ผ่านโลกบล็อกเชน

ผ่านโลกบล็อกเชน

ความพยายามที่จะเข้าถึงเงินทุน ถือเป็นเรื่องธรรมดาของการทำธุรกิจ

ปัจจุบันมีนวัตกรรมใหม่ในการระดมทุนซึ่งเกิดจาก disruption technology อย่างบล็อกเชน นั่นก็คือ Initial Coin Offering หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ไอซีโอ(ICO)”

แล้วไอซีโอคืออะไร ไอซีโอ ก็คือการขายโทเค็น (Token) อธิบายให้เข้าใจง่ายก็คือ เหรียญเงินในรูปแบบดิจิทัล กล่าวได้ว่า เป็นกลไกการระดมทุนคราวด์ฟันดิ้งรูปแบบใหม่ที่มาแรงอย่างมากในปีนี้ 

ข้อมูลของโกลด์แมน แซคส์ระบุว่า ไอซีโอ เริ่มเป็นที่รู้จักและแพร่หลายกันมากขึ้น ถึงขนาดเริ่มจะแซงหน้าการระดมทุนผ่านกลุ่มทุนร่วมลงทุน หรือเวนเจอร์แคปปิตอลในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้แล้ว

ความนิยมไอซีโอ ส่วนหนึ่งมาจากเป็นทางเลือกในการระดมทุนให้กับสตาร์ทอัพ สามารถเติมเต็มข้อจำกัดที่จะเข้าถึงเงินทุนจากเวนเจอร์แคปปิตอล และต้องใช้เวลากับการนำเสนองาน (Pitching) ที่แสนจะน่าเบื่อหน่าย ช่วยให้เหล่าสตาร์ทอัพสามารถประกาศและชี้ชวนให้นักลงทุนเข้ามาซื้อคอยน์/โทเค็น ได้โดยการเผยแพร่ผ่าน technical whitepaper

การระดมทุนไอซีโอนั้น เป็นการสร้างและขาย Crypto Token โดยใช้แพลตฟอร์มแบบเปิดของบล็อกเชนเทคโนโลยีเป็นพื้นฐาน ที่เรียกว่า Ethereum ซึ่งทำให้ทุกคนสามารถสร้างและใช้งานแอพพลิเคชั่นแบบกระจายข้อมูลได้

ทั้งนี้การทำไอซีโอมีความคล้ายคลึงกับการทำ IPO : Initial Public Offering ซึ่งมีเป้าหมายในการระดมทุนจากประชาชนทั่วไปเพื่อใช้ในการดำเนินการหรือขยายธุรกิจ โดยไอพีโอจะให้หุ้นในบริษัทและระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)

ส่วนไอซีโอ ธุรกิจที่ต้องการเงินทุนจะนำดิจิทัลแอสเส็ทไม่ว่าจะเป็นคอยน์ หรือ โทเค็น ออกมาขายในวันเวลาที่กำหนด พร้อมเผยแพร่ wthite paper และโค้ดโดยประกาศบน ICO Alter และประชาสัมพันธ์ทางช่องทางต่างๆ เพื่อแสวงหานักลงทุนที่สนใจหรืออาจจะเปิดการระดมทุนเฉพาะวงจำกัดก็ได้ การซื้อไอซีโอถือเป็นการเก็งกำไรประเภทหนึ่งโดยผู้ถือคอยน์/โทเค็นอาจนำมาขายผ่านตัวกลางในการแลกเปลี่ยนได้

จากความนิยมที่เพิ่มขึ้นและลักษณะที่สามารถเก็งกำไรเช่นเดียวกับหุ้น ทำให้รัฐบาลในหลายๆ ประเทศกำลังหาทางกำกับดูแล โดยล่าสุดรัฐบาลจีนได้ออกมาแบนไอซีโอแล้วในช่วงต้นเดือนก.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากมองว่าอาจเข้ามาสร้างปัญหาให้กับเศรษฐกิจ และแทรกแซงระเบียบทางการเงินของประเทศได้

ส่วนของ ก.ล.ต.หรือ SEC ของสหรัฐฯได้ออกประกาศกำหนดให้บริษัทที่จะระดมทุนแบบไอซีโอต้องมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ federal securities laws เฉกเช่นเดียวกับ หุ้นในตลาดหลักทรัพย์

สำหรับของประเทศไทยนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่แสดงท่าทีที่ชัดเจนใดๆ ออกมา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาถึงข้อดี-ข้อเสีย และความเสี่ยง โดยก.ล.ต.มองว่าไอซีโอเป็นการระดมทุนที่น่าสนใจแต่ขาดแนวทางการคุ้มครองของผู้ลงทุน เนื่องจากไม่มีหน่วยงานใดสามารถมาช่วยคัดกรองคุณสมบัติของบริษัทที่จะมาระดมทุนได้การตัดสินใจลงทุนจะขึ้นอยู่กับความเข้าใจ และความน่าสนใจในไอเดียของงานที่จะมาระดมทุนเป็นหลักเท่านั้น

โดยส่วนตัว ผมเชื่อว่าไอซีโอจะเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนเมื่อบล็อกเชนแพร่หลายมากขึ้น และเห็นด้วยกำกับท่าทีของหน่วยงานกำกับดูแลที่ยังใช้มาตรการ “เฝ้าดูอยู่ห่างๆ แบบห่วงๆ” แล้วปล่อยให้กลไกของเทคโนโลยีดำเนินไปตามครรลองของมัน มากกว่าการมุ่งเน้นกำกับดูแลแบบเข้มงวดจนอาจจะเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางต่อการรังสรรค์นวัตกรรมใหม่ได้