พัฒนาการของกติกาการเลือกตั้งของไทย-อังกฤษ

พัฒนาการของกติกาการเลือกตั้งของไทย-อังกฤษ

การเสนอให้มีประชาชนได้ลงคะแนนเสียงในการคัดเลือกว่าใครเหมาะสมที่จะเป็นผู้สมัครลงแข่งขันเลือกตั้งของพรรคการเมือง

หรือที่เรียกกันว่า “primary vote” หรือ“primary election” นั้นถือว่าเป็นความพยายามอีกขั้นตอนหนึ่งในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของไทยที่ต้องการจะให้การได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสะท้อนความต้องการของประชาชนมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา เพราะที่ผ่านมา การตัดสินใจคัดเลือกผู้สมัครของพรรคการเมืองมักจะถูกกำหนดมาจากเบื้องบน อันได้แก่ หัวหน้าพรรค คณะกรรมการบริหารพรรค โดยประชาชนหรือสมาชิกพรรคโดยทั่วไปไม่มีส่วนในการตัดสินใจหรือถ้ามีก็น้อยมาก 

เข้าใจว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวนี้ (พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง) ได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบไปแล้ว เหลืออยู่เพียงขั้นตอนสุดท้ายเท่านั้น ร่างกฎหมายที่มีการกำหนดให้พรรคการเมืองต้องทำ “primary” มีข้อดีข้อเสียอย่างไร ผู้เขียนได้เคยให้ความเห็นไปแล้วในกรุงเทพธุรกิจฉบับวันที่ 3 สิงหาคมและในโพสต์ทูเดย์ฉบับวันที่ 4 สิงหาคม ที่ผ่านมา

ไม่ว่ากฎหมายดังกล่าวจะใช้ได้ผลดีจริงหรือไม่ หรือใช้ได้ในทางปฏิบัติแค่ไหนอย่างไร คงต้องดูกันต่อไป แต่ผู้เขียนอยากจะนำเสนอภาพรวมของพัฒนาการของกติกาการเลือกตั้งของอังกฤษ ที่มีการออกกฎหมายมาเรื่อยๆเพื่อแก้ไขปัญหาในการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น ที่อาจจะไม่ได้คาดคิดไว้ก่อน แต่เมื่อ “ปัญหามา ปัญญามี” จึงค่อยออกกฎหมายมาตามแก้กันไปเป็นช่วงๆ

เริ่มแรกเลย การเมืองอังกฤษก็ไม่ได้มีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม ผู้คนและนักการเมืองของเขาก็ไม่ได้แตกต่างไปจากเรา มีปัญหาคล้ายๆกัน เพียงแต่เมื่อมีปัญหา ก็เข็นกฎหมายกันออกมาป้องกัน คนของเขาไม่ได้มีสายพันธุ์พิเศษที่เมื่อมีเลือกตั้งแล้ว นักการเมืองจะไม่ใช้วิธีการสกปรก และประชาชนจะไม่ขายเสียง ก่อนหน้าปี ค.ศ. 1872 หรือ พ.ศ. 2415 การเลือกตั้งในอังกฤษยังไม่เป็นการลงคะแนนลับ นั่นคือ เวลาประชาชนไปลงคะแนน ทุกคนจะเห็นว่า เขาลงให้ใคร กฎหมายเลือกตั้งยังไม่ได้กำหนดให้เป็นการลงคะแนนลับที่ไม่มีใครสามารถล่วงรู้ได้ว่า ใครลงให้ใครนอกจากเจ้าตัว สิ่งที่เกิดขึ้นเรื่อยมาจนถึงปี ค.ศ. 1883 ก็คือ นักการเมืองใช้วิธีการต่างๆในการที่จะให้ประชาชนลงคะแนนให้ตน เช่น การข่มขู่ประชาชน โดยมีนักเลงอันธพาลคอยประกบติดตามดูที่หน่วยเลือกตั้งเลือกต่อหน้าต่อตาเลย 

นอกจากการข่มขู่ก็มีวิธีการอื่นๆ เช่น เมื่อถึงวันเลือกตั้ง เกณฑ์ผู้คนเข้าไปในร้าน (ผับ/pub) เหล้ายาปลาปิ้งเต็มที่ แล้วก็ประกบกันไปที่หน่วยเลือกตั้งดูแลให้ผู้คนเหล่านั้นลงคะแนนให้ตนเป็นที่เรียบร้อย หรืออีกวิธีหนึ่งก็คือ ซื้อเสียงกันจะๆไปเลย มีการซื้อเสียงกันแบบยกเขต ยกครัวเรือน ซึ่งการเลือกตั้งในช่วงนั้นดูจะคล้ายงานเลี้ยงเฉลิมฉลองอะไรแบบนั้นมากกว่า

สภาพการณ์แบบนี้ส่งผลให้นักการเมืองจำนวนหนึ่งเห็นว่า มันเป็นการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตเที่ยงธรรม แต่ก็มีนักการเมืองอีกมากที่เห็นว่า ไม่เป็นไร ! เพราะวิธีการ หาเสียงแบบนั้น มันทำให้พวกเขาได้เข้าไปนั่งในสภา เงินที่จัดเลี้ยงหรือซื้อเสียงก็เป็นเงินของเขาเอง การข่มขู่ประกบตัวก็อาจจำเป็นเพราะว่า ต้องการให้แน่ใจว่าเมื่อเลี้ยงข้าวเลี้ยงเหล้าหรือแจกตังค์ไปแล้ว ประชาชนเหล่านั้นจะเบี้ยวไม่ได้ อีกทั้ง การเข้าไปเป็น ส.ส. ก็ไม่ได้เงินเดือนเงินดาวอะไรด้วย เพราะ ส.ส. อังกฤษเริ่มมีเงินเดือนครั้งแรกในปี ค.ศ. 1911 เริ่มต้นจากปีละ 400 ปอนด์

แต่ฝ่ายที่เห็นว่า สภาพการณ์การเลือกตั้งแบบนี้มันไม่ชอบธรรม ก็สามารถเข็นกฎหมายที่มุ่งจะแก้ปัญหานี้ออกมาได้ นั่นคือ พ.ร.บ. การลงคะแนนเสียง ค.ศ. 1872 (the Ballot Act 1872) ที่กำหนดให้การลงคะแนนเสียงเป็นการลงคะแนนลับ เพื่อทำให้ผู้ลงคะแนนสามารถลงคะแนนได้อย่างอิสรเสรี ลดการข่มขู่ ซื้อเสียง เลี้ยงดูปูเสื่อ เปลี่ยนให้การเลือกตั้งที่เคยดูเหมือนกับจะเป็นเทศกาลรื่นเริงมาเป็นการเลือกตั้งที่จริงจัง ดังนั้น ภายใต้กฎหมายลงคะแนนเสียงลับนี้ นักการเมืองที่เคยใช้เงินซื้อเสียงให้สินบาทสินบนหรือข่มขู่เริ่มไม่แน่ใจว่า การลงทุนซื้อเสียงไปแล้วนั้นจะได้ผลจริงๆจังๆมากน้อยแค่ไหน แต่แน่นอนว่า การจัดเลี้ยง ซื้อเสียงก็ยังดำเนินต่อไป เพียงแต่นักการเมืองมีความเสี่ยงมากขึ้นกว่าแต่ก่อน 

หลังจาก ทดลองใช้ คือ พ.ร.บ. การลงคะแนนเสียง ค.ศ. 1872 ไปสักพักหนึ่ง นักการเมืองฝ่ายน้ำดีก็เห็นว่า มันยังไม่เพียงพอที่จะทำให้การเลือกตั้งของอังกฤษสุจริตเที่ยงธรรมได้อย่างเป็นที่น่าพอใจ เพราะ พ.ร.บ. การลงคะแนนเสียง ค.ศ. 1872 สามารถลดทอนการคอร์รัปชั่นในการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ยังมีนักการเมืองจำนวนหนึ่งที่ยังคงใช้เงินจำนวนมากในการจูงใจให้คนลงคะแนนเสียงให้พวกเขา 

ดังนั้น เพียง 11 ปีต่อมา นักการเมืองชั้นนำและเป็นนักการเมืองน้ำดีของอังกฤษที่ชื่อวิลเลียม แกลดสโตน (William Gladstone) เห็นว่า การหาเสียงที่เป็นอยู่ของอังกฤษยังไม่เป็นธรรม เมื่อเขาเป็นนายกรัฐมนตรีในปี ค.ศ. 1883 เขาได้เสนอร่างกฎหมายเพื่อหาทางป้องกันไม่ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งใช้อำนาจเงินในการเข้ามาเป็น ส.ส. นั่นคือ การออก พ.ร.บ. การกระทำที่ทุจริต ที่เรียกว่า “Corrupt Practices Act 1883” ที่กำหนดอัตราการใช้เงินของผู้สมัครฯในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง และประกาศห้ามไม่ให้มีการซื้ออาหารหรือเครื่องดื่มแจกแก่ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนน พ.ร.บ. นี้มีข้อกำหนดถึงขนาดที่ว่า จำกัดจำนวนพาหนะที่ใช้ในการขนผู้คนไปที่หน่วยเลือกตั้ง อีกทั้ง ยังมีบทลงโทษที่รุนแรงสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดที่ทำผิด พ.ร.บ. ดังกล่าวนี้ มีทั้งโทษปรับและจำคุก จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 200 ปอนด์ (ลองเทียบดูเองว่า เงินเดือน ส.ส. อังกฤษมีเงินเดือนครั้งแรกในปี ค.ศ. 1911 โดยได้ปีละ 400 ปอนด์) แถมอาจจะมีโทษให้มีการต้องใช้แรงงานหนักด้วยก็ได้ การใช้แรงงานหนักที่ว่านี้ในกฎหมายอังกฤษสมัยนั้นได้แก่ ไปเป็นคนงานในเหมือง, ขุดดินทุบหิน, สร้างถนน, ทำงานในอู่ต่อเรือ เป็นต้น แถมยังถูกตัดสินทางการเมืองเป็นเวลา 7 ปีด้วย

ขณะเดียวกัน พัฒนาการกติกาการเลือกตั้งของอังกฤษก็ไม่ได้จบลงแค่ พ.ร.บ. ปี ค.ศ. 1883 อังกฤษยังจำเป็นต้องออกกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งมาอีกหลายฉบับเพื่อทำให้การเลือกตั้งของเขาสุจริตเที่ยงธรรมจริงๆ และเมื่อมีปัญหาทุจริตใหม่ๆเกิดขึ้นมา ก็ต้องออกกฎหมายใหม่ๆตามมา เพราะนักการเมืองบางกลุ่มก็พัฒนาเล่ห์กลของพวกเขาด้วยเช่นกัน แน่นอนว่า กว่าอังกฤษจะออกกฎหมายพัฒนาการเลือกตั้งขอเขาได้แต่ละฉบับ ก็ยากเย็นแสนเข็ญพอดู 

ขณะเดียวกัน อังกฤษกับไทยต่างกันตรงที่ ของไทยเรา ไม่ค่อยจะเห็นนักการเมืองออกกฎหมายแบบนี้ แต่ต้องรอรัฐประหารแล้วค่อยออก เลยมีข้อเกี่ยงงอนว่าคนออกไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ออก !