กฎหมายที่ควรแก้เพื่อคุ้มครองประชาชน

กฎหมายที่ควรแก้เพื่อคุ้มครองประชาชน

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ผมเองได้ห่างหายจากการเขียนบทความลงในคอลัมน์นี้มาเป็นเวลานาน เนื่องจากเขียนมาเกือบ 20 ปีแล้ว

เลยให้น้องๆ นักกฎหมายรุ่นใหม่เขียนแทนบ้าง ท่านผู้อ่านจะได้เห็นมุมมองใหม่ๆ แทนที่จะได้มุมมองเก่าๆ จากนักกฎหมายแก่ๆ น่ะครับ

วันนี้ผมได้อ่านหัวข่าวเกี่ยวกับเรื่องกองสุขาภิบาลอาหาร สำนักอนามัย กทม. สุ่มเก็บตัวอย่างซูชิ อาหารดิบประเภท ปลาดิบ หอยดิบ ปลาหมึกดิบ ฯลฯ จากร้านอาหารญี่ปุ่นใน กทม. พบร้านอาหารญี่ปุ่นติดเชื้อทางเดินอาหาร 4 ชนิด ทั้งสิ้น 11 แห่ง

ในฐานะผู้ที่ชื่นชอบอาหารประเภทซูชิ ผมรีบเข้าไปอ่านเนื้อข่าว หวังว่าจะได้เห็นรายชื่อร้านอาหารทั้ง 11 ร้านเพื่อผมจะได้หลีกเลี่ยงไม่เสี่ยงเข้าไปทาน ท่านผู้อ่านเชื่อไหมครับว่า เนื้อข่าวไม่ได้ให้รายชื่อร้านทั้ง 11 แห่งแต่อย่างใด!

ผมก็มีทางเลือกเพียงสองทางคือ หลับหูหลับตาทานซูชิร้านเดิมๆ ต่อไป เสี่ยงดวงเอาเอง หรือเลิกทานซูชิ!

ผมลองตรวจสอบข่าวทำนองนี้ก็พบว่า หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพสินค้าหรือบริการมีอยู่หลายหน่วยด้วยกันและแต่ละหน่วยไม่เคยเปิดเผยชื่อผู้ประกอบการ หรือยี่ห้อสินค้าเลย เช่น

- 1 กุมภาพันธ์ 2560 กรมการขนส่งทางบกตรวจพบรถโดยสารสาธารณะไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนดไว้เกือบ 7,000 คัน

- 31 มีนาคม 2560 กทม. รายงานต่อ สตง. ว่าโรงภาพยนตร์จำนวน 330 โรงใน กทม. ล้วนมีข้อบกพร่อง ไม่เป็นไปตามกฎหมายควบคุมอาคารในเรื่องความปลอดภัย

 - 21 เมษายน 2560 สำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมตรวจสอบพบผลิตภัณฑ์เหล็กในเขตพื้นที่ภาคเหนือ พบไม่มีหรือไม่แสดงเครื่องหมาย มอก. 4 ราย

- 10 พฤษภาคม 2560 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคลงพื้นที่สำรวจและเก็บตัวอย่างชุดนักเรียนพบสาวนใหญ่ไม่ได้มาตรฐานความคงทนของเนื้อผ้า

- 20 มิถุนายน 2560 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เผยผลตรวจน้ำผึ้งสีเขียว พบมีคุณภาพไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานทั้ง 3 ตัวอย่าง

- 6 ตุลาคม 2559 กรมการค้าภายในพบตาชั่งในตลาดสดไม่ได้มาตรฐาน

- 7 ตุลาคม 2559 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจพบน้ำปลาแท้ไม่ได้มาตรฐานร้อยละ 27.6 น้ำปลาผสมไม่ได้มาตรฐานร้อยละ 46.06

- 14 ตุลาคม 2558 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจพบน้ำและน้ำแข็งทั่วประเทศ พบไม่ได้มาตรฐานเกือบครึ่งและมีเชื้อโรคปนเปื้อนจำนวนมาก

- 10 พฤษภาคม 2556 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจพบน้ำปลาทั่วประเทศส่วนใหญ่ไม่ได้มาตรฐาน

ตัวอย่างแค่นี้พอนะครับ พอที่จะพิสูจน์ว่า

  1. เรามีหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพสินค้า บริการหลายหน่วยงาน
  2. หน่วยงานที่ทำการตรวจสอบไม่เปิดเผยชื่อผู้ผลิต ผู้ให้บริการ หรือยี่ห้อสินค้า
  3. ผู้บริโภคอย่างเราๆ ไม่ได้ประโยชน์จากการตรวจสอบเหล่านั้นโดยตรงและทันท่วงที

ผมยังไม่มีโอกาสเข้าไปตรวจสอบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่าเหตุใดหน่วยงานตรวจสอบจึงไม่ให้รายละเอียดกับผู้บริโภคมากเพียงพอที่จะใช้ความระมัดระวังในการเลือกสินค้าและบริการ แต่ค่อนข้างแน่ใจเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ว่าเพราะกังวลว่าหากเปิดเผยชื่อผู้ผลิตหรือยี่ห้อสินค้า หน่วยงานนั้นๆ รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องจะมีความเสี่ยงที่จะถูกผู้ผลิตสินค้าหรือผู้ให้บริการฟ้องคดีให้รับผิดทางกฎหมาย เช่น ฟ้องคดีละเมิดหรือคดีปกครอง

เพื่อเป็นการคุ้มครองทั้งหน่วยงานตรวจสอบและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ผมจึงเสนอให้มีการแก้กฎหมายแต่ละฉบับที่เกี่ยวข้องหรือออกประกาศ คสช. ให้ความคุ้มครองโดยเลียนแบบมาตรา 279 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันดังนี้

“ให้บรรดาประกาศ คำสั่ง และการกระทำของ .....ชื่อหน่วยงาน..... ตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศ คำสั่งนั้นเป็นประกาศ คำสั่ง การกระทำหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย”

ผมหวังว่าหากทำได้ดังนี้ หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพสินค้าและบริการจะสามารถอำนวยความคุ้มครองให้ผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น

แล้วพบกันใหม่น่ะครับ

 /////////

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่     

โดย .... ดำเนิน ทรัพย์ไพศาล

บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด

[email protected]