การขยายฐานผู้ลงทุนทั่วไปในตลาดทุนโลก

การขยายฐานผู้ลงทุนทั่วไปในตลาดทุนโลก

การขยายฐานผู้ลงทุนทั่วไปในตลาดทุนโลก

ในตลาดหุ้นและอนุพันธ์ของไทยนั้น ผู้ลงทุนทั่วไปหรือที่เรียกว่า Retail Investors หรือรายย่อยนั้น มีมูลค่าการซื้อขายในสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่ง (ณ สิ้นกรกฏาคม 2017 การซื้อขายของผู้ลงทุนทั่วไปมีสัดส่วน 46% ในตลาดหุ้นและ 51% ในตลาด TFEX) ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ลงทุนทั่วไปมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้ตลาดมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง หากพิจารณาโครงสร้างผู้ลงทุนเทียบกับต่างประเทศ จะเห็นได้ว่าแต่ละตลาดจะมีโครงสร้างต่างกันไป แต่หากพิจารณาโครงสร้างของกลุ่มประเทศ Emerging ที่ส่วนใหญ่ตลาดทุนยังอยู่ในช่วงขยายตัวนั้น มีแนวโน้มที่การซื้อขายส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่มผู้ลงทุนทั่วไป ตัวอย่างเช่น สัดส่วนผู้ลงทุนทั่วไป ในปี 2016 โดยประมาณของ อียิปต์ (Egyptian Exchange) เท่ากับ 81% ตลาดดูไบ (Dubai Financial Market) 77% ตลาดโคลอมเบีย (Bolsa de Valores de Columbia) 64%

ในทางตรงข้าม ตลาดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่อยู่ในช่วง Mature มีแนวโน้มที่ผู้ร่วมตลาดที่สำคัญจะมาจากกลุ่มผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนต่างประเทศ ในขณะที่การซื้อขายของกลุ่มผู้ลงทุนทั่วไปมีสัดส่วนไม่มากนัก ตัวอย่างเช่น HKEX ของประเทศฮ่องกงที่จัดเป็นตลาดกลุ่ม Developed Market ของเอเชีย ในปี 2015 นั้น มีสัดส่วนผู้ลงทุนทั่วไปเพียงประมาณ 19% ในตลาดหุ้น และประมาณ 15% ในตลาดอนุพันธ์ อย่างไรก็ตาม ในตลาดที่ค่อนใหญ่อย่างไต้หวัน ก็ยังมีสัดส่วนผู้ลงทุนทั่วไปสูงในตลาดหุ้นและตลาดอนุพันธ์สูงถึงประมาณ 82% และ 53% ตามลำดับ

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า ตลาดในต่างประเทศหลายๆแห่งเริ่มให้ความสำคัญกับการขยายฐานผู้ลงทุนทั่วไป โดยล่าสุด สมาพันธ์ตลาดหุ้นนานาชาติหรือ World Federation of Exchanges (WFE) ได้มีการศึกษาในปี 2017 เรื่องของการขยายฐานผู้ลงทุนทั่วไปในตลาดเกิดใหม่ “Enhancing Retail Participation in Emerging Markets” โดยชี้ว่าผู้ลงทุนทั่วไปเป็นส่วนเติมเต็มสำคัญที่ช่วยให้เกิดการซื้อขายและเพิ่มสภาพคล่องของตลาด ผู้ลงทุนทั่วไปมักจะมีระยะเวลาลงทุน (Investment Horizon) ที่สั้นกว่าและมีแนวโน้มที่จะซื้อขายถี่กว่าผู้ลงทุนสถาบันที่โดยทั่วไปแล้วจะมี Investment Horizon ที่ค่อนข้างยาวและไม่ซื้อขายบ่อยครั้ง

สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อการเข้ามาซื้อขายในตลาดทุนของผู้ลงทุนทั่วไป ผลวิจัยชี้ว่ามีอยู่หลายปัจจัยด้วยกัน ตัวอย่างเช่น อัตราดอกเบี้ย กล่าวคือ ภายใต้ภาวะอัตราดอกเบี้ยสูง ผู้ลงทุนทั่วไปมีแนวโน้มที่จะลงทุนในตลาดทุนลดลง และมีความสนใจลงทุนในตลาดเงินตามอัตราผลตอบแทนที่น่าสนใจมากขึ้น อย่างไรก็ดี ในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศ (GDP) มีการขยายตัวที่ดี และผลตอบแทนการลงทุนในตลาดทุนปรับตัวสูงขึ้น ผู้ลงทุนทั่วไปมีแนวโน้มจะเข้ามาลงทุนในตลาดทุนมากขึ้น เนื่องจากเห็นว่าการลงทุนในตลาดทุนจะช่วยออมและสร้างความมั่งคั่งได้ นอกจากนี้ ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการซื้อขาย การสร้าง Awareness และการพัฒนาความรู้ด้านการลงทุนให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไป ต่างเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของการลงทุนของผู้ลงทุนทั่วไป

ผลศึกษายังชี้ต่อไปว่าการที่ผู้ลงทุนทั่วไปในประเทศมีส่วนร่วมในการซื้อขายในสัดส่วนที่เหมาะสม จะสามารถลดผลกระทบและช่วยให้ตลาดมีความยืดหยุ่น (Resilience) ต่อปัจจัยผันผวนที่เกิดขึ้นจากภายนอกประเทศได้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา Exchange ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ต่างหันกลับมาให้ความสำคัญกับการเพิ่มสัดส่วนผู้ลงทุนทั่วไปเพื่อสร้างความสมดุลย์ให้แก่ตลาดของตนเองผ่านในหลายแนวทาง เช่น การผลักดันให้เพิ่มการกระจายหุ้น IPO ไปยังผู้ลงทุนทั่วไปในสัดส่วนที่สูงขึ้น รวมไปถึงการให้ความรู้ด้านการลงทุนแก่ผู้ลงทุนทั่วไปมากขึ้น

สำหรับประเทศไทยนั้น ปัจจุบันมีจำนวนบัญชีของผู้ลงทุนในตลาดหุ้นประมาณ 2 ล้านบัญชีและในตลาด TFEX ประมาณ 140,000 บัญชี ซึ่งตลาดหลักทรัพย์และตลาดอนุพันธ์ให้ความสำคัญอย่างมากกับผู้ลงทุนทั่วไป ด้วยเชื่อมั่นว่าในการขยายฐานผู้ลงทุนนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุน โดยผู้ลงทุนคุณภาพจะมีบทบาทที่จะสนับสนุนให้ตลาดเติบโตอย่างยั่งยืน

ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์และตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจึงได้มีการร่วมมือกับพันธมิตร ทั้ง บริษัทสมาชิก บริษัทจัดการลงทุน และองค์กรที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านการขยายฐานผู้ลงทุน โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความรู้ความเข้าใจ ผ่านการอบรมสัมมนาทั้งแบบในห้องเรียนและออนไลน์ โดยในช่วง3-4 ปีที่ผ่านมานั้นจะให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูลผ่าน SET Social Media, SET Mobile Application และ Website ซึ่งเป็นศูนย์รวมข้อมูลการลงทุน เนื่องจากสามารถทำให้เข้าถึงผู้ลงทุนได้ในจำนวนมากและรวดเร็ว นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ยังมีการพัฒนาเครื่องมือเรียนรู้การลงทุน เช่น Trading Simulation เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถฝึกหัดเรียนรู้การลงทุนในบรรยากาศที่เสมือนจริง และส่งเสริมให้มีการพัฒนาเครื่องมือหรือ Application ต่างๆ ที่ช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงข้อมูลในตลาดทุนและทำการลงทุนได้โดยสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยในส่วนของตลาดหลักทรัพย์นั้น มีการพัฒนา โปรแกรม Starter เพิ่มช่วยตรวจสอบความพร้อมทางการเงิน โปรแกรม Back Testing ซึ่งใช้ข้อมูลในอดีตมาจำลองให้เห็นภาพว่าถ้าเราลงทุนในหุ้นหรือกองทุนที่คัดเลือกไว้อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอในช่วงเวลาที่กำหนด จะได้ผลตอบแทนอย่างไร ซึ่งในอนาคต ตลาดหลักทรัพย์ยังมียังมีแผนที่จะปรับปรุงเนื้อหาความรู้ความเข้าใจในด้านการลงทุนให้อยู่ในรูปแบบที่เข้าใจและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น สอดคล้องกับ Lifestyle ของผู้ลงทุน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น Chat Bot มาช่วยในการให้ข้อมูลและตอบคำถามของผู้ลงทุนได้รวดเร็วมากขึ้น รวมทั้งพัฒนา Platform การเรียนรู้ทางออนไลน์ให้มีความน่าสนใจและเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น

ทั้งนี้ หากเทียบกับตลาดต่างประเทศแล้ว อาจกล่าวได้ว่าแนวทางการส่งเสริมผู้ลงทุนไทยของเรานั้น เรามีความหลากหลายและมีความน่าสนใจ โดยถูกนำมาศึกษาเป็นต้นแบบเรื่องของแนวทางการขยายฐานผู้ลงทุนทั่วไป ซึ่งในปัจจุบันนี้เป็นประเด็นที่ตลาดต่างประเทศหลายๆ แห่งให้ความสนใจและต้องการพัฒนาให้มีการเติบโตอย่างมาก