นวัตกรรมกลจักรเปลี่ยนโลก

นวัตกรรมกลจักรเปลี่ยนโลก

ใครที่ทำงานฝ่ายการเงินหรือฝ่ายบุคคล น่าจะต้องปวดหัวไม่มากก็น้อยไปกับปริมาณงานเอกสารที่กองสุมเป็นภูเขาเลากา 

อาทิ ใบแจ้งหนี้ หรืองานที่ต้องทำซ้ำทำซากอยู่ทุกวี่ทุกวัน วนทำกันไป เช่น การทำระบบเงินเดือน จะดีกว่าไหมหากมีกลจักรอัตโนมัติมาเป็นผู้ช่วยลดภาระงานที่ต้องทำซ้ำๆ แทนเรา (โดยที่ไม่ทำให้เราเสี่ยงต่อการตกงาน)

ตัวอย่างหากมีซอฟต์แวร์ที่จะสามารถช่วยเราชี้เป้าว่า มีบริษัทไหนบ้างที่จะให้ส่วนลดกับซัพพลายเออร์ที่มาชำระเงินก่อนครบกำหนด เราสามารถเลือกชำระเงินให้เร็วขึ้นเพื่อที่จะได้รับส่วนลดนั้น ทำให้ธุรกิจมีเงินเหลือเก็บมากขึ้น หรือในทางกลับกัน หากบริษัทเราเป็นเจ้าหนี้ เราก็อาจเสนอส่วนลดให้กับลูกค้าที่ชำระเงินก่อนเพื่อให้ได้เงินสดมาหมุนเวียนเร็วขึ้น

ซอฟต์แวร์เหล่านี้จะทำให้เรามองเห็นภาพรวมของข้อมูลที่ต้องการ หรือชี้เป้าได้ถูกจุดจากปริมาณข้อมูลเอกสารที่มีอยู่อย่างมหาศาลได้อย่างง่ายขึ้น แถมยังเป็นแบบระบบอัตโนมัติมากขึ้นอีกด้วย

นี่เป็นความก้าวหน้าของเอ็นเตอร์ไพร้ส์ ซอฟต์แวร์ ที่ได้ใส่ขีดความสามารถของ ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligent:AI) เข้าไปในระบบการทำงานเพื่อให้กระบวนการธุรกิจ มีการทำงานให้เป็นแบบอัตโนมัติมากขึ้น ลดภาระการทำงานซ้ำๆ ของมนุษย์

ปัจจุบันซอฟต์แวร์องค์กร เช่น ออราเคิล มีขีดความสามารถในการมอนิเตอร์ใบแจ้งหนี้ของซัพพลายเออร์แบบอัตโนมัติ และแจ้งเตือนเงื่อนไขการชำระเงินสำหรับการกลุ่มที่ชำระเงินก่อนเป็นลำดับต้นๆ

นี่ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของ “การให้ส่วนลดแบบพลวัต” หรือ Dynamic discounting และเป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวหนึ่งของกระบวนการที่ใช้ร่วมกัน หรือ share service ที่สามารถทำให้งานเดินเครื่องแบบอัตโนมัติด้วยหุ่นยนต์ รวมถึงการค้นหาราคาค่าขนส่งจากบริษัทที่ให้ราคาดีที่สุด แล้วสร้างข้อเสนอแบบอัจฉริยะให้กับลูกค้าได้

หุ่นยนต์ที่ดำเนินการแบบอัตโนมัติ (Robotic process automation) เรียกง่ายๆ ว่า RPA เป็นการใช้หุ่นยนต์ในกระบวนการซึ่งช่วยให้การทำงานของบิสิเนสโพรเซสเป็นแบบอัตโนมัติตั้งแต่ต้นจนจบ

โดยปกติแล้ว เวลาเราพูดถึงหุ่นยนต์มักจะไพล่นึกไปถึงแขนกลในโรงงาน ที่ใช้ในการประกอบชิ้นส่วนของภาคอุตสาหกรมการผลิต ทว่า ความหมายของหุ่นยนต์ในนิยามนี้มีความหมายถึงการใช้งานที่กว้างขึ้น ซึ่งอาจรวมถึง คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์โมบายเครือข่าย หรือซอฟต์แวร์ที่ใช้ทำงานด้วย

เวอร์ชวลบอท หรือ ซอฟต์แวร์ โรบอท จะใช้ฟังก์ชั่นการแชท เพื่อให้บริการลูกค้า โดยบอท เหล่านี้ มีความล้ำหน้าเพียงพอที่จะสามารถโต้ตอบกับมนุษย์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ โดยใช้ความสามารถของแมชีน เลิร์นนิ่งของระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองจากข้อมูลที่เพิ่มขึ้น

แมชีน เลิร์นนิ่ง จะทำให้บอท ระบุแพทเทิร์นใหม่ๆ และแนวโน้มจากข้อมูลใหม่ๆ ที่เข้ามาในระบบ จากนั้นจึงปรับเปลี่ยนอัตโนมัติตามพฤติกรรมข้อมูลแพทเทิร์นหรือแนวโน้มสดใหม่นั้น

ในส่วนการเงิน นี่เป็นส่วนที่บอท จะสามารถเลียนแบบการทำงานของมนุษย์เพื่อสานต่องานด้านเสมียน ทำให้ได้งานที่สมบูรณ์อย่างรวดเร็ว และถูกต้อง ด้วยค่าใช้จ่ายที่น้อยมาก ซึ่งนี่สามารถสร้างผลกระทบได้อย่างมหาศาลกับศูนย์ที่ให้บริการร่วม ที่เป็น Share Services center

สำหรับอีกหลากหลายธุรกิจ RPA จะเป็นคำตอบของการเพิ่มประสิทธิภาพ และความสามารถที่จะใช้ประโยชน์จากระบบเดิมที่มีอยู่อย่าง อีอาร์พี ได้ดีขึ้น และยิ่งมีปริมาณธุรกรรมมากขึ้นเท่าไหร่ ธุรกิจที่ทำงานแบบอัตโนมัติผ่านบอทก็จะยิ่งประหยัดได้มากขึ้นเช่นกัน

RPA ยังอยู่ในช่วงต้นของการวางแผนที่จะนำมาใช้งานในหลายๆ บริษัท ส่วนบริษัทที่รับงานเอาท์ซอร์สเฉพาะทาง น่าจะเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่จะได้ประโยชน์จาก RPA

นอกจากนี้ RPA จะมีแนวโน้มมากที่สุด หากสามารถสร้างอิทธิพลต่อการตัดสินใจของมนุษย์ โดยการต่อยอดไปใช้กับการคิดวิเคราะห์ทางธุรกิจ โดยการทำงานรูทีนแบบอัตโนมัติ เช่น ทำให้ทีมการเงินและบุคคล มีเวลามากขึ้นจากการลดงานที่ทำประจำแบบซ้ำๆ แล้วหันไปให้น้ำหนักกับกิจกรรมที่เพิ่มคุณค่ามากขึ้น โดยการเสริมงานธุรกิจให้กับองค์กร

RPA จะมาเปลี่ยนบทบาทโฉมหน้าของงานการเงินและงานบริหารบุคลากร ในด้านเวลาและพลังงาน ให้สามารถช่วยสนับสนุนอนาคตของบริษัทมากขึ้น ในเชิงการคิดแบบยุทธศาสตร์ มากกว่าการเป็นเพียงส่วนงานสนับสนุน หรือเป็นเพียงแค่แบ็คออฟฟิศที่ทำงานประจำเท่านั้น

ตลาดหุ่นยนต์ในกระบวนการแบบอัตโนมัตินั้น เริ่มร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่น ฟอเรสเตอร์ บริษัทที่ทำงานด้านการวิจัยได้คาดการณ์การใช้จ่ายโซลูชั่น RPA ซึ่งตำแหน่งงานออฟฟิศจะถูกแทนที่ด้วยปัญญาประดิษฐ์ นอกจากนี้เทคโนโลยีอื่นที่เกี่ยวข้องเฉพาะตลาด RPA จะมีมูลค่าราว 250 ล้านดอลลาร์ในปี 2559 และจะเติบโตเป็น 2.9 พันล้านดอลลาร์ในปี 2564

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ธุรกิจที่จะนำ RPA มาใช้ ควรพิจารณาในการนำมาช่วยหรือเสริมงานมนุษย์มากกว่าการแทนที่ตำแหน่งงานเพียงอย่างเดียว อีกทั้งยังต้องเตรียมแผนการพัฒนาทักษะใหม่ๆ เพื่อเพิ่มเติมให้กับตำแหน่งงานที่อาจถูกแทนที่ด้วย RPA เพราะท้ายที่สุด พนักงานที่มีคุณภาพและภักดีกับองค์กร ก็ถือเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญยิ่งขององค์กร และกลจักรเหล่านั้นก็มิอาจทำงานแทนมนุษย์ได้ทั้งหมดด้วยฃ

การแย่งงานมนุษย์ของบอทอัจฉริยะจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย หากมนุษย์รู้จักปรับตัว สร้างคุณค่าในตัวเอง และพร้อมที่จะเรียนรู้ไปกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เพราะการแสวงหาความรู้ที่สดใหม่นั้นไม่มีที่สิ้นสุดจริงๆ