงค์ของการคัดเลือกเป็นสำคัญจะช่วยทำให้มองข้ามการแบ่งแยกเรื่องเพศและสร้างความเป็นธรรมในการคัดเลือกคนให้เกิดขึ้นได้ ที่เซอร์ทิสเอง เกือบ 40% ของทีมวิทยาศาสตร์ข้อมูลเป็นผู้หญิง และพวกเขาเองก็เป็นหนึ่งในทีมงานที่ทำผลงานได้ยอดเยี่ยม

อีกทางหนึ่ง มุมมองและความคิดของผู้บริหารที่มีอคติในการคัดเลือกคน โดยคิดจะคัดเลือกจ้างเฉพาะพนักงานที่มีคล้ายกับตนเองเท่านั้นเป็นความคิดที่อันตราย เพราะในธรรมชาติของมนุษย์นั้นมักจะมีความคิดที่เป็นอคติหรือความลำเอียงแอบแฝงซ่อนไว้อยู่เสมอ 

ดังนั้นการต่อสู้เพื่อลดหรือขจัดให้ทัศนคติที่มีความลำเอียงเหล่านั้นออกไปและไม่ให้ฝังรากลึกลงไปในองค์กรด้วยการสร้างระบบหรือกระบวนการต่างๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรจะต้องมี โดยเฉพาะกับบริษัทที่มีความต้องการที่จะสร้างทีมวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพ