ผุดแอพฯรถเกี่ยวข้าว หวั่นไม่พอ แถมค่าบริการพุ่ง

ผุดแอพฯรถเกี่ยวข้าว หวั่นไม่พอ แถมค่าบริการพุ่ง

เมื่อน้ำจากภาคเหนือหลากมาถึงภาคกลาง ก็จวนที่การเก็บเกี่ยวข้าวนาปีจะเริ่มขึ้น เป็นธรรมดาที่จะไล่จากภาคเหนือลงมาภาคอีสาน ภาคกลางและใต้ 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดแรงงานภาคการเกษตรยังเป็นเรื่องใหญ่ การลงแขกเกี่ยวข้าวอย่างแต่ก่อนคงไม่มีให้เห็นกันอีกต่อไปในยุคสมัยนี้ เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่หันมาใช้บริการรถเกี่ยวนวดกันมากขึ้น และเพื่อเตรียมความพร้อมของฤดูการเกี่ยวข้าวนาปี 2560/61 ช่วง ก.ย.- ธ.ค. นี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์กรมหาชน) และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สร้างแอพพลิเคชั่นบริหารรถเกี่ยวข้าวขึ้นเพื่อให้บริการอย่างเพียงพอ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ก.ย. นี้ 

โดยจะนำร่องใช้ที่ จ.อุบลราชธานีในเดือน ต.ค.หลังจากนั้นกรมการค้าภายในจะประชาสัมพันธ์การใช้งานแอพพลิเคชั่นให้เกษตรกรและผู้ประกอบการรถเกี่ยวได้รับทราบและใช้งานได้จริงเดือน พ.ย. นี้ซึ่งเป็นช่วงที่ปริมาณข้าวออกสู่ตลาดมากที่สุด

ทั้งนี้ จากการสำรวจรถเกี่ยวข้าวทั่วประเทศ มีอยู่รวม 16,174 คัน ประกอบด้วย ภาคเหนือ 3,589 คัน ภาคอีสาน 8,651 คัน ภาคกลาง 1,594 คัน ภาคตะวันออก 621 คัน ภาคตะวันตก 1,560 คัน ภาคใต้ 159 คัน และจากการสำรวจพื้นที่เก็บเกี่ยวและปัญหาอุปสรรคเพื่อนำมากำหนดแนวทางบริหารจัดการได้อย่างเพียงพอ พบว่า จังหวัดที่ประสบปัญหาค่าบริการรถเกี่ยวข้าวสูงผิดปกติ 9 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ ที่อ.แม่ริม ราคา 550-600 บาทต่อไร่ พิจิตร อ.วังทรายพูน 600-700 บาทต่อไร่ อุตรดิตถ์ อ. น้ำปาด อ.ฟากท่า อ. บ้านโคก กาฬสินธุ์ อ. เมือง อ.นาคู อ.เขาวัง อ.คำม่วง ราคา 900-1,200 บาทต่อไร่

ชัยภูมิ อ.เกษตรสมบูรณ์ อ.แก้งคร้อ อ.คอนสรรค์ อ.คอนสาร อ.จตุรัส อ.เทพสถิต อ.บ้านแท่น อ.บำเหน็จณรงค์ อ.ภูเขียว อ.เมือง อ.หนองบังแดง ราคา 800-1,000 บาทต่อไร่ นครราชสีมา อ.พิมาย อ.หนองบุญมาก อ.โนนแดง อ.ปักธงชัย อ.โนนไทย ราคา 600-800 บาท ต่อไร่ มหาสารคาม อ.เมือง อ.แกดำ อ.กุดรัง อ.โกสุมพิสัย ราคา 750-800 บาทต่อไร่ และบึงกาฬ อ.บุ้งคล้า อ.พรเจริญ อ.ปากคาด อ.เมือง อ.เซกา อ.ศรีวิไล ราคา 600-1,500 บาทต่อไร่ และจังหวัดที่ประสบปัญหาปริมาณรถเกี่ยวไม่เพียงพอ 8 จังหวัดคือ นครสวรรค์ พิจิตร นครราชสีมา บึงกาฬ มหาสารคาม สุรินทร์ อุบลราชธานี และสระแก้ว

สำหรับแอพพลิเคชั่นรถเกี่ยว จะระบุให้จองก่อนล่วงหน้า กำหนดวันที่เกี่ยว ปริมาณพื้นที่ ผู้ใช้บริการ และผู้รับบริการ  อย่างไรก็ตามในการหารือกับผู้ประกอบการรถเกี่ยวเบื้องต้น ทางชมรมรถเกี่ยวข้าวเมืองชาละวัน จ.พิจิตร แจ้งว่าการบริหารจัดการรถเกี่ยวข้าวให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่มีอุปสรรคที่สำคัญ คือ การใช้บริการรถเกี่ยวข้าวส่วนใหญ่ 90 % จะผ่านนายหน้าในพื้นที่ที่เก็บเกี่ยว ทำหน้าที่รวบรวมจำนวนพื้นที่แล้วแจ้งต่อผู้ให้บริการรถ รวมถึงสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งหมด

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้กระทรวงเกษตรฯมีแนวคิดจะหาเครื่องมือในการทำการเกษตร โดยใช้เครื่องจักรกลเพื่อทดแทนแรงงานคน เช่น โรงสี เครื่องสีข้าว เครื่องอบ ยุ้งฉาง เป็นต้น เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย ขาดแคลนแรงงานคน โดย นำเครื่องจักรกลไปไว้ที่ชุมชน หรือ สหกรณ์ เพื่อใช้ร่วมกัน แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะยังมีข้อกังวลในเรื่องของการซ่อมบำรุง หากมีการพัง หรือชำรุดเสียหาย จะไม่มีผู้รับผิดชอบ ดังนั้นในปีนี้จึงใช้วิธีการประสานกับภาคเอกชนเพื่อให้บริการอย่างเพียงพอไปก่อน

ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์จะหารือกับ ชมรมรถเกี่ยว จัดทำแผนการเก็บเกี่ยวในแต่ละเดือน ตั้งแต่เดือนก.ย. 2560 – ก.พ. 2561 เพื่อขนย้ายรถเกี่ยวข้าวไปยังภาคอีสานถึงเวลาเก็บเกี่ยว และกระทรวงพารณิชย์ จะดูแลค่าใช้จ่าย ซึ่งการทำแอพพลิเคชั่น ดังกล่าวช่วยให้ไม่มีปัญหาเหมือนในอดีต