ปรากฎการณ์ ‘เจเคิร์ฟ’ บอนด์ยิลด์ต่ำกว่าดบ.นโยบาย

ปรากฎการณ์ ‘เจเคิร์ฟ’ บอนด์ยิลด์ต่ำกว่าดบ.นโยบาย

ปกติแล้ว “บอนด์ยิลด์” หรือ ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล “ระยะสั้น” รุ่นอายุต่ำกว่า 1 ปีลงมา จะให้ผลตอบแทนในระดับเดียวกับ “ดอกเบี้ยนโยบาย”

พูดง่ายๆ คือ หาก “บอนด์ยิลด์” ลดลง อาจบอกได้ว่า “นักลงทุน” กำลังมองอนาคต “ธนาคารกลาง” ผู้ทำหน้าที่กำหนดดอกเบี้ยนโยบาย อาจปรับลดดอกเบี้ยลง

ปรากฎการณ์ที่ว่านี้ เกิดขึ้นกับตลาดบอนด์ไทยมาร่วมครึ่งปีแล้ว กล่าวคือ บอนด์ยิลด์ ระยะสั้นปรับลดลงต่อเนื่อง โดยรุ่นอายุ 1 เดือน ลดลงจากระดับ 1.45-1.5% มาอยู่ที่ราวๆ 1.10-1.15% ต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบาย(1.5%) ราวๆ 0.35-0.4%

หากเป็นภาวะปกติ มีนัยะในเชิงว่า “ผู้ลงทุน” กำลังมองดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตมีโอกาสปรับลดลง 1-2 ครั้ง

..แต่เวลานี้หากถามความเห็นของนักลงทุนที่มีต่อทิศทางดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต กลับไม่มีรายใดคิดเลยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะปรับลดดอกเบี้ยลง ..กลายเป็นว่า “บอนด์ยิลด์” ระยะสั้นของไทย การเคลื่อนไหวไม่ได้อิงกับดอกเบี้ยนโยบายแล้ว

ปรากฎการณ์บอนด์ยิลด์ระยะสั้นที่ต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบาย.. ธปท. เรียกภาวะนี้ว่า “เจเคิร์ฟ”

อาจสงสัยกันว่า “ภาวะเจเคิร์ฟ” คือ อะไร? ..ลองนึกภาพตัว “เจ” โดยที่ส่วนหัว คือ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย แล้วไล่ไปตามอายุของบอนด์แต่ละรุ่น

จะเห็นว่า เวลานี้บอนด์ยิลด์รุ่นอายุตั้งแต่ 1 เดือนไปจนถึง 2 ปี ลดต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นส่วนหัวของรูปตัวเจ ถัดจากนั้น คือ รุ่นอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป จะเริ่มสูงกว่าดอกเบี้ยนโยบาย แล้วไล่ไปตามอายุ จนเป็นรูปตัวเจ

ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ “กระทรวงคลัง” ห่วงว่า สถาบันการเงินบางแห่ง อาจอาศัยช่องว่างของส่วนต่างดอกเบี้ย ทำ “อาบิถาจ” ด้วยการระดมทุนในตลาดบอนด์ที่มีดอกเบี้ยต่ำกว่า(1.1%) แล้วไปฝากไว้กับ ธปท. ซึ่งได้ดอกเบี้ยสูงกว่า(1.5%)

แต่ในฝั่งของ ธปท. มองว่า ถึงทำก็ไม่คุ้ม เพราะแบงก์พาณิชย์มีต้นทุนที่ต้องจ่ายอีกส่วน คือ ค่าธรรมเนียมบนฐานเงินฝาก 0.47% ซึ่งการระดมทุนผ่านตลาดบอนด์ก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมในส่วนนี้ด้วย จึงไม่มีใครคิดจะทำ

ผู้ว่าการธปท. “ดร.วิรไท สันติประภพ” บอกกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ภาวะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก ในอดีตก็มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง สาเหตุเพราะ “สินค้า” หรือ “ซัพพลาย” ในตลาดลดลง เมื่อเทียบกับ “ดีมานด์” ทำให้ราคาพันธบัตรเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อบอนด์ยิลด์ที่ลดลง

สำหรับซัพพลายที่ลดลง ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ ธปท. ลดวงเงินประมูลบอนด์ระยะสั้น รุ่นอายุ 3 เดือนและ 6 เดือนลง ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังได้งดการออกตั๋วเงินคลังระยะสั้น 28 วัน ในช่วงสิ้นปีงบประมาณ 2560 จึงทำให้ “ซัพพลาย” หรือ ปริมาณบอนด์ในตลาดลดลง

ดร.วิรไท เชื่อว่า สถานการณ์นี้จะค่อยๆ ดีขึ้น เมื่อเข้าสู่ปีงบประมาณใหม่ เพราะจะเริ่มมีซัพพลายในฝั่งของกระทรวงคลังออกมาเพิ่ม

แม้ ธปท. บอกว่า สถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นในระยะข้างหน้า แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตกันว่า “ภาวะเจเคิร์ฟ” อาจเกิดจากความตั้งใจของ ธปท. ที่ “ต้องการ” กดบอนด์ยิลด์ลง เพื่อลดแรงจูงใจเงินทุนไหลเข้ามาหาผลตอบแทนในตลาดบอนด์ โดยที่ ธปท. ไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยนโยบาย!