4 เหตุผล กนง. น่าจะคงดอกเบี้ยตลอดปีนี้

4 เหตุผล กนง. น่าจะคงดอกเบี้ยตลอดปีนี้

4 เหตุผล กนง. น่าจะคงดอกเบี้ยตลอดปีนี้

วันพรุ่งนี้ (27 ก.ย.) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็จะมีการประชุมหารือเพื่อประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจการเงินและร่วมกันพิจารณากำหนดนโยบายการเงินของประเทศนะครับ และครั้งนี้ก็เป็นครั้งที่ 6 ของปีนี้แล้ว

เพื่อความเข้าใจมากขึ้นนะครับ ขอเริ่มด้วยเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยกันก่อน

คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. เป็น 1 ในคณะกรรมการหลักของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยจะรับผิดชอบด้านการกำหนดทิศทางนโยบายการเงิน (Monetary Policy) ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของ ธปท. เพื่อติดตามภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ

คณะกรรมการนโยบายการเงิน ประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. 3 คน และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก 4 คน รวมทั้งหมด 7 ท่านด้วยกัน

โดยคณะกรรมการจะกำหนดการประชุมไว้ล่วงหน้าทุกๆ 6 สัปดาห์ หรือ ปีละ 8 ครั้งนั้นเอง

ผลการประชุมของ กนง. จะเป็นตัวกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินประเทศ กำหนดทิศทาง และมาตรการที่จำเป็น เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย ด้วยเหตุผลนี้ การประชุม กนง. จึงมีความสำคัญต่อการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจ และนำมาพิจารณากลยุทธ์การลงทุนต่อไปนะครับ

ในการประชุมรอบนี้ ถือเป็นการประชุมครั้งที่มีการพูดถึงมากที่สุดครั้งหนึ่งในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เพราะเป็นการประชุมในช่วงที่ ค่าเงินบาท แข็งค่า เมื่อเทียบกับสกุลหลักอย่างดอลล่าร์สหรัฐฯ มาแล้วมากกว่า 7.70% ทำให้ท่านรัฐมนตรีอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาให้สัมภาษณ์ในทำนองว่า ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่ากว่าประเทศเพื่อนบ้านและคู่แข่งค่อนข้างมาก ซึ่งรู้สึกเป็นห่วง เพราะไม่อยากให้ค่าเงินไทยสูงกว่าคู่แข่ง เนื่องจากแข่งขันลำบาก

ขณะที่ปลัดกระทรวงการคลัง นายสมชัย สัจจพงษ์ ก็มีมุมมองว่า ถ้าไปดูดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ระดับ 1.5% ต่อปีนั้นยังสูงกว่าเพื่อนบ้าน ดังนั้น อยากขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นการลงทุนและการบริโภคในประเทศ

นี่จึงเป็นแรงกดดันทางอ้อมต่อ กนง. ในการประชุมที่จะเกิดขึ้นวันที่ 27 ก.ย. ที่จะถึงนี้

ซึ่งในความเห็นของผมนั้น เชื่อว่า ณ เวลานี้ ยังไม่ใช่เวลาปรับลดดอกเบี้ยที่ถูกจังหวะ ด้วย 4 เหตุผลด้วยกันครับ

1.หลังการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ผ่านมา ผลการประชุม สะท้อนว่า เฟดยังน่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 1 ครั้งในปีนี้ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า น่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีกทีในเดือน ธ.ค. ซึ่งหากเฟดพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยจริง ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ก็จะแคบลง และเป็นตัวชะลอการไหลเข้าของเงินลงทุนได้ส่วนหนึ่งอยู่แล้ว ดังนั้น เชื่อว่า ไทยเรา ควรรอประเมินสถานการณ์หลังจากที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง แล้วค่อยตัดสินใจ ก็น่าจะยังทัน

2.ต่อความเห็นที่ว่า ค่าเงินบาทแข็งค่ามากกว่าที่ประเทศเพื่อนบ้านเราแข็งค่านั้น เมื่อไปเทียบกับ ค่าเงินรูเปีย แข็งค่ามา 1.08% และ ค่าเงินเปโซ ของฟิลิปปินส์อ่อนค่ามา 2.24% หรือ ค่าเงินริงกิต ของมาเลเซีย ที่แข็งมาแล้ว 6.41% ก็จะพบว่า ในกลุ่ม TIP (Thailand, Indonesia, Philippines) เงินบาทเราแข็งค่ามากกว่าจริงๆ แต่เมื่อเทียบกับค่าเงินริงกิต แล้วก็ถือว่าใกล้เคียงกัน ยิ่งถ้าไปเปรียบเทียบกับค่าเงินวอน เกาหลีใต้ และดอลล่าร์ไต้หวัน ที่แข็งค่าจากต้นปีมา 6.22%, 6.94% แล้วก็จะเห็นว่าแข็งค่าใกล้เคียงกัน แต่ยอมรับนะครับว่า เราแข้งมากที่สุดจริง สิ่งนี้สะท้อนว่า การแข็งค่าที่เกิดขึ้น เป็นปัจจัยมหภาค มากกว่าจะเป็นปัจจัยเฉพาะที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยเท่านั้นครับ เราจึงไม่ควรใช้นโยบายการเงินในการต่อสู้กับ Fund Flow ที่ไหลบ่าเข้ามาในเอเชีย ณ ตอนนี้ เพราะสู้ไป ก็อาจสู้ไม่ไหวอยู่ดี

3.ตัวเลขส่งออก เดือน ส.ค. ที่ผ่านมา โตแรงที่สุดในรอบ 55 เดือน โดยโตที่ 13.2%YOY เมื่อเข้าไปดูในรายละเอียดจะพบว่า เป็นการเติบโตได้ดีในเกือบทุกกลุ่มสินค้า จะยกเว้นก็มีการส่งออกรถยนต์ และส่วนประกอบ ที่ส่งไปยังตลาดเอเชียตะวันออกกลงา และออสเตรเลียที่ยังหดตัวลง ซึ่งก็พอจะอธิบายได้จาก ราคาน้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ประเทศแทบนั้น ชะลอการบริโภคลง และเชื่อว่า หลังเลือกตั้งที่เยอรมัน ความกังวลด้านการเมืองในยุโรปน่าจะลดลง ทำให้มียอดสั่งซื้อจากทางยุโรปเข้ามาอีกทาง สิ่งนี้ก็พอจะตีความได้ว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าในช่วงนี้ ไม่ได้กระทบกับภาคการส่งออกอย่างมีนัยยะ

4.ตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย GDP Growth ไตรมาส 2/2560 ที่ผ่านมา ที่โต 3.7%YOY ก็เป็นอีกตัวหนึ่งที่สะท้อนว่า เศรษฐกิจอาจผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยดีขึ้น และภาคอุตสาหกรรมและการค้าโลกก็ยังคงขยายตัวได้ในระดับที่ดีอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ดูเหมือนระดับดอกเบี้ยนโยบาย ณ ตอนนี้ ก็น่าจะเหมาะสมแล้ว

จะมีที่เห็นว่า มีรูมให้ กนง. ลดดอกเบี้ยได้ก็คือ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ส.ค. ปรับขึ้นมาเพียงแค่ 0.32%YOY ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่แถวๆ 0.46%YOY อันเนื่องมาจากราคาสินค้าในประเทศที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากมาย และราคาอาหารสดขยายตัวน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ รวมถึงการที่เงินบาทแข็งค่า ณ ตอนนี้ ก็มีส่วนช่วยให้ราคาสินค้านำเข้ามีราคาถูกลง ก็มีโอกาสที่เงินเฟ้อปีนี้ จะต่ำกว่าเป้าหมาย และต่ำกว่า 1.0%YOY เฉลี่ยทั้งปี ตรงนี้ ก็เป็นส่วนที่ กนง. สามารถพิจารณาลดดอกเบี้ยได้ เพราะส่วนต่างดอกเบี้ยนโยบาย กับเงินเฟ้อ ที่สูงกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาค ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับสูงครับ