ขาขึ้นธุรกิจสีเขียวโลก ถึงธุรกิจสีเขียวไทย
ในอดีต การดำเนินธุรกิจสีเขียวอาจเคยถูกมองว่าขึ้นอยู่กับความสมัครใจของภาคธุรกิจ ซึ่งหมายความว่า
ภาคธุรกิจจะเลือกใช้แนวคิดสีเขียวในการดำเนินธุรกิจหรือไม่ก็ได้
อย่างไรก็ดี เมื่อสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศของโลกในปัจจุบันอยู่ในภาวะที่ย่ำแย่ลง กอปรกับการที่ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ทรัพยากรป่าไม้ เชื้อเพลิง ร่อยหรอลงแบบที่ไม่สามารถสร้างกลับคืนมาได้ ซึ่งมีผลมาจากการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยในการผลิตและการบริโภค ภายใต้กระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงนี้ ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมีบทบาทสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้มีการนำมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมมาใช้เป็นเงื่อนไขหนึ่งในการเจรจาและเงื่อนไขทางการค้า สำหรับในฝั่งของผู้บริโภคเอง ปัจจุบันมีผู้บริโภคจำนวนมากที่ให้ความสำคัญและแสวงหาสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งพฤติกรรมในการบริโภคดังกล่าวอาจะเป็นเงื่อนไขและโจทย์ที่ท้าทายให้กับภาคธุรกิจ ที่ต้องคิดวางแผนจริงจังอย่างเป็นระบบ เพื่อให้การรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนสามารถดำเนินการควบคู่ไปกับการสร้างผลกำไรให้กับองค์กรได้
หากพิจารณากระแสโลกเกี่ยวกับธุรกิจสีเขียว พบว่ามีธุรกิจหลายประเภทที่น่าจับตามอง เนื่องจากมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจรีไซเคิลขยะ ธุรกิจพลังงานจากชีวมวลโดยเฉพาะเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (Wood Pellet) และไม้สับ (Wood Chips) และธุรกิจโซล่าเซลล์บนหลังคาบ้านพักอาศัย (Solar PV Rooftop) เป็นต้น
ที่ผ่านมา มูลค่าของตลาดรีไซเคิลขยะทั่วโลกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นจาก 14 พันล้านยูโรในปี 2554 เป็น 21 พันล้านยูโรในปี 2558 จากรายงานของ Statista ปี 2017 ยังแสดงให้เห็นว่ามีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 35 พันล้านยูโรในปี 2563 การขยายตัวของธุรกิจรีไซเคิลขยะมีแรงหนุนมาจากหลายปัจจัย อาทิ อัตราการรีไซเคิลขยะที่ขยายตัวในหลายประเทศทั่วโลก ความต้องการในการบริโภคผลิตภัณฑ์สีเขียวของผู้บริโภค เป็นต้น
ประเภทของธุรกิจขยะรีไซเคิลที่เป็นดาวรุ่งที่น่าจับตามองสำหรับประเทศไทยคือธุรกิจเม็ดพลาสติกรีไซเคิล เนื่องจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิลมีราคาถูกกว่าเม็ดพลาสติกใหม่ถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในหลายอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ สหภาพยุโรปได้กำหนดเงื่อนไขว่าผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ส่งไปจำหน่ายจะต้องมีเม็ดพลาสติกรีไซเคิลเป็นส่วนประกอบไม่ต่ำกว่า 30% อีกทั้ง ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ออกมาตรการสร้างแรงจูงใจให้กับภาคธุรกิจ โดยให้การยกเว้นภาษีนิติบุคคลเป็นระยะเวลา 8 ปี และยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรที่นำมาใช้ในธุรกิจพลาสติกรีไซเคิล
ปัจจุบัน ธุรกิจเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดและไม้สับได้รับความสนใจจากหลายประเทศ เช่น ประเทศเกาหลีใต้และประเทศญี่ปุ่น ซึ่งความต้องการไม้อัดเม็ดและไม้สับในประเทศญี่ปุ่นได้รับแรงหนุนมาจากการที่ประเทศญี่ปุ่นภัยพิบัตินิวเคลียร์ ที่ฟุกุชิมะในปี 2554 ส่งผลให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลายแห่งต้องทยอยปิดตัวลงและทำให้มีความจำเป็นต้องมีการใช้โรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ปี 2555เป็นต้นมา
ประเทศญี่ปุ่นมีปริมาณการนำเข้าชีวมวลอัดเม็ดเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ดังนั้น การผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดและไม้สับเพื่อส่งออกจึงมีความน่าสนใจ อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นมีนโยบายนำเข้าเฉพาะไม้หรือผลิตภัณฑ์จากไม้ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการปลูกป่าแบบยั่งยืน (FSC) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่สากลยอมรับ ดังนั้น เพื่อตอบสนองต่อโอกาสทางธุรกิจนี้ ภาครัฐควรเร่งรัดดำเนินการ ส่งเสริม สนับสนุนการปลูกยางพาราแบบยั่งยืนตามข้อกำหนด FSC เพื่อจะช่วยให้สามารถผลิตชีวมวลอัดเม็ดที่มีศักยภาพทั้งด้านปริมาณและด้านคุณภาพสำหรับส่งออก
สำหรับในประเทศไทย ปัจจุบันได้มีการนำแนวคิดสีเขียวมาใช้ในการดำเนินธุรกิจในหลายลักษณะ เช่น นำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่ การใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากแผงโซล่าเซลล์ที่ติดตั้งบนหลังคา การนำเศษวัสดุเหลือใช้จากผลิตมาใช้ในการผลิตพลังงาน ฯลฯ
โดย Quick Win สำหรับธุรกิจน่าจะอยู่ที่การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการช่วยให้บริษัทประหยัดต้นทุนด้านพลังงานและน้ำ นอกเหนือจากประโยชน์ที่ธุรกิจได้รับในรูปของผลกำไรหรือการประหยัดต้นทุนแล้ว สังคมโดยรวมก็ได้รับประโยชน์จากธุรกิจสีเขียวด้วยเช่นกัน โดยชุมชนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำเสีย ขยะ หรือเศษวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตที่โรงงานนำมาทิ้งหรือปล่อยออกมาสู่ชุมชน ภาครัฐสามารถประหยัดงบประมาณในการบำบัดและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมบริเวณที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ผู้บริโภคมีสินค้าที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไว้สำหรับเลือกบริโภค
ดังนั้น เมื่อมองไปในอนาคต จะเห็นได้ชัดว่าแนวโน้มของธุรกิจสีเขียวนอกจากจะเติบโตมากขึ้นแล้ว ยังมีแนวโน้มที่จะมีวิธีการใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์มากขึ้น วันนี้ถึงยุคตื่นตัวหรือช่วงขาขึ้นของธุรกิจสีเขียว อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่จะส่งเสริมให้ธุรกิจสีเขียวโตต่อได้ และสร้างผลประโยชน์สู่สังคม ประกอบด้วย ภาครัฐควรให้การสนับสนุนผ่านทางนโยบายส่งเสริมการลงทุนอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาใช้ในการต่อยอดธุรกิจ อีกทั้ง ไม่สนับสนุนนโยบายอุดหนุนพลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นคู่แข่งหลักของพลังงานทดแทน นอกจากนี้ ภาครัฐอาจจะส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ต่อไป
*****
โดย กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงศ์