เรื่องราวของสำนักงานธนาคารชาติไทย ***

เรื่องราวของสำนักงานธนาคารชาติไทย ***

ต่อด้วยเรื่องราวโดยสังเขปของผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคนที่ 18 ซึ่งเป็นสุภาพสตรีท่านแรกที่ขึ้นมากุมบังเหียนนโยบายการเงินของประเทศ

ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคนที่ 18 คือ นางธาริษา วัฒนเกส (พ.ศ. 2549-2553) มีการออกมาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้า ประกาศใช้ พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พระราชบัญญัติคุ้มครองเงินฝากและการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ ผู้เขียน (นายอนุสรณ์ ธรรมใจ) ได้ทำหน้าที่ทีมงานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและได้ประสานงานเพื่อให้การดำเนินนโยบายการเงินและการกำกับดูแลระบบสถาบันการเงินของประเทศเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศ เรื่องความผันผวนของค่าเงินบาท (เงินบาทแข็งค่า)

ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคนที่ 19 คือ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล (พ.ศ. 2553-2558) สร้างสมดุลในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สานต่อนโยบายการเงินภายใต้เป้าหมายเงินเฟ้อ จัดทำแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ ผู้เขียนได้เข้าไปทำหน้าที่กรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยได้ให้ข้อเสนอเรื่องนโยบายการเงิน นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน นโยบายกำกับดูแลสถาบันการเงินหลายประเด็น และได้ร่วมอนุมัติจัดตั้ง สถาบันวิจัยป๋วย อึ๊งภากรณ์ ภายใต้ธนาคารแห่งประเทศไทย  

ส่วนเรื่อง ยุทธศาสตร์เงินบาท สู่ เงินสกุลภูมิภาค และ การยกเลิกการใช้ธนบัตรบางรุ่นเพื่อแก้ปัญหาการฟอกเงิน การจัดการกับองค์กรอาชญากรรมธุรกิจผิดกฎหมาย และ การทุจริตคอร์รัปชัน นั้น ผมได้เคยเสนอให้คณะผู้บริหารแบงก์ชาติไปศึกษาวิจัยเรื่องนี้เพื่อดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อประโยชน์ของประเทศ แต่การตัดสินใจขั้นสุดท้าย จะอยู่ที่รัฐบาลและผู้มีอำนาจรัฐ แต่ ธนาคารแห่งประเทศทำข้อเสนอในเชิงนโยบายได้ 

หลังจากผมพ้นหน้าที่กรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยมาแล้ว ก็ได้ติดตามเป็นระยะๆแต่ยังไม่ได้รับข่าวว่าได้มีการดำเนินในเรื่องดังกล่าวต่ออย่างไร 

ขณะที่ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่มีปัญหาการทำธุรกิจผิดกฎหมาย การทุจริตคอร์รัปชันและการฟอกเงินมาก ท่านนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมธี แห่งอินเดีย ได้แสดงความกล้าหาญทางการเมืองตัดสินใจทางนโยบาย ยกเลิกการใช้ธนบัตร 500 รูปี และ 1,000 รูปี ที่หมุนเวียนในระบบการเงิน และประกาศให้เงินเหล่านั้นไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมายอีกต่อไป โดยให้มีผลทันที สำหรับผู้ที่มีธนบัตรดังกล่าวสามารถนำฝากเข้าธนาคารได้ช่วงเวลาหนึ่ง (เพื่อนำเงินเข้ามาอยู่ในระบบธนาคารจะได้ตรวจสอบง่ายขึ้น) และผ่อนผันให้สามารถใช้ธนบัตรดังกล่าวได้ในโรงพยาบาลรัฐ สถานีขนส่ง สนามบินและสถานีบริการน้ำมันในช่วงสั้นๆ เพื่อไม่ให้ประชาชนโดยทั่วไปที่ต้องใช้เงินสดเดือดร้อนจากนโยบาย การยกเลิกใช้ธนบัตรรุ่นดังกล่าว ก็เพื่อกวาดล้างการฟอกเงิน การทุจริตคอร์รัปชันและการทำธุรกิจผิดกฎหมาย รวมทั้งแก้ไขปัญหาการหนีภาษี เมื่อธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบสถาบันการเงินมากขึ้น การหนีภาษีและการทำธุรกิจผิดกฎหมายถูกตรวจสอบและจัดการได้ง่ายขึ้น รวมทั้งมีแนวโน้มลดลง 

หากรัฐบาลไทยหรือแบงก์ชาติจะนำมาใช้ก็สามารถศึกษาบทเรียนจากอินเดียได้ในระยะแรกของการใช้มาตรการนี้อาจทำให้เกิดความปั่นป่วนในระบบเศรษฐกิจ ความผันผวนในตลาดการเงินอยู่บ้าง เกิดความสะดวกในหมู่ประชาชนผู้ใช้ธนบัตรเงินสดอยู่บ้าง แต่ในระยะยาวค่อนข้างชัดเจนว่า ดีต่อระบบเศรษฐกิจและแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันการฟอกเงินได้ไม่น้อยทีเดียว

รูปแบบและลักษณะของเงินตราได้เปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจ พลวัตทางสังคมและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในระบบการเงิน จนกระทั่งปัจจุบันนี้ เราได้เห็นบทบาทของ Bitcoin หรือ Digital Currency อันเป็นเงินตราที่มีความเป็นดิจิทัลเป็นเทคโนโลยีทางการเงินที่ส่งผลสะเทือนต่อระบบเงินตราสกุลหลักในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นดอลลาร์ เงินยูโร เงินปอนด์และเงินเยน อย่างไรก็ตาม แม้น Digital Currency จะได้รับการยอมรับจากคนจำนวนหนึ่งแต่ยังไม่ได้การรับรองอย่างเป็นทางการจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศหรือธนาคารกลาง เป็นเงินตราที่ไม่ได้ถูกควบคุมโดยธนาคารกลางของประเทศใดประเทศหนึ่ง และ ไม่มีสภาพทางกายภาพ (Physical) เช่น เงินตราในอดีต ไม่ได้เป็นเหรียญโลหะหรือธนบัตรที่เป็นกระดาษ

ขณะที่ นวัตกรรมทางการเงิน E-Money ได้เข้ามาแทนที่เช็ค (check) ในระบบการชำระเงินและเงินสดธนบัตรมากขึ้นตามลำดับโดยเริ่มต้นตั้งแต่ Debit Card, Credit Card, Stored-Value Card, Smart Card and e-cash เป็นต้น กลับไปที่พื้นฐานเลย ก็คือ เงินถูกประดิษฐ์หรือพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Medium of Exchange) อำนวยความสะดวกในซื้อขายและการค้า และ มาตรฐานวัดมูลค่าของสินค้าและบริการ (Standard of Value)

ส่วน ยุทธศาสตร์เงินบาท สู่ เงินสกุลภูมิภาค นั้นจะสอดคล้องกับการที่ประชาคมอาเซียนจะต้องเปิดเสรีระบบการเงินอยู่แล้วและทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งระบบการชำระเงินที่เชื่อมต่อกัน การเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรีมากขึ้นและการเปิดเสรีตลาดทุน หากไทยสามารถผลักดันให้เงินสกุลที่บทบาทเพิ่มเติมย่อมส่งผลดีต่อการค้าและการลงทุนของบริษัทไทยและเศรษฐกิจประเทศไทยโดยรวม 

ผมตั้งสมมติฐานเบื้องต้นว่า มันน่าจะเป็นประโยชน์แต่ก็ยังต้องอาศัยวิจัยเพิ่มเติมก่อนที่จะมาเป็นยุทธศาสตร์นโยบายของประเทศ ไทยควรใช้โอกาสในการที่ “แบงก์ชาติ” มีบทบาทเป็นตัวกลางในการใช้กลุ่มประเทศ CLMV พัฒนาศักยภาพ (Capacity Building) ของประเทศเหล่านี้ โดยไทยเป็นประธานร่วมของคณะทำงาน Payments and Settlement System (PSS) ขณะที่เอง การเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรีในอาเซียนจะอยู่ในรูปเงินดอลลาร์ เป็นส่วนใหญ่ จึงไม่กระทบการปล่อย “เงินบาท” สู่ตลาดต่างประเทศมากเกินไปและปัญหาในการดูแลค่าเงินบาท 

หากต้องการยกระดับ เงินบาทมาแทนที่ เงินดอลลาร์ในการลงทุนของอาเซียน จะต้องมีการเตรียมการหลายเรื่อง แม้นอาเซียนเองจะไม่มีเป้าหมายรวมสกุลเงินอาเซียนเป็นสกุลเดียวเหมือนยูโรโซนก็ตาม ไทยสามารถมียุทธศาสตร์เงินบาทสู่การเป็นเงินสกุลหลักของอาเซียนได้ กลายที่ “เงินบาท” กลายเป็นเงินสกุลหลักของอาเซียนจะส่งผลบวกต่อธุรกิจอุตสาหกรรมการเงินของไทยด้วย และแน่นอนเป็นผลดีต่อภาคการลงทุนและการขายสินค้าไทย 

คาร์ล บรูนเนอร์ และ อัลแลน เอช เมลต์เซอร์ (Karl Brunner and Allan H. Meltzer, 1971) ได้ชี้ให้เห็นว่า ประโยชน์ในการใช้เงินนั้นจะสามารถสร้างอรรถประโยชน์แก่ครัวเรือนให้สูงขึ้น โดยการเพิ่มพูนความมั่งคั่งและเวลาสำหรับพักผ่อนให้มีมากขึ้น ประโยชน์ของเงินที่มีต่อครัวเรือนฉันใด ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์ในสังคมเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ “เงินตรา” ยังกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาการของระบบตลาด ด้วยการลดต้นทุนแห่งข่าวสาร (Information Cost) และ ต้นทุนแห่งการซื้อขายแลกเปลี่ยน (Transaction Cost) เช่นเดียวกัน เมื่อ “เงินบาท” เป็น เงินสกุลหลักของภูมิภาคย่อมลดต้นทุนแห่งข่าวสารและการซื้อขายแลกเปลี่ยนให้กับผู้ประกอบการไทย

นักเศรษฐศาสตร์การเงินได้พยายามพัฒนาแนวคิดเกี่ยวกับบทบาทของเงินต่อเศรษฐกิจยุคโลกาภิวัตน์ไร้พรมแดนโดยเฉพาะที่มีต่อภาคการผลิตที่แท้จริง และ บทบาทของเงินกระดาษลดลงขณะที่บทบาทของเงินในรูปเครดิตหรือบัตรเครดิตเพิ่มมากขึ้นตามลำดับตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารรวมทั้งนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ

ภาคธุรกิจระหว่างประเทศของไทยนั้น ใช้เงินดอลลาร์ 70-80% นอกนั้นเป็นเงินยูโร เงินเยน เงินหยวนและเงินบาท สาเหตุที่ใช้ดอลลาร์เพราะง่ายต่อการบริหารความเสี่ยงและเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปของคู่ค้ามากกว่า หากเราพยายามค้าขายเป็น เงินหยวน-บาท หรือ เงินสกุลอาเซียนต่างๆ-บาท มากขึ้นจะเพิ่มบทบาทของเงินบาท และ ในขณะเดียวกันก็ลดความเสี่ยงต่อการถือครองเงินดอลลาร์ไว้มากเกินไปอีกด้วยความเชื่อมั่นเชื่อถือที่มีต่อเงินบาทของผู้ทำการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ จึงเป็นความสำคัญเบื้องแรกก่อนที่ฝันสู่การเป็นเงินสกุลภูมิภาค

////

*** ชื่อเต็มเรื่อง: เรื่องราวของสำนักงานธนาคารชาติไทย จนถึง ยุทธศาสตร์เงินบาท ในฐานะ เงินสกุลภูมิภาค และ การยกเลิกธนบัตรบางรุ่น (3)