ดัชนี 1900 ความแตกต่างในความเหมือน

ดัชนี 1900 ความแตกต่างในความเหมือน

ดัชนี 1900 ความแตกต่างในความเหมือน

หลายคนอาจถามว่าเราจะรู้เป้าหมาย SET Index ไปทำไม? ทั้งที่จริงๆ เราใช้เป้าดังกล่าวทำเงินได้ไม่ง่ายนัก แต่อย่าลืมว่าการรู้แนวโน้มในภาพใหญ่ก็ช่วยให้เรามั่นใจได้ว่าหุ้นที่เราลงทุน (ถ้าไม่เลือกตัวที่ห่วยเกินไป) อย่างน้อยก็น่าจะอยู่ในทิศทางขาขึ้นไปพร้อมกับตลาด ความมั่นใจช่วยให้เราลงทุนได้ยาว และมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าการเล่นสั้นๆ

เมื่อ 2 ปีก่อน บล.ไทยพาณิชย์ เคยมองว่า SET Index ควรจะไปที่ 1800 จุดได้ไม่ยาก ภายใต้สมมติฐานว่าเศรษฐกิจโลกและไทยฟื้นตัว ตราสารหนี้ไม่น่าสนใจ เม็ดเงินน่าจะไหลมาลงในตลาดหุ้น ซึ่งสมมติฐานที่เรามองไว้เป็นจริงเกือบทุกตัว แต่สิ่งที่ทำให้ SET Index ไม่ไปถึงเป้า 1800 เพราะกำไรต่อหุ้น (Earnings per Share หรือ EPS) ถูกกดดันให้ร่วงลงอย่างแรงตามราคาน้ำมันโลก กดดัน Energy Sector ซึ่งเป็นหุ้นกลุ่มใหญ่ของ SET Index ให้ปรับตัวลง ประกอบกับยังมีเรื่องหนี้เน่าภาคธนาคาร และราคาประมูลคลื่นความถี่มือถือที่สูงกว่าที่ตลาดคาดกดดันอีก 2 Sector ใหญ่ให้ร่วงตามไปด้วย ซึ่งเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน เราก็จำเป็นต้องเลื่อนเป้า 1800 ออกไปเพื่อรอให้อัตรากำไรต่อหุ้นของบริษัทฟื้นตัวกลับมา ซึ่งเราเชื่อมั่นอย่างมากว่าในที่สุดกำไรต่อหุ้นของ บจ. จะต้องฟื้นกลับขึ้นมาได้ เพราะเรื่องประมูลคลื่นความถี่ และเรื่องราคาน้ำมันร่วง ล้วนเป็นปัจจัยชั่วคราว มันไม่ได้ประมูลกันทุกปีและราคาน้ำมันก็ร่วงไปตลอดไม่ได้ วันหนึ่งต้องหยุดร่วง (หรือเริ่มฟื้นได้) บรรดาผลกระทบชั่วคราวอย่าง stock loss จากการตีมูลค่าน้ำมันคงคลังตามราคาตลาดย่อมหมดไป EPS โดยรวมของตลาดก็จะฟื้น และเป็นปัจจัยพื้นฐานดันดัชนีให้ปรับสูงขึ้นอย่างแน่นอน

มาถึงวันนี้ หลายคนเริ่มพูดถึง SET Index ณ จุดสูงสุดเดิมในปี 2537 (ปิดสูงสุดที่ 1753.73 ในวันที่ 4 มกราคม และทำ intraday high ที่ 1789.16 ในวันที่ 5 มกราคม) และเริ่มมอง SET Index ปี 2561 ข้าม 1800 จุดไปยัง 1900 จุดเลย (บล. ไทยพาณิชย์ ก็มองว่าน่าจะทะลุ 1900 จุดได้เช่นกัน) คำถามคือเป้าหมายดังกล่าวสูงเกินไปหรือไม่

หากจะดูว่าแพงหรือไม่แพงก็ต้องย้อนกลับมาที่พื้นฐานแนวโน้มกำไรบริษัทจดทะเบียนว่าจะเติบโตได้แค่ไหนเพราะเอาจริงๆ แล้วดัชนีที่ 1900 จุดนั้นก็แค่ขึ้นเพียง 12% จากดัชนีสิ้นปี 2560 (คาดว่าจะอยู่ที่ราว 1700 จุด) นั่นหมายความว่าหากกำไรของบริษัทจดทะเบียนปรับตัวขึ้นได้ราว 10% ก็แทบจะเรียกได้ว่าหุ้นไม่ได้แพงขึ้นเลยเมื่อวัดจากอัตราส่วน PE ratio (เพราะทั้งprice และearnings มันปรับขึ้นใกล้เคียงกัน) ซึ่งหากเศรษฐกิจเติบโตได้ราว 4-6% (คิดจาก Real GDP โตราว 3-4% + ราคาขายสินค้าปรับขึ้นปีละ 1-2%) บริษัทจดทะเบียนที่มักเติบโตได้ดีกว่าเศรษฐกิจทั่วไปก็น่าจะเห็นกำไรโต 10% ได้ไม่ยาก

ในทางตัวเลขเทียบวันนี้กับปี 2537 มีความเหมือนที่แตกต่างแม้จะเข้าใกล้ 1800 จุดเหมือนกัน แต่ปัจจัยพื้นฐานต่างกันมาก EPS ของ SET Index ในปี 2537 อยู่ที่เพียง 60 จุดหรือแปลว่า PE ratio ในปีนั้นอยู่ที่เกือบ 30X แต่วันนี้ EPS ของตลาดอยู่ที่เกือบ 100 จุดซึ่งแปลว่าที่เป้าดัชนี 1800-1900 คิดเป็น PE ratio เพียง 18-19X เท่านั้น นอกจากนี้ ปัจจัยเรื่องอัตราดอกเบี้ยก็แตกต่างกัน โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากปี 2537 นั้นสูงกว่า 10% เทียบกับวันนี้ที่อัตราดอกเบี้ยอยู่เพียง 1% ซึ่งปกติดอกเบี้ยยิ่งต่ำหุ้นยิ่งมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นจากต้นทุนการเงินที่ถูก ทำให้หุ้นมีความน่าสนใจมากขึ้นโดยเปรียบเทียบกับพันธบัตรหรือเงินฝาก

ดังนั้น ตลาดหุ้นที่วิ่งขึ้นมาครั้งนี้ จึงเป็นการสะท้อนปัจจัยการเติบโตของเศรษฐกิจและกำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งดีกว่าก่อนมาก ภาวะฟองสบู่ก็ไม่มี วิกฤติก็ยังไม่น่าเกิด หากจะมีความผันผวนในระยะสั้นก็น่าจะเป็นการลงเพื่อขึ้นต่อโดยหุ้นแนะนำสำหรับไตรมาส 4/60 นั้นแนะนำหุ้นอิงเศรษฐกิจพื้นฐานและ growth story ของประเทศ อย่างกลุ่มค้าปลีก (CPALL, ROBINS, GLOBAL) ที่จะเติบโตตามการบริโภคในประเทศและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวและกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม (AMATA, WHA) ที่อิงกับวัฏจักรขาขึ้นของการลงทุนเอกชน จาก FDI ที่น่าจะปรับตัวขึ้นหลักจากการประกาศกฎหมายพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ Eastern Economic Corridor ที่น่าจะเกิดขึ้นในปีนี้หรือต้นปีหน้า ตลอดจนหุ้นที่มีแนวโน้มดีจากปัจจัยเฉพาะตัวและอิงกับเศรษฐกิจในประเทศอย่าง ADVANC และ WORK.