Data Residency กุญแจธุรกิจไทยสู่“คลาวด์คอมพิวติ้ง”

Data Residency กุญแจธุรกิจไทยสู่“คลาวด์คอมพิวติ้ง”

กระแสของดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น เป็นตัวเร่งชั้นดีที่ทำให้องค์กรธุรกิจเริ่มสนใจที่จะขยับขยายเข้าสู่โลกของคลาวด์ คอมพิวติ้ง 

จากความยืดหยุ่นที่ช่วยให้ระบบไอทีขององค์กรสามารถเพิ่มขยายขีดจำกัดด้านความเร็ว และช่วยรองรับการสร้างนวัตกรรม นอกจากนี้ ปัจจุบันผู้ให้บริการคลาวด์ยังส่งมอบเครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนาธุรกิจแบบก้าวกระโดด แถมยังเพิ่มขีดความสามารถในด้านการแข่งขัน ทั้งทางด้านไอโอทีและเอไอด้วย

กระนั้นก็ตาม การปรับใช้คลาวด์ ก็ยังมีข้อจำกัดจากกฎระเบียบที่พบเห็นได้ในบางอุตสาหกรรม เช่น การกำหนดให้ต้องมีการจัดเก็บข้อมูลในประเทศ โดยเฉพาะข้อมูลส่วนบุคคล หรือข้อมูลที่อ่อนไหว ทั้งในภาคธุรกิจเฮลธ์แคร์ ธุรกิจการเงินและประกันภัย แต่ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ได้เปิดช่องทางช่วยผ่อนปรนให้ธนาคารในประเทศสามารถใช้บริการคลาวด์ได้มากขึ้น โดยสามารถให้ใช้บริการต่างประเทศได้ แต่ต้องสำรองข้อมูลในประเทศไว้ด้วย

อย่างไรก็ตาม การที่ดาต้าถูกอัพขึ้นบนคลาวด์ จะมีฐานเก็บข้อมูลซึ่งอยู่นอกประเทศ และประเทศไทยยังไม่ยอมรับอย่างชัดเจน หรือมีมาตรการรองรับกรณีนี้อยู่

สำหรับในต่างประเทศนั้น ปัจจุบันจะให้น้ำหนักไปกับการที่ต้องมี 3rd party เข้ามาตรวจสอบดาต้าเซ็นเตอร์ เพื่อเป็นการรับรองการเก็บข้อมูล รวมไปถึงมีแนวทางด้านกฎหมายที่คอยคุ้มครองความปลอดภัยของข้อมูล มากกว่าการกำหนดให้ข้อมูลต้องอยู่ในประเทศเท่านั้น หรือเรียกว่า “ถิ่นที่อยู่ของข้อมูล” (Data residency)

ทั้งนี้ การกำหนดให้การใช้คลาวด์ต้องมีการจัดเก็บข้อมูลในประเทศด้วยนั้น อาจสร้างอุปสรรคต่อการปรับใช้คลาวด์ให้ต้องสะดุด หรือช้าลง เนื่องจากเป็นการผลักภาระให้กับภาคธุรกิจเพิ่มมากขึ้น นิยามของ Data residency คือ ชุดของประเด็น และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ตั้งข้อมูลทางกายภาพ รวมถึงเมทาดาต้าซึ่งมีความเคลื่อนไหวของข้อมูลกระจายไปในมุมมองแบบภูมิศาสตร์ อีกทั้งยังครอบคลุมถึงขอบเขตอำนาจของศาล และการป้องกันข้อมูลต่อการเข้าถึงโดยมิได้เจตนา รวมถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวกับที่ตั้งอื่นๆด้วย

Data residency ไม่เพียงที่จะเกี่ยวข้องกับข้อมูลที่บ่งชี้ตัวตนส่วนบุุคคล แต่ยังสร้างความกังวลในด้านสิทธิการเคลื่อนย้ายข้อมูลที่เป็นอธิปไตย ซึ่งหมายถึงข้อกำหนดทางกฎหมาย หรือข้อบังคับใช้กับข้อมูลในประเทศนั้นๆ

ทั้งนี้ การกำหนดให้มี Data residency อาจสร้างความเสี่ยงที่อาจทำให้ผู้ใช้งาน ละเมิดกฎหมายหรือกฎระเบียบได้อย่างไม่ได้ตั้งใจ การเข้าถึงโดยไม่ได้เจตนาหรือการมิได้รับอนุญาตก่อนนั้นโดยบริษัทต่างชาติ รวมถึงการเผชิญหน้ากับความต้องการของเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างชาติที่อยากจะล้วงลึกเข้าถึงข้อมูล อาจจะแก้ไขด้วยการให้secret keys กับรัฐบาลต่างชาติเพื่อสุ่มตรวจ ข้อมูลที่ถูกเข้ารหัส

นอกจากนั้น ยังอาจจะละเมิดนโยบาย “เนื้อหาในประเทศ” อีกทั้งยังเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในด้านการทำธุรกิจให้กับประเทศนั้นๆ รวมถึงบริษัทข้ามชาติ จะไม่สามารถให้บริการ ที่เป็นระบบการทำงานภายในองค์กรได้ เช่น ระบบเงินเดือน

ทุกวันนี้ กฎระเบียบในเรื่องของ Data Residency ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในหลายประเทศ และประเทศไทยควรจะเร่งกำหนดมาตรการที่ชัดเจนในเรื่องนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำเทคโนโลยีคลาวด์ไปใช้ได้อย่างสะดวก ก็เพราะคลาวด์ เป็นเทคโนโลยีพื้นฐานที่เป็นดั่งกุญแจที่สำคัญที่ช่วยปลดล็อกให้โลกธุรกิจเข้าสู่โหมดแห่งโลกดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบนั่นเอง