ว่าด้วย Hurricane Futures

ว่าด้วย Hurricane Futures

ว่าด้วย Hurricane Futures

ขณะเขียนบทความอยู่นี้ (วันที่ 12 กันยายน 2560) ทราบว่า เจ้า “เออร์ม่า” (Irma) พายุเฮอริเคน เบอร์แรงที่สุด ระดับ 5 (Category 5 Hurricanes) ตามมาตรฐาน Saffir–Simpson Hurricane Scale (SSHS) ได้อ่อนกำลังลงเป็นเป็น พายุโซนร้อน หรือ Tropical Strom ไปแล้วหลังจากได้พัดขึ้นบกผ่านรัฐ Florida และเข้าสู่รัฐ Georgia และ Alabama แล้วตามลำดับ

Irma ตอนที่พัดผ่านเกาะสวรรค์ในทะเลคาลิเบียน มีความแรงลมมากกว่า 252 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ได้ทำลายสิ่งปลูกสร้างในเกาะสวรรค์ไปอย่างยับเยิน รวมไปถึงบ้านคนดัง อย่าง Sir Richard Branson แห่ง Virgin Group ซึ่งขณะนี้กำลังขอให้ทั่วโลก Set up Marshall Plan ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยบริเวณนั้นอย่างเร่งด่วน (Richard Branson Wants ‘Marshall Plan’ for Post-Irma Caribbean, www.nbcnews.com, 11 กันยายน 2560)

พายุ “Irma” นี้ ถูกระบุว่าเป็นพายุที่มีความแรงที่สุดของปีนี้ในด้วยความแรงลมที่สูงสุดถึง 185 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือ 295 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (จะเป็น Category 5 ได้ต้องอย่างน้อย 157 ไมล์ต่อชั่วโมง) ซึ่งเป็นความเร็วที่จะก่อให้เกิดความเสียหายได้สูงที่สุด หรืออาจเรียกได้ว่าในระดับ “หายนะ”

โดยปกติ พายุลูกใหญ่ ๆ ที่มีความเร็วลม 75 ไมล์ต่อชั่วโมงขึ้นไป จะมีชื่อเรียกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็น “เฮอริเคน”   “ไต้ฝุ่น” หรือ “ไซโคลน” ตามแหล่งกำเนิด  โดย เจ้า Irma นี้ คือ เฮอริเคน  เนื่องจากเกิดในมหาสมุทรแปซิฟิกช่วงตะวันออกเฉียงเหนือ และ/หรือ มหาสมุทรแอตแลนติก ใกล้ ๆ กับประเทศอเมริกา และในแถบอ่าวเม็กซิโก

แต่จะเรียกว่า “ไต้ฝุ่น”  หากเกิดขึ้นบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันตก เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และ “ไซโคลน”  หากเกิดขี้นบริเวณมหาสมุทรอินเดีย มหาสมุทรแปซิฟิกช่วงตะวันตกเฉียงใต้ และแถวบริเวณออสเตรเลีย เช่น พายุไซโคลน “นาร์กิส” ที่ ได้คร่าชีวิตพี่น้องชาวพม่าไปจำนวนมากกว่า 300,000 คน ในปี 2551

สำหรับ Hurricane ที่สร้างมูลค่าความเสียหายที่สุดในอดีต ได้แก่ เฮอริเคน Katrina (“แคทรินา”) ที่เข้าถล่ม รัฐลุยเซียนา โดยเฉพาะเมืองนิวออร์ลีนส์เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว โดยสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมากมายมหาศาลถึง 108,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐหรือประมาณ 3.6 ล้านล้านบาท หรือ แม้กระทั่งเมื่อเดือนที่แล้ว Hurricane Harvey ได้เข้าถล่มรัฐ Texas ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเมืองใหญ่อย่าง Houston อย่างหนักหนาสาหัส

การที่รัฐทางใต้อย่าง Florida Louisiana หรือ Texas ต่างต้องเผชิญกับ เฮอริเคนบ่อยครั้ง จนดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา รัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกาจึงได้มีการตั้งหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลเกี่ยวกับเรื่องพายุเฮอริเคนโดยเฉพาะ เรียกว่า ศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติ (National Hurricane Center) มีสำนักงานใหญ่ที่เมืองไมอามี รัฐฟลอริดา สังกัด “National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA)”  ซึ่งเป็นหน่วยงานเทียบเท่ากับกรม ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐ (U.S. Department of Commerce)

ชื่อเรียกทีมกีฬาของมหาวิทยาลัยไมอามี่ (Miami University)  ใน Florida ยังได้มีการใช้ชื่อว่า “Miami Hurricanes” ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าผู้คนในฟลอริด้าโดยเฉพาะชาวเมืองไมอามีนั้นมีความคุ้นชิน กับเจ้าพายุเฮอริเคน ขนาดไหน

จากเหตุที่ “เฮอริเคน” เป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้  จึงมีแนวคิดเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ในการสร้างเครื่องมือการบริหารความเสี่ยงจากการเสียหายจาก Hurricane โดย Exchange อย่าง Chicago Mercantile Exchange หรือ CME Group ได้มีออกแบบ และนำเสนอสินค้า Hurricane Futures ซึ่งมีรูปแบบการซื้อขายของ Futures Trading ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องใช้เป็นเครื่องมือในการ Hedging

Hurricane Futures ที่ CME นำออกมาให้ซื้อขายล่วงหน้านี้ มีตัวอ้างอิงเป็นดัชนีที่เรียกว่า Carvill Hurricane Index ซึ่งเป็นดัชนีค่าความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากพายุเฮอริเคน ยิ่งดัชนีแสดงค่าสูงเท่าไรหมายความว่าความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากพายุยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ปรากฏว่าสินค้า Hurricane Futures ไม่ได้รับความนิยมจากทั้งจากผู้ประกอบการและจากผู้เล่นในตลาดเท่าที่ควร ซึ่งทำให้ Hurricane Futures ได้ถูกถอดออกจาก Shelf มาหลายปีแล้ว ทำให้ใน Shelf ของ CME ในสินค้าประเภท Weather Index ปัจจุบันเหลือเพียงแต่ สินค้าประเภทอุณหภูมิอากาศ (Temperature-based index futures) เท่านั้น

ก็คงอาจจะเป็นเพราะกลไกการจัดการความเสี่ยงจาก Hurricane ได้แก่ การประกันวินาศภัย สามารถหน้าที่ของมันได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว เครื่องมือการบริหารความเสี่ยงอย่าง Hurricane Futures ที่ถูกนำเสนอมาเป็นทางเลือก จึงไม่ประสบความสำเร็จและถูกปิดตัวไปอย่างเงียบ ๆ ในที่สุด