มองการณ์ไกลเพื่อเมืองแห่งอนาคต

มองการณ์ไกลเพื่อเมืองแห่งอนาคต

เทคโนโลยีในปัจจุบันก้าวหน้ามากพอ ที่จะทำให้เราสามารถสร้างเมืองแห่งอนาคตที่อาจจะเคยเห็นแค่ในภาพยนตร์ ให้เป็นจริงขึ้นมาได้แล้ว 

นั่นทำให้เราเห็นเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกโดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก รวมไปถึงการใช้พลังงานทดแทนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม เช่น โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (สมาร์ท กริด) ระบบจราจรอัจฉริยะ (สมาร์ท ทราฟฟิก) ที่มีรากฐานจากการนำไอโอทีมาเชื่อมโยงกับ

อย่างที่เราทราบกันดีว่าในหลายเมืองกำลังอยู่ในช่วงพัฒนา แต่ก็มีหลายเมืองที่นำไปใช้จริงแล้ว เช่นเมืองบาร์เซโลนาในประเทศสเปน ที่นำเอาไอโอทีมาประยุกต์ใช้ในส่วนงานต่าง ๆ ของเมืองได้อย่างลงตัว สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ ระบบขนส่งสาธารณะ ผ่านป้ายรถเมล์ดิจิทัลโดยใช้ระบบโซลาร์ พร้อมกับหน้าจออัจฉริยะที่สามารถบอกเวลาที่รถเมล์จะมาถึงและจำนวนที่นั่งรอรถเมล์ และยังพัฒนาระบบจักรยานสาธารณะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อพลเมือง โดยผู้ใช้งานจะต้องจ่ายค่าใช้บริการรายปีเพื่อรับบัตรใช้งาน และต้องสแกนบัตรก่อนและหลังใช้บริการ ซึ่งปัจจุบันมีสถานีบริการมากถึง 400 สถานี 

ส่วนในเรื่องของระบบที่จอดรถอัจฉริยะ บาร์เซโลน่าได้พัฒนาระบบเซนเซอร์ที่ไม่ใช่เพียงแค่เป็นจุดบอกว่ามีที่ว่างที่ใดบ้างเท่านั้น แต่ผู้ขับรถสามารถรู้ตำแหน่งที่ว่างผ่านแอพพลิเคชั่นและสามารถบอกเส้นทางไปยังจุดจอดรถได้  และที่สำคัญที่สุดคือผู้ใช้งานสามารถจ่ายค่าที่จอดรถผ่านแอพพลิเคชั่นได้อีกด้วย โดยระบบนี้ได้รับการตอบรับอย่างดีจากประชาชนผู้ใช้งานเพราะมีผู้จองผ่านแอพพลิเคชั่นมากถึง 4,000 ครั้งต่อวันเลยทีเดียว

ระบบไฟส่องสว่างข้างทางอัจฉริยะ บาร์เซโลนาเปลี่ยนเป็นหลอดไฟแอลอีดีทั่วทั้งเมืองเพื่อทั้งประหยัดต้นทุนและพลังงาน โดยระบบเซนเซอร์หลอดไฟจะสว่างขึ้นเมื่อจับการเคลื่อนไหวได้ และยังสามารถเก็บข้อมูลสภาพอากาศไม่ว่าจะเป็นระดับความชื้น อุณหภูมิ มลพิษ และเสียงรอบข้างในแต่ละสถานที่ และในแต่ละเสายังถูกฝังระบบไวไฟเพื่อบริการอินเทอร์เน็ตฟรี สามารถช่วยเมืองประหยัดพลังงานได้ถึง 30% 

สำหรับโครงการสมาร์ทซิตี้ของไทยนั้น ถือว่าอยู่ในช่วงกำลังพัฒนาไปในทิศทางที่ดี ไม่ว่าจะเป็นโครงการของจังหวัดภูเก็ตที่ถูกพัฒนามาตั้งแต่ปี 2558 และล่าสุดจังหวัดเชียงใหม่เองก็ได้รับรางวัล Smart City Asia Pacific Awards (SCAPA) ประจำปี 2560 จากทางไอดีซี 2560 โดยคัดเลือกจากโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ที่ได้ดำเนินการในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ยกเว้นญี่ปุ่น) จังหวัดเชียงใหม่ได้รับรางวัลจากสมาร์ทฟาร์มมิ่ง โดยโครงการเกษตรอัจฉริยะมีจุดมุ่งหมายเพื่อการพัฒนาระบบนิเวศน์ที่เอื้อต่อการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาภาคเกษตรกรรมของจังหวัดเชียงใหม่ 

โดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้พัฒนาระบบเซ็นเซอร์ไร้สายในการจ่ายน้ำเพื่อการเกษตรซึ่งจะช่วยประหยัดการใช้น้ำและเพิ่มผลผลิต และได้พัฒนาโดรนเพื่อการเกษตร ที่ใช้สำหรับการพ่นยาฆ่าแมลงและปุ๋ยในพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งช่วยลดการใช้แรงงานและประหยัดเวลา โดรนเพื่อการเกษตรยังสามารถตรวจสอบปัญหาเรื่องไฟป่าและหมอกควันได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาระบบต่างๆ ต้องขึ้นอยู่กับโครงสร้างพื้นฐานของแต่ละประเทศ และนี่คือความท้าทายที่เราต้องเผชิญและหาแนวทางแก้ปัญหาที่เหมาะกับประเทศของเราเอง นอกเหนือจากการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพลเมืองหรือการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ได้กล่าวถึงไปแล้วนั้น แต่รวมถึงผลประโยชน์ทางอ้อมที่ภาคธุรกิจจะได้รับก็คือประสบการณ์ของผู้ใช้งานและความเอื้อของอุปกรณ์ต่างๆ ในสังคมเพื่อที่จะเข้าถึงผู้ใช้งานได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น