เรื่องราวของสำนักงานธนาคารชาติไทย **

เรื่องราวของสำนักงานธนาคารชาติไทย **

สำนักงานธนาคารชาติไทยดำเนินงานได้เพียงปีเศษก็เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นนำกำลังทหารเข้ามายังประเทศไทยในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484

 และได้เสนอให้รัฐบาลไทยจัดตั้งธนาคารกลางขึ้น โดยมีที่ปรึกษาและหัวหน้างานต่าง ๆ เป็นชาวญี่ปุ่น ซึ่งรัฐบาลไทยไม่อาจยอมให้เป็นเช่นนั้นได้ จึงมอบให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยดำเนินการร่างกฎหมายเพื่อเปลี่ยนฐานะของสำนักงานธนาคารชาติไทยให้เป็นธนาคารกลาง และให้ประกาศใช้โดยเร็วที่สุด พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย จึงได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2485 ต่อมาได้ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2485 ซึ่งเป็นวันรัฐธรรมนูญและในวันต่อมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เริ่มดำเนินการ ณ อาคารที่ทำการเดิมของธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ จำกัด ถนนสี่พระยา พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ทรงดำรงตำแหน่งผู้ว่าการพระองค์แรก ต่อมาได้ย้ายที่ทำการมาอยู่ ณ วังบางขุนพรหมตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2488 แล้วย้ายมาอาคารสำนักงานใหญ่ที่สร้างขึ้นในบริเวณวังบางขุนพรหมเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2525 และในปี 2550 สำนักงานใหญ่ได้ย้ายมาอยู่ ณ อาคารสำนักงานใหญ่หลังใหม่ ที่ก่อสร้างขึ้นในบริเวณเชื่อมต่อระหว่างวังบางขุนพรหมกับวังเทวะเวสม์

ปัญหาใหญ่อีกประการหนึ่งที่ ธปท. ต้องเผชิญในการที่ดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพแห่งค่าเงินตราก็คือ ฐานะการคลังของรัฐบาลที่เสื่อมถอยลง โดยในช่วงปี 2492 – 2498 การขาดดุลการคลังได้ทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งนี้เนืองจากรัฐบาลต้องการที่จะเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้รายจ่ายด้านการลงทุนสูงขึ้น และความบกพร่องในวิธีการงบประมาณได้ทำให้การจัดลำดับความสำคัญของรายจ่ายด้านต่างๆไม่เหมาะสมกับสถานะรายได้ ในระยะแรกรัฐบาลได้กู้เงินจาก ธปท.เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณด้วยการออกตั๋วเงินคลังให้ ธปท.ถือไว้ ต่อมาในปี 2495 รัฐบาลได้เริ่มใช้วิธีเบิกเงินเกินบัญชีอีกทางหนึ่ง ธปท จึงพยายามเสนอให้รัฐบาลตระหนักถึงภัยอันตรายต่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศอันเกิดมาจากการใช้จ่ายเงินเกินรายได้ของรัฐ (ผ่านการกู้ยืมโดยตรงจาก ธปท. ซึ่งมีผลเท่ากับการเพิ่มปริมาณเงินในระบบ) ด้วยการขอให้ทำการปรับปรุงแก้ไขวิธีการงบประมาณและได้เสนอว่าการรักษาเสถียรภาพการเงินที่ยั่งยืนได้นั้นจำเป็นต้องมีการประสานนโยบายกันทั้งนโยบายการเงินและการคลังอย่างใกล้ชิดและไม่ขัดแย้งกัน

ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยพระองค์แรก คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ดำรงตำแหน่งสองช่วง คือ พ.ศ. 2485-2489 และ ปี พ.ศ. 2491 มีการนำพันธบัตรคลังเข้าเป็นทุนสำรองครั้งแรก ได้มีการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงในปี พ.ศ. 2487 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง

ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคนที่สอง คือ นายเสริม วินิจฉัยกุล ดำรงตำแหน่งสองช่วง ช่วงแรกในปี พ.ศ. 2489-2490 และ ในช่วงปี พ.ศ. 2495-2498 มีการออกพระราชบัญญัติจัดสรรสำรองเงินตราเพื่อบูรณะประเทศ ในปี พ.ศ. 2490 เริ่มระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา ปี พ.ศ. 2498 ยกเลิกระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา

ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคนที่สาม คือ นายเล้ง ศรีสมวงศ์ (พ.ศ. 2490-2492) ประเทศไทยได้เข้าไปเป็นสมาชิกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก ลำดับที่ 48 ในปี พ.ศ. 2492

ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคนที่สี่ คือ หม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ (พ.ศ. 2493-2495) สินค้าส่งออกไทยขยายตัวสูงและทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปี พ.ศ. 2493-2494

ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคนที่ห้า คือ นายเกษม ศรีพยัคฆ์ (พ.ศ. 2498-2501) ในปี พ.ศ. 2498 มีการจัดตั้งทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา มีการดำเนินการล้างหนี้ของรัฐบาลที่มีต่อธนาคารแห่งประเทศไทย และ มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติเงินตราในปี พ.ศ. 2501

ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคนที่หก คือ นายโชติ คุณะเกษม (พ.ศ. 2501-2502) มีการปรับการทำงานของธนาคารชาติให้มีความทันสมัยขึ้น

ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคนที่เจ็ด คือ นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ (พ.ศ. 2502-2512) ประกาศใช้พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ในปี พ.ศ. 2505 กำหนดค่าเสมอภาคเงินบาท ในปี พ.ศ. 2506 มีการจัดตั้งสำนักงานสาขาแห่งแรก ระบบทุนการศึกษา ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดตั้งโรงพิมพ์ธนบัตร ในสมัยผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยท่านนี้ นอกจากนี้ ท่านยังมีบทบาททางการศึกษาในสภาการศึกษา สภาวิจัยแห่งชาติ และ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงบประมาณและผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ท่านจึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งมั่นคงให้กับสถาบันหลักทางด้านการเงินการคลังและการพัฒนาประเทศ และวางรากฐานะระบบและนโยบายการเงินการคลังของประเทศเอาไว้ ตลอดระยะเวลาของการดำรงตำแหน่งผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยกว่า 12 ปีได้สร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับระบบธนาคารกลางของประเทศ 

นอกจากนี้ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ยังเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ต่อมาได้มาทำหน้าที่ทางการศึกษาในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองและการรัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 และท่านได้รับผลกระทบจากกลุ่มการเมืองจารีตเผด็จการขวาจัด จึงลี้ภัยทางการเมืองไปใช้ชีวิตอย่างสงบในประเทศอังกฤษ

ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคนที่แปด คือ นายพิสุทธิ์ นิมมานเหมินห์ (พ.ศ. 2514-2518) ในปี พ.ศ. 2514 เป็นจุดเริ่มต้นของความล่มสลายของระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบ Bretton Woods ก่อให้เกิดความผันผวนแปรปรวนในระบบการเงินโลก ในปี พ.ศ. 2515 ไทยจึงต้องปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนใหม่และปรับค่าเงินเงินบาท และ ในปี พ.ศ. 2516 เงินสกุลหลักต่างๆได้มีการประกาศลอยตัว ในปี พ.ศ. 2518 ได้มีการเปิดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคนที่เก้า คือ ดร. เสนาะ อูนากุล (พ.ศ. 2520-2522) มีการปรับปรุงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นแบบตระกร้าเงินในปี พ.ศ. 2521 และประกาศใช้พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ฉบับที่ 2 ในปี พ.ศ. 2522 และในปีเดียวกันได้เกิดวิกฤตการณ์บริษัทราชาเงินทุนขึ้น

ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคนที่สิบ คือ นายนุกูล ประจวบเหมาะ (พ.ศ. 2523-2527) มีการออกพระราชบัญญัติเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินในปี พ.ศ. 2523 ในปี พ.ศ. 2524 มีการประกาศลดค่าเงินบาทสองครั้ง ยกเลิกระบบกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนรายวัน ปี พ.ศ. 2526-2527 เกิดปัญหาวิกฤติในธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์จนนำไปสู่การจัดตั้ง โครงการ 4 เมษายน 2527 เพื่อแก้ปัญหา

ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคนที่สิบเอ็ด คือ นายกำจร สถิรกุล (พ.ศ. 2527-2530) ในปี พ.ศ. 2527 มีการประกาศลดค่าเงินบาทและปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นแบบตระกร้าเงิน ปี พ.ศ. 2528 จัดตั้ง กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ในปี พ.ศ. 2530 ออกพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นครั้งแรก

ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคนที่สิบสอง คือ นายชวลิต ธนะชานันท์ (พ.ศ. 2533) มีการประกาศรับปฏิบัติตามพันธะข้อ 8 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศและผ่อนคลายการปริวรรตเงินตรา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเริ่มเปิดเสรีทางการเงิน

ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคนที่สิบสาม (พ.ศ. 2533-2537) คือ นายวิจิตร สุพินิจ มีการเริ่มต้นปฏิรูประบบการเงิน จัดตั้งคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต) อนุญาตให้เปิดกิจการวิเทศธนกิจ BIBF (Bangkok International Banking Facilities) เริ่มมีสัญญาณของฟองสบู่ในภาคการเงินและอสังหาริมทรัพย์และนำมาสู่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจการเงินในปี พ.ศ. 2540 ในที่สุด

ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคนที่สิบสี่ (พ.ศ. 2539-2540) คือ นายเริงชัย มะระกานนท์ เกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 และนำไปสู่การลอยตัวค่าเงินบาท เปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนจากระบบตระกร้าเป็นระบบแบบลอยตัว มีการสั่งปิดบริษัทเงินทุนรวม 58 แห่ง

ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคนที่สิบห้า (พ.ศ. 2540-2541) คือ ดร. ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ช่วงเวลานี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศอนุมัติการช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศไทย และ มีการจัดตั้งองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส) และ จัดตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส)

ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคนที่สิบหก คือ หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล ได้มีการปฏิรูปองค์กรครั้งสำคัญและฟื้นฟูภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือซึ่งสูญเสียในช่วงเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและสถาบันการเงินเมื่อปี พ.ศ. 2540 ผู้เขียน (นายอนุสรณ์ ธรรมใจ) ได้เข้าไปทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนผู้บริหารธนาคารพาณิชย์กับผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปคณะทำงานยกร่างแผนการปฏิรูประบบการเงินของประเทศและการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินเป็นแบบใช้อัตราเงินเฟ้อเป็นเป้าหมาย (Inflation Targeting Monetary Policy) ในยุคนี้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อส่งเสริมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ และ ใช้นโยบายการเงินแบบกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ

ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคนที่สิบเจ็ด คือ หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล (พ.ศ. 2544-2549) มีการควบรวมกิจการธนาคารต่างๆ ออกพันธบัตรออมทรัพย์ช่วยชาติ เริ่มแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่หนึ่ง รวมทั้งริเริ่มพลักดันกฎหมายซึ่งเป็นการปฏิรูประบบการเงินของประเทศในเวลาต่อมา คือ เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทย สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในปี 2551 จึงได้เสนอออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย

(1) พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551

2) พระราชบัญญัติ ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551

เพื่อให้การกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ เป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน จึงได้รวมกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ เป็นฉบับเดียวกัน 3) พระราชบัญญัติ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ.2551 การพลักดันดังกล่าวมาบรรลุผลในสมัยต่อมา

////////////

** ชื่อเต็มเรื่อง: เรื่องราวของสำนักงานธนาคารชาติไทย จนถึงยุทธศาสตร์เงินบาท ในฐานะเงินสกุลภูมิภาค และการยกเลิกธนบัตรบางรุ่น (2)