เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มโตดีกว่าคาด

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มโตดีกว่าคาด

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มโตดีกว่าคาด

สภาพัฒน์รายงานตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/60 โต 3.7% เร่งตัวจากโต 3.3% ในไตรมาสแรก โดยเป็นการเติบโตมากกว่าที่คาดมาก และโตมากที่สุดในรอบ 17 ไตรมาส จากแรงหนุนของภาคการส่งออก การท่องเที่ยว และการเกษตร ส่งผลให้ในครึ่งปีแรกของปีนี้เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.5% ทั้งนี้ สภาพัฒน์ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ 3.3 - 3.8% เป็น 3.5 - 4.0% โดยมีค่ากลางที่ 3.7%

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นเดือนแรกของไตรมาส 3/60 บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีขึ้น โดยการส่งออกยังคงขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง และขยายตัวได้ดีในเกือบทุกหมวดและทุกตลาดหลัก ดัชนีผลผลิตภาคการผลิตบ่งชี้ว่าภาคการผลิตขยายตัวได้ดีขึ้น และมีการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ภาคการท่องเที่ยวชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ตามการลดลงของนักท่องเที่ยวมาเลเซียและอินโดนีเซีย หลังสิ้นสุดเทศกาลฮารีรายอ แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน การท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้ดี ส่วนการลงทุนภาคเอกชนเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวแต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวอัตราที่ชะลอลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าเกษตรอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

การที่ตัวเลขเศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตได้ดีต่อเนื่อง และกระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น ส่งผลให้ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยลดน้อยลง เนื่องจากมีปัจจัยที่มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น โดยหากปัจจัยใดมีปัญหา ก็ยังมีปัจจัยอื่นช่วยหนุนให้เศรษฐกิจเติบโตได้ต่อไป ซึ่ง ณ ขณะนี้ ถึงแม้ตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมดูดีขึ้น แต่อาจจะยังไม่กระจายไปทุกภาคส่วน เนื่องจากยังมีหลายส่วนที่ยังคงรู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยยังอ่อนแอ การที่เศรษฐกิจไทยมีแรงขับเคลื่อนจากหลายปัจจัยและกระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น น่าจะส่งผลให้แต่ละภาคส่วนได้ประโยชน์จากการขยายตัวของเศรษฐกิจมากขึ้นในระยะอันใกล้นี้

สำหรับปัจจัยที่จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดน่าจะมาจากการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าที่คาด ดังที่ผมได้เขียนย้ำมาหลายครั้ง โดยสภาพัฒน์คาดว่าการส่งออกปีนี้จะเพิ่มขึ้น 5.7%สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) คงคาดการณ์ว่าการส่งออกทั้งปี 2560 จะโต 5% คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินว่าการส่งออกอาจขยายตัวได้มากกว่าที่ปัจจุบันคาดไว้ที่ 3.5 – 4.5%ในขณะที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจปรับเป้าหมายการส่งออกปีนี้เป็นโตไม่ต่ำกว่า 6%ซึ่งตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตของการส่งออกล่าสุดนี้ เพิ่มขึ้นจากตัวเลขคาดการณ์เมื่อช่วงต้นปีที่อยู่ราว 0 – 3%ในขณะที่ตัวเลขการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น 8.2%ทั้งนี้ การที่หน่วยงานต่างๆยังไม่ปรับตัวเลขคาดการณ์การส่งออกขึ้นมากเนื่องจากคาดว่าการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้จะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง โดยเป็นผลจากฐานสูง และการแข็งค่าของค่าเงินบาทจะส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลง

แต่อย่างไรก็ดี สัญญาณต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศยังคงบ่งชี้ว่าการส่งออกจะขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยตัวเลขการนำเข้าสินค้าทุน สินค้าขั้นกลาง และวัตถุดิบ และตัวเลขอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น บ่งชี้ถึงแนวโน้มการส่งออกที่ดีขึ้น และสอดคล้องกับรายงานของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่ระบุว่า คำสั่งซื้อใหม่มีเข้ามาเพิ่มขึ้น สำหรับปัจจัยจากต่างประเทศ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ยูโรโซน ญี่ปุ่น และจีน ต่างได้แรงหนุนจากคำสั่งซื้อเพื่อการส่งออก เป็นสัญญาณว่าการค้าในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมา การส่งออกของไทยก็ขยายตัวได้ดี สอดคล้องกับคำสั่งซื้อเพื่อการส่งออกของประเทศเหล่านี้ เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่สำคัญในห่วงโซ่อุปทาน

สำหรับด้านการท่องเที่ยว ยังคงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นตามเป้าหมาย และการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น หลังจากที่ในช่วงปลายปีที่แล้วรัฐบาลพยายามปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลงชั่วคราว ในส่วนของการลงทุนภาครัฐ ซึ่งหดตัวลงในไตรมาส 2/60 หลังจากที่เร่งตัวไปมากในไตรมาสแรก น่าจะกลับมาเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้มากขึ้นในช่วงต่อๆไป

สำหรับการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ถึงแม้ชะลอตัวลงบ้างในช่วงเดือนกรกฎาคม แต่แนวโน้มน่าจะกลับมาดีขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจ ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนน่าจะฟื้นตัวมากขึ้น ตามโครงการลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการขยายตัวของภาคการผลิตที่มีมากขึ้น สะท้อนว่าผู้ประกอบการเริ่มมีความมั่นใจต่อการเติบโของเศรษฐกิจมากขึ้น และจะส่งผลให้มีการลงทุนมากขึ้น

จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวต่อเนื่อง และเร่งตัวมากขึ้น ในขณะที่ความเสี่ยงมีน้อยลง ซึ่งหากไม่มีเหตุการณ์ช็อคตลาด เช่น เกิดสงครามในคาบสมุทรเกาหลี ปัญหาการเมืองในประเทศ เป็นต้น ทิศทางการลงทุนในอนาคตน่าจะสดใส เนื่องจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์น่าจะดีขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น