SDGs ใน 3 มิติ
ในระหว่างวันที่ 17-24 กันยายน นี้ ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 72 ภายใต้หัวข้อหลักคือ
“ประชาชนคือศูนย์กลาง: มุ่งมั่นสร้างสันติภาพและชีวิตที่ดีสำหรับทุกคนบนโลกที่ยั่งยืน” สะท้อนความสำคัญและความเชื่อมโยงระหว่างการสร้างสันติภาพและการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มีคนเป็นศูนย์กลาง
โดยถ้อยแถลงในการอภิปรายทั่วไป ประเทศไทยได้ใช้เวทีในการอภิปรายผลงานและความสำเร็จภายใต้การขับเคลื่อนนโยบาย “SEP for SDGs Partnership” ในช่วงที่เป็นประธานกลุ่ม 77 และขับเคลื่อนการอนุวัติเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เพื่อเสริมสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาโดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้เพื่อบรรลุ SDGs
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ ได้ผ่านการรับรองโดย 193 ประเทศสมาชิกองค์กรสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ.2558 และดำเนินมาได้ 2 ขวบปีเต็ม โดยนานาประเทศรวมทั้งไทยได้ใช้อ้างอิงสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน จวบกระทั่งปี ค.ศ.2030 (พ.ศ.2573)
การอนุวัติเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 มิติ จากมิติที่แคบสุด คือ มิติทางเศรษฐศาสตร์ (Economy) มิติทางสังคม (Society) และมิติที่กินขอบเขตกว้างสุด คือ มิติสิ่งแวดล้อม หรือ ชีวภาค (Biosphere)
ในมิติที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ด้านเศรษฐกิจ ประกอบด้วย เป้าหมายที่ (8) เศรษฐกิจและการจ้างงาน (9) โครงสร้างพื้นฐานและการปรับให้เป็นอุตสาหกรรม (10) ความเหลื่อมล้ำ และ (12) แบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
ในมิติที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ด้านสังคม ประกอบด้วย เป้าหมายที่ (1) ความยากจน (2) ความหิวโหย (3) สุขภาวะ (4) การศึกษา (5) ความเท่าเทียมทางเพศ (7) พลังงาน (11) เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ และ (16) สังคมและความยุติธรรม
ในมิติที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย เป้าหมายที่ (6) น้ำและการสุขาภิบาล (13) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ (14) ทรัพยากรทางทะเล และ (15) ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ
โดยที่มี SDGs เป้าหมายที่ (17) หุ้นส่วนความร่วมมือและการปฏิบัติให้เกิดผล เป็นเป้าหมายแกนในการบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เกิดผลสัมฤทธิ์
สำหรับท่านที่ยังเข้าใจว่า SDGs เป็นเรื่องของ UN (สหประชาชาติ) เป็นเรื่องของการแก้ไขปัญหาโลก ไม่เกี่ยวกับเรา หรือธุรกิจของเราเท่าใดนัก โปรดทำความเข้าใจใหม่นะครับ เพราะทุกเป้าหมายของ SDGs ที่เมื่อเราเข้าไปดำเนินการ ผลลัพธ์จะตกอยู่กับชุมชนหรือสังคมที่เราอาศัยอยู่ หรือในอาณาเขตที่ธุรกิจของเรามีสถานประกอบการหรือแหล่งดำเนินงานอยู่ มิได้เป็นการเข้าไปแก้ปัญหาในทวีปแอฟริกาหรือในประเทศอื่นแต่ประการใด
สำหรับภาคธุรกิจ รูปแบบการดำเนินงานในการตอบสนองต่อ SDGs ที่ควรจะเป็น คือ การผนวกเข้ากับกระบวนการทางธุรกิจที่ดำเนินอยู่เป็นปกติประจำวัน หรือ Day-to-day business operations มากกว่าการจัดทำเป็นกิจกรรมในลักษณะ Event หรือเป็นโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่แยกต่างหากจากกระบวนการทางธุรกิจ ซึ่งไม่ได้เป็นไปแบบยั่งยืนอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนของภาคธุรกิจเพื่อตอบสนองต่อ SDGs ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการดำเนินงานที่เป็นไปอย่างรับผิดชอบ (Act Responsibly) ในอันที่จะดูแลผลกระทบเชิงลบ มิให้เกิดเป็นความเดือดร้อนเสียหายขึ้นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการแสวงหาโอกาส (Find Opportunities) ในอันที่จะสร้างเป็นผลกระทบเชิงบวก ทั้งแก่ธุรกิจและสังคมควบคู่ไปพร้อมกัน