MicroWorlds Pro โปรแกรมสร้างมนุษย์ที่สมบูรณ์

MicroWorlds Pro  โปรแกรมสร้างมนุษย์ที่สมบูรณ์

เรื่องที่ดิฉันอยากนำมาเล่าเป็นเรื่องจากประสบการณ์จริงของพนักงานสถาบันศศินทร์ที่ได้ผ่านการอบรมหลักสูตร MicroWorlds Pro

ที่คุณพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ผู้อำนวยการคนใหม่ของศศินทร์นำเข้ามาในสถาบัน จุดประสงค์ของการเล่าเรื่องนี้ไม่ต้องการโฆษณาประชาสัมพันธ์ศศินทร์หรือผอ.ศศินทร์แต่อย่างใด หากแต่ดิฉันอยากแบ่งปันประสบการณ์ดีๆ ที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรอื่นๆที่มีปัญหาพนักงานสื่อสารกันไม่ค่อยเข้าใจ ไม่ทำงานเป็นทีม ต่างคนต่างทำงานง่วนแต่เรื่องของตน ไม่ค่อยจะประสานงานส่งเสริมกันเท่าที่ควร ขาดความคิดสร้างสรรค์ ทำงานไม่เป็นระบบและขาดทักษะในการแก้ปัญหา...ฟังดูปัญหาเยอะแยะไปหมดใช่ไหมคะ

เข้าใจว่าหลายองค์กรมีปัญหาดังที่กล่าวมากันแทบทั้งสิ้นไม่มากก็น้อย ซึ่งส่วนใหญ่ก็พยายามแก้ปัญหาด้วยการฝึกอบรมกัน เช่น ฝึกอบรมเรื่องการสื่อสาร การทำงานเป็นทีม การแก้ปัญหา เป็นต้น ซึ่งการฝึกอบรมเหล่านั้นก็ได้ผลสัมฤทธิ์มากน้อยตามความสามารถของวิทยากรและความตั้งใจจริงของผู้เข้ารับการอบรม ในฐานะเป็นนักวิชาการและเป็นวิทยากรผู้ฝึกอบรมมากว่ายี่สิบปี – ดิฉันมีความเห็นว่าหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์คช้อป) MicroWorlds Pro นี้เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่มีประสิทธิภาพสูงในการพัฒนาบุคลากรในหลายๆด้านดังจะได้เล่าสู่กันฟังต่อไป

ก่อนอื่นขอแนะนำให้รู้จักกับโปรแกรม MicroWorlds Pro ก่อน ซึ่งก็คือโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อสร้างภาพที่เป็นกราฟฟิกในการวาดรูปและระบายสีรูป โปรแกรมนี้ใช้ภาษา “โลโก” (logo=สัญลักษณ์) โดยมีสัญลักษณ์เต่าที่เรียกว่า “เต่าโลโก” เป็นเครื่องมือในการสร้างภาพต่างๆ ผู้คิดค้นสร้างโปรแกรมนี้ขึ้นมาก็คือ ศาสตราจารย์ซีมัวร์ เพเพิร์ต (Seymour Papert) แห่งมีเดีย แล็บ (Media Lab) สถาบันเทคโนโลยีแมสซาซูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology)

เพเพิร์ตต้องการให้โปรแกรมนี้เป็นเครื่องมือส่งเสริมการเรียนรู้ของเยาวชนที่ใช้ง่าย กระตุ้นส่งเสริมให้ผู้เรียนต้องใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ออกแบบ ผู้เรียนสามารถสร้างภาพกราฟฟิกที่สะท้อนถึงความคิดและความรู้สึกส่วนลึกภายในจิตใจของเขาออกมา โดยในระหว่างกระบวนการสร้างภาพกราฟฟิก ผู้เรียนจะผ่านขั้นตอนการทำงานที่มีครูเป็นผู้ทำหน้าที่เพียงแนะแนวทาง (Facilitator) แต่มิได้สอน (teach) หรือสั่งให้ผู้เรียนสร้างภาพนั้นสร้างภาพนี้ ผู้เรียนมีอิสระในการเลือกสร้างภาพตามใจปรารถนา โปรแกรมนี้สร้างมาจากพื้นฐานความคิด “Constructionism” (ทฤษฏีการเรียนรู้ด้วยตนเอง) ซึ่งถือกำเนิดจากแนวคิดของ ฌอง เปียเจต์ (Jean Piaget) นักจิตวิทยาชาวสวิส ผู้มีชื่อเสียงที่ทำการศึกษาพัฒนาการทางปัญญาของเด็ก จากนั้นศาสตราจารย์ซีมัวร์ เพเพิร์ตได้มาศึกษาพัฒนาต่อยอดขึ้นไปอีก ทั้งนี้พื้นฐานของแนวคิดที่ท่านนำมาใช้ในการประดิษฐ์โปรแกรม MicroWorlds Pro เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ก็คือ หากผู้เรียนมีโอกาสได้สร้างความคิดและนำความคิดของตนเองไปสร้างสรรค์ชิ้นงานโดยอาศัยสื่อและเทคโนโลยีที่เหมาะสม จะทำให้ผู้เรียนเห็นความคิดนั้นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน และเท่ากับเขาได้สร้างความรู้ขึ้นมาด้วยตนเอง ซึ่งการที่เขาสร้างความรู้ขึ้นมาได้ด้วยตนเองจะทำให้เขาจดจำมันได้ ไม่ลืมง่ายๆ

 อันที่จริงแล้วก่อนที่คุณพารณจะนำหลักสูตร MicroWorlds Pro มาฝึกอบรมพนักงานที่ศศินทร์ ท่านได้ใช้หลักสูตรนี้ฝึกอบรมนักเรียนที่ รร.ดรุณสิกขาลัย อบรมผู้จัดการและพนักงานของกลุ่มปูนซิเมนต์ไทย เบทาโกร ฯลฯ มาแล้ว ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ล้วนน่าพึงพอใจ ท่านจึงมั่นใจและยืนยันว่าพนักงานของศศินทร์ควรได้รับการอบรมนี้เช่นกัน

โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา 5 วันเต็มๆ ชาวศศินทร์ประมาณ 20 กว่าคนได้เข้าเวิร์คช้อป MicroWorlds Pro เป็นรุ่นแรก ซึ่งผู้เข้าอบรมเป็นเจ้าหน้าที่จากแผนกงานต่างๆ หลายคนไม่เคยร่วมทำงานกันมาก่อนแบบแทบจะไม่เคยพูดกันเลย เมื่อเริ่มการฝึกอบรม วิทยากรเล่าให้ฟังว่าท่านเคยเป็นศึกษานิเทศก์มีหน้าที่ให้คำแนะนำครูบาอาจารย์ตามโรงเรียนต่างๆ ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ทำงานท่านบอกว่าท่านใช้วิธีสั่งสอนครูทั้งหลายในเรื่องการเตรียมการสอนและการทำงานในโครงการต่างๆ โดยมิได้เปิดโอกาสให้ครูได้ใช้ความคิดริเริ่มของตนเอง ไม่ให้ครูคิดต่างไปจากตัวเอง ต่อมาภายหลังเมื่อได้ศึกษาแนวทาง Constructionism จึงได้ตระหนักว่าสิ่งที่ตนเองเคยคิดและปฏิบัติเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เป็นการปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของบรรดาครูทั้งหลาย ท่านจึงได้เปลี่ยนวิธีการทำงานด้วยการรับฟังความคิดเห็นของครูและเปิดโอกาสให้ครูได้ทดลองทำงานตามความคิดของตน ผลที่ได้รับมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม กล่าวคือมีผลงานที่สร้างสรรค์หลากหลายมากขึ้น ครูมีความเพลิดเพลินสนุกสนานกับการทำงานมากขึ้น และความสัมพันธ์ระหว่างตัวท่านกับครูก็มีความสนิทสนมมากขึ้น ตอนที่วิทยากรเล่าประสบการณ์ชีวิตของท่านให้ผู้เข้ารับการอบรมจากศศินทร์ฟัง ทุกคนรับฟังเงียบๆ ไม่ทราบว่าในใจแต่ละคนคิดอย่างไร

ตลอดระยะเวลา 2 วันแรกของการอบรม ดิฉันสังเกตเห็นว่าพนักงานที่เข้าอบรมรู้สึกมีความเครียดอยู่บ้าง สอบถามดูพวกเขาตอบว่ารู้สึกงงๆ ยังจับทางไม่ถูกว่าหัวข้อที่อบรมนี้จะนำไปใช้ประโยชน์อย่างไรกับงานในหน้าที่ของตน พอล่วงเข้าวันที่ 3 และ 4 ผู้เข้าอบรมรู้สึกชัดเจนขึ้นกับสิ่งที่เขาได้เรียนรู้ ทั้งนี้ความกดดันและความเครียดได้ย้ายไปอยู่กับโครงการออกแบบภาพเคลื่อนไหวที่ทุกคนต้องนำเสนอพร้อมเรื่องราวที่ตนเองต้องสร้างสรรค์ขึ้นมาแทน นอกจากนั้นพวกเขายังต้องสรุปบทเรียนที่ได้รับจากการเข้าฝึกอบรม

พอถึงวันที่ 5 ของการฝึกอบรม ทุกคนได้นำเสนอผลงานของแต่ละคน ซึ่งเมื่อดิฉันได้ไปรับฟังการนำเสนอและได้เห็นผลงานการทำภาพกราฟฟิกของพนักงานหลายคนที่ไม่ได้มีพื้นฐานการใช้คอมพิวเตอร์มากมายนักก็รู้สึกประทับใจมาก การนำเสนอของพวกเขาทำให้ตระหนักว่าเวิร์คช้อป MicroWorlds Pro นี้ได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงทัศนะคติซึ่งเป็นรากเหง้าแห่งเหตุของการประพฤติปฏิบัติในการทำงานของพวกเขาจริงๆ ไม่ว่าผู้เข้าอบรมจะมีพื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์มากหรือน้อยเพียงใดไม่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ เพราะคนทั้งสองชนิดล้วนมีอาการ “ขาดสติ” ทำให้เกิดความผิดพลาดในการทำงานได้เสมอ ไม่สามารถหยิ่งผยองว่าไม่ต้องพึ่งพาใครได้เลย

จากการนำเสนอผลงานและบทเรียนที่ได้รับของพนักงานสะท้อนให้เห็นว่าประสบการณ์จากการลงมือทำงานจริงของเขาแสดงให้เห็นว่าปัญหาและข้อผิดพลาดตลอดจนความล่าช้าในการทำโครงงานของเขาเกิดจากการทำงานที่ไม่มีการวางแผน ขาดสติหลงลืม บางคนยอมรับว่าตนเองมีอัตตาถือตัวตนไม่ชอบขอความช่วยเหลือและคำแนะนำจากผู้อื่น อยากทำงานด้วยตนเอง เกือบทั้งหมดของผู้เข้าอบรมกล่าวว่าไม่นึกว่าเพื่อนร่วมงานของตนจะมีน้ำใจช่วยเหลือกันและกันมากเช่นนี้ ประมาณว่าถ้ารู้ว่าเพื่อนมีน้ำใจอย่างนี้ คงขอความช่วยเหลือไปนานแล้ว

การฝึกอบรมนี้จึงช่วยปรับทัศนะคติและพัฒนาพนักงานแต่ละคนให้มีสติ มีความตระหนักในข้อดีข้อด้อยของตนเอง รู้จักเปิดใจรับฟังคนอื่นมากขึ้นและมีความรู้สึกที่ดีต่อกันฉันกัลยาณมิตรดังที่คุณพารณท่านสรุปโดยใช้คำว่า “ทำให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์” ที่พยายามเอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักสื่อสารและทำงานกับผู้อื่นอย่างให้เกียรติต่อกันและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

น่าจะเพียงพอที่จะกล่าวว่าชีวิตการทำงานในองค์กร เรื่องของทักษะในการทำงานร่วมกับคน (soft skills) สำคัญไม่น้อยกว่าหรืออาจจะยิ่งกว่าความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง (know how) เสียอีก