ปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร

ปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร

ปัญหาเรื่องการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรของเด็กและเยาวชนไทยเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะมีรายงานจากองค์กรระหว่างประเทศว่า

 ประเทศไทยมีอัตราการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรอยู่ในระดับที่สูงมากของโลก ใกล้เคียงกับจำนวนอุบัติเหตุบนท้องถนนที่สูงเป็นอันดับสองของโลก และแม้ประเทศไทยได้มีการรณรงค์เรื่องนี้มาช้านานนับสิบๆปี แต่ปัญหานี้ก็ยังไม่หมดไป

แม้ไม่ได้เป็นแพทย์หรือบุคลากรทางสาธารณสุข แต่มีโอกาสได้รับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดกับหลายท่านที่ทำงานเกี่ยวข้องกับปัญหานี้โดยตรง และเมื่อมีโอกาสร่วมประชุมในคณะกรรมาธิการสาธารณสุข ก็ทำให้ได้รับข้อมูลที่เป็นทางการ เมื่อผนวกกับข้อมูลที่ไม่เป็นทางการจากผู้ที่มีประสบการณ์ตรงที่ทำงานด่านหน้า ต้องรับหน้ากับผู้มีปัญหาการตั้งครรภ์ ก็ยิ่งทำให้ได้รับข้อมูลที่มีความรอบด้านมากขึ้น

ต้องขอบคุณสองแพทย์ ท่านหนึ่งคือนายแพทย์อมร แก้วใส อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนหลายแห่งที่มีความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหานี้ และอีกท่านหนึ่งคือแพทย์หญิงพูลทรัพย์ แพทย์ครอบครัวจากโรงพยาบาลนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ แพทย์ปิยมิตร ที่ให้ข้อมูลจากประสบการณ์ตรงเข้ามาเรื่อยๆ

ครั้งหนึ่ง แพทย์หญิงพูลทรัพย์ ได้แสดงความเห็นที่น่าสนใจว่า เด็กทุกคน เริ่มตั้งแต่ในครรภ์ ต้นทุน การดูแลที่ต่างกัน สารอาหารที่ต่างกัน ล้วนมีผลต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก ยิ่งถ้าเด็กคลอดผิดปกติ หรือคลอดก่อนกำหนด หรือมีการขาดออกซิเจนตั้งแต่ในท้อง และ/หรือขณะคลอด มีโอกาสที่เด็กคนนั้นจะมีพัฒนาการช้า ต่อมาเมื่อคลอดจากพ่อแม่ที่ไม่มีความพร้อม ทั้งกายใจ และปัจจัย ความรู้ในการดูแล เลี้ยงดูเด็ก การปลูกฝังระเบียบวินัย ความขยัน รับผิตชอบ ปัญหาการการเงิน ครอบครัวการขาดความรักความอบอุ่น ล้วนมีผล”

ปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร

ที่กำลังพูดกันนี่เป็นเรื่องของเด็กและเยาวชนที่ยังอยู่ในวัยเรียนเป็นหลัก ส่วนการตั้งครรภ์เพราะถูกข่มขืน ถูกหลอกลวง หรือแม้กระทั่งการเข้าสู่อาชีพบริการทางเพศ เราคงต้องไปว่ากันอีกเรื่องหนึ่ง

นายแพทย์อมร ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ 2560-2569 ตาม พรบ. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ที่มี 5 ยุทธศาสตร์คือเรียนรู้ ครอบครัวชุมชน ระบบบริการสุขภาพทางเพศ ช่วยเหลือคุ้มครองสิทธิ และบูรณาการฐานข้อมูล ซึ่งแสดงถึงความจริงจังของรัฐบาลที่ต้องการแก้ปัญหานี้

แต่ก็ยังมองไม่ออกว่าจะแก้ได้หรือไม่ เพราะปัญหาของเราอย่างหนึ่งคือเรามีความเป็นเสรี แต่ไม่ค่อยมีวินัย

ก่อนอื่นขอตั้งคำถามว่าการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรนี้ เป็นปัญหาทั้งหมดจริงหรือไม่ ?

เหตุผลก็เพราะว่า ถ้าเอาช่วงเวลาการตั้งครรภ์เป็นตัวตั้งแล้วเหมารวมว่าจะเป็นปัญหาทั้งหมดนั้น ก็อาจไม่ใช่

เพราะเด็กสาวที่ตั้งครรภ์ในช่วงวัยนั้นอาจไม่มีปัญหาก็ได้ ถ้าครอบครัวเธอและฝ่ายชายมีความพร้อมพอสมควร อย่างที่แพทย์หญิงพูลทรัพย์ได้แสดงความเห็นในตอนท้ายว่า เมื่อคลอดจากพ่อแม่ที่ไม่มีความพร้อม ทั้งกายใจ และปัจจัย ความรู้ในการดูแล เลี้ยงดูเด็ก การปลูกฝังระเบียบวินัย ความขยัน รับผิตชอบ ปัญหาการการเงิน ครอบครัวการขาดความรักความอบอุ่น ล้วนมีผล

ในอีกความหมายหนึ่งก็คือ ถ้าพ่อแม่ ครอบครัว มีความพร้อม แม้ว่าจะเป็นการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ก็อาจจะไม่มีปัญหาก็ได้ ที่เป็นปัญหาก็เพราะเรื่องเหล่านี้ก่อตัวจากการปล่อยปละละเลยทั้งจากครอบครัวและสังคมโดยรอบ เด็กและเยาวชนทั้งหญิงและชายจำนวนมากมองไม่เห็นปัญหาที่จะเกิดขึ้น

จึงดูเหมือนว่าสิ่งที่อยู่ในวังวนที่พูดกันหลายวงหลายกระทรวงนั้นเป็นการตอกย้ำว่าเรายังแก้ปัญหาไม่ถูกจุด เพราะถ้ามันไม่เกิดผล ก็แสดงว่าเรายังแก้ไม่ตรงจุด ไม่ต้องไปคิดอย่างอื่น

ถ้าเราไม่เริ่มที่กฎระเบียบห้ามโน่นห้ามนี่ เพื่อไม่ให้เกิดผลที่ไม่พึงประสงค์ แต่เรามาจัดปรับให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตระหนักในเรื่องความสะอาด ความมีระเบียบวินัย การใช้ชีวิตอย่างเหมาะสม และให้สันทนาการกีฬา ดนตรี ละคร แข่งขันอะไรอย่างอื่น ค่อยๆตะล่อมพวกเขาให้ใฝ่รู้ รวมถึงเพศศึกษาอย่างไม่เป็นทางการ อะไรพวกนี้ อาจทำให้พวกเขามองโลกในแง่ความก้าวหน้าของเขากับชีวิตในอนาคตที่ดีกว่าในวันข้างหน้าก็ได้ นั่นคือการก้าวข้ามเรื่องความต้องการทางเพศไป อย่างที่นักพฤติกรรมศาสตร์เรียกว่า การปรับพฤติกรรม หรือ Behavior Modification อย่างนี้จะดีกว่าหรือไม่

ส่วนเรื่องการใช้ชีวิตหลังตั้งครรภ์นั้น ก็คงต้องช่วยกันดูแล ทั้งบ้าน โรงเรียน ชุมชน และสิ่งยึดเหนี่ยว เพราะกฎหมายหรือระเบียบทั้งหลายนั้น บางทีก็ไม่สามารถบังคับอะไรได้ทุกอย่าง โดยเฉพาะจิตใจ

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากฎหมายไม่มีประโยชน์เสียเลย เพราะอย่างน้อยก็เป็นกรอบที่เป็นรูปธรรม

ต้องช่วยกันดูแล โดยเฉพาะเด็กที่เกิดมา ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ไม่ว่าจะเกิดตามความต้องการหรือไม่ต้องการ แต่พวกเขาก็จะเป็นอนาคตของชาติ ไม่ควรเพิกเฉยผู้ที่หลงผิดเดินพลาดว่าจะต้องเลวหรือชั่วร้ายตลอดไป เมื่อเขาโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นมีวุฒิภาวะมากขึ้น เขาอาจเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติได้ เรื่องของสังคม ไม่มีอะไรถูกหมดหรือผิดหมด และไม่ใช่เรื่องเฉพาะตัว

เรื่องการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร การตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม การตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจ การตั้งครรภ์โดยถูกข่มขืน เหล่านี้เป็นเรื่องของพฤติกรรมมนุษย์ในสังคมทั้งเป็นผู้กระทำหรือถูกกระทำ การให้ความรู้กับเด็กและเยาวชนทั้งหญิงและชายเป็นส่วนหนึ่ง และเห็นด้วยที่จะสอดแทรกในบทเรียนที่เกี่ยวข้อง แต่อีกส่วนหนึ่งคือความเกี่ยวข้องของผู้ใหญ่ที่พ้นสภาวะเด็กหรือเยาวชน เป็นเรื่องของสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เกิดพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนได้ง่ายด้วย

บางทีอาจต้องคิดว่า นอกเหนือจากการให้ความรู้แล้ว อาจต้องมีมาตรการทางสังคมอย่างอื่นประกอบเพื่อให้เกิดการปรามพฤติกรรมเช่นว่านั้น

การแก้ปัญหาเรื่องแบบนี้ ในทางจิตวิทยาสังคมมองว่าจะต้องมีสองมาตรการ มาตรการแรกคือจำกัดพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนจากเกณฑ์ทางสังคม และเมื่อมีมาตรการแรกแล้วจะต้องมีมาตรการที่สองในการตอบแทนที่พวกเขาปฏิบัติตนอยู่ในกรอบของสังคมที่ดีที่เป็นแรงจูงใจหรือให้กำลังใจในรูปแบบต่างๆ

มาตรการตอบแทนนี้ถือเป็นการปรับพฤติกรรมแบบถาวร นอกจากจะส่งเสริมให้พวกเขามีขวัญกำลังใจ และมั่นใจว่าได้เดินถูกทางแล้ว ยังช่วยไม่ให้หวนกลับไปไปมีพฤติกรรมที่ต่ำกว่าเกณฑ์อีก คล้ายๆกับผู้กระทำความผิดทางอาญา เมื่อได้รับโทษ ก็จะต้องมีมาตรการปรับพฤติกรรมเพื่อไม่ให้กลับไปกระทำความผิดอีกเมื่อพ้นโทษ เพราะถ้าไม่มีอย่างหลังนี้ เขาจะกลับไปเจอกับสภาพแวดล้อมเดิมๆ และในที่สุดก็กลับไปมีพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์อีกได้

ไม่ทราบว่าผู้ออกกฎหมายฉบับนี้ ได้คิดเรื่องพวกนี้บ้างหรือไม่