สมเหตุสมผล

สมเหตุสมผล

เชื่อว่าคำชี้แจงเช่นนี้ 'ฟังขึ้น' เพราะมีความ 'สมเหตุสมผล' ในการตัดสินใจและการดำเนินการ

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมาผมได้ไปเป็นผู้อธิบายแนวคิดและเนื้อหาของร่างกฎหมายร่วมลงทุน (คือการที่จะให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในกิจการที่เป็นของรัฐ) ฉบับใหม่ในงานสัมมนาที่จัดโดยสำนักงานนโยบายคณะกรรมการรัฐวิสากิจ ในฐานะที่ผมทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายในการจัดทำกฎหมายร่วมลงทุนฉบับใหม่นี้

แนวคิดของกฎหมายร่วมลงทุนฉบับใหม่นี้แตกต่างไปจากกฎหมายร่วมลงทุนฉบับปัจจุบันอยู่หลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่กฎหมายร่วมลงทุนฉบับใหม่จะไม่ใช้บังคับกับโครงการที่หน่วยงานของรัฐให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในทรัพย์สินของตนที่ไม่ใช่โครงการเพื่อให้บริการสาธารณะ เช่น การที่กรมธนารักษ์จะให้เอกชนเข้ามาลงทุนสร้าง 'หอชมเมือง' ในที่ดินของกรมธนารักษ์ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจกันมากในช่วงที่ผ่านมา ไม่ใช่เฉพาะแต่ในเรื่องการเกิด landmark แห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหอสูงสวยงาม มีมูลค่าการลงทุนถึง 4,600 ล้านบาทที่ประชาชนและนักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปชมทัศนียภาพของกรุงเทพมหานครได้อย่างสวยงามเหมือนที่เมืองใหญ่ๆ เขามีกัน โดยจะเป็นสถานที่ถาวรสำหรับการเผยแพร่ 'ศาสตร์พระราชา' อันเกี่ยวเนื่องด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วย แต่เป็นเพราะมีผู้ตั้งประเด็นว่าอาจมีความไม่ชอบมาพากลในการเสนอและอนุมัติโครงการนี้โดยไม่มีการเปิดประมูล

ในสังคมยุคปัจจุบันซึ่งผมเรียกเอาเองว่า 'สังคมยุคตรวจสอบ' นั้น การที่มีผู้สนใจติดตามเรื่องราวต่างๆ และตั้งข้อสังเกตนั้นถือว่ามีประโยชน์มาก หากเป็นไปเพื่อให้ได้รับคำชี้แจงจากบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเมื่อได้รับคำชี้แจงที่ 'ฟังขึ้น' แล้วก็ไม่ได้ติดใจอะไรอีก เพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้ไม่เกิดความเสียหาย

คำชี้แจงจะ 'ฟังขึ้น' ก็ต่อเมื่อมีความ 'สมเหตุสมผล' ซึ่งจะขึ้นอยู่กับเหตุผลที่ชี้แจงนั้นว่าขัดกับสามัญสำนึกหรือหลักคิดหรือหลักการตัดสินใจที่ควรใช้ในเรื่องดังกล่าวโดยสุจริตเมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงและสถานการณ์ในขณะนั้นหรือไม่ ถ้าไม่ขัดก็ถือว่า 'สมเหตุสมผล'

คำชี้แจงของกรมธนารักษ์ในเรื่องนี้ตามที่ปรากฏในสื่อต่างๆ สรุปได้ว่า 'หอชมเมือง' เป็นโครงการเทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 และถือเป็นโครงการประชารัฐตามนโยบายของรัฐบาล เพราะเอกชนที่จะมาลงทุนถึง 4,600 ล้านบาทเพื่อสร้างหอชมเมืองนั้นเป็นมูลนิธิไม่มีวัตถุประสงค์แสวงหากำไรเพื่อประโยชน์ของตนเอง การตัดสินใจไม่เปิดประมูลให้เอกชนรายอื่นมาแข่งขันเพื่อให้ได้ทำโครงการนี้ด้วยนั้นจึงอยู่ในอำนาจของคณะรัฐมนตรีที่มีกฎหมายรองรับ ซึ่งผมอ่านแล้วก็ยอมรับได้ว่าการอนุมัติโครงการนี้เป็นไปโดยการใช้อำนาจตามกติกาแล้ว แต่ผมเห็นว่าคำชี้แจงนี้ไม่ได้ตอบโจทย์ที่ว่ามีเหตุผลอะไรที่ทำให้เลือกตัดสินใจที่จะไม่เปิดประมูล คำชี้แจงนี้จึงยังไม่ "สมเหตุสมผล" ซึ่งก็อาจเป็นเพราะถูกบังคับด้วยรูปแบบของการตอบแบบราชการที่ต้องการให้กระชับไม่ได้มุ่งสร้างความ 'สมเหตุสมผล'

ผมเชื่อว่าเหตุผลที่ทำให้มีการตัดสินใจไม่เปิดประมูลตามสถานการณ์ของเรื่องนี้ คือความเสี่ยงเรื่องเงินลงทุน และเรื่องระยะเวลาแล้วเสร็จของโครงการ

การเปิดประมูลแตกต่างจากการจูงมือกันเข้ามาตรงที่ว่า ถ้าใช้วิธีเปิดประมูล เอกชนที่เคยเสนอตัวที่จะทำโครงการให้ตามวงเงินที่ตกลงกันไว้ (คือ 4,600 ล้านบาทในกรณีนี้) ก็จะเสนอเงินประมูลเพียงเท่าที่คิดว่าจะชนะผู้เข้าร่วมประมูลรายอื่นไม่ต้องสูงไปกว่านั้นมากมายนัก ดังนั้น หากผู้เข้าร่วมประมูลรายอื่นต้องการทำโครงการนี้เพื่อแสวงหากำไร ก็พอจะคำนวณได้ว่าเขาจะยื่นประมูลโครงการด้วยจำนวนเงินลงทุนสูงสุดไม่เกินเท่าไหร่ เพื่อให้สามารถเก็บค่าเข้าชมได้คุ้มทุนและมีกำไรตามสมควรภายในระยะเวลา 30 ปี อันเป็นกำหนดเวลาให้สิทธิเอกชนในการดูแลและดำเนินการ รวมถึงการจัดเก็บรายได้ในเรื่องของ 'หอชมเมือง' นี้ ซึ่งผู้ที่มีความเข้าใจในกิจการประเภทนี้จะพบว่ามีความเป็นไปได้อย่างแน่นอนหรือสูงมากว่าวงเงินลงทุนสูงสุดที่จะมีผู้ประมูลนั้นจะต่ำกว่า 4,600 ล้านบาทมาก ซึ่งกรมธนารักษ์ก็จะต้องออกเงินส่วนที่ขาดอยู่เองหรือต้องเปลี่ยนแบบก่อสร้างให้เล็กลงสวยงามน้อยลง นอกจากนี้ หากการสร้าง 'หอชมเมือง' นี้จะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนดเพื่อให้สอดคล้องกับหมายกำหนดการอื่นๆ ตามแผนการที่วางไว้ของกรมธนารักษ์ การเปิดประมูลย่อมจะทำให้ไม่สามารถรักษากำหนดเวลาเดิมได้ ส่วนการที่จะนำที่ดินแปลงนี้ไปใช้ประโยชน์เพื่อให้เกิดรายได้แก่กรมธนารักษ์ในลักษณะอื่นๆ ก็ไม่อยู่ในวิสัยที่จะทำได้ด้วยสภาพของที่ดินนั้นเองซึ่งเป็นที่ดินผืนไม่ใหญ่นักและไม่มีทางเข้าออก ผมเชื่อว่าคำชี้แจงเช่นนี้ 'ฟังขึ้น' เพราะมีความ 'สมเหตุสมผล' ในการตัดสินใจและการดำเนินการ และผู้ที่ท้วงติงโดยสุจริตย่อมไม่มีข้อกังขาใดๆ อีก เนื่องจากการตัดสินใจดำเนินการในเรื่องนี้ก็เป็นไปตามอำนาจที่ให้ไว้ตามกฎหมายอยู่แล้ว

(In contrast to logic, there is common sense, or still better, the spirit of reasonableness. Lin Yutang)