วารสารศาสตร์แห่งปัญญา: ทางรอดสู่สังคมอารยะ

วารสารศาสตร์แห่งปัญญา: ทางรอดสู่สังคมอารยะ

มื่อสัปดาห์ก่อนมีข่าวแพร่หลายในโซเชียลมีเดียถึงกรณีที่ภาควิชาวารสารศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งจะต้องปิดตัวลงเพราะไม่มีคนเรียน

และต่อมาก็มีการแก้ข่าวว่าเป็นเพียงการปรับโครงสร้างหลักสูตรให้ไปรวมกับอีกสาขา เพื่อให้ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อซึ่งกำลังสร้างผลกระทบกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคอุตสาหกรรม ผู้บริโภค และภาคการศึกษา

อันที่จริง เรื่องของการที่ภาควารสารศาสตร์ (ซึ่งเป็นภาคที่สอนเกี่ยวกับการผลิตข่าวสารออกสู่สาธารณะเป็นวาระและหลายแห่งผูกพันกับสื่อสิ่งพิมพ์) ได้รับความนิยมน้อยจากผู้เรียนเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาเป็นทศวรรษแล้ว สถาบันการศึกษาหลายแห่งได้มีมาตรการปรับตัวต่างๆ อาทิ การควบรวมสาขา การเปิดโครงการรับตรงแบบพิเศษ หรือ การสร้างแรงจูงใจให้เข้ามาเรียนด้วยสัญญาว่าจะมีงานให้ทำเมื่อเรียนจบ เป็นต้น แต่โดยภาพรวม วารสารศาสตร์ก็ยังไม่ค่อยเป็นตัวเลือกสำหรับเด็กที่เข้ามาเรียนในสายนิเทศศาสตร์เท่ากับสาขาอย่าง โฆษณา ประชาสัมพันธ์ ภาพยนตร์ หรือ วิทยุโทรทัศน์

ถ้าสำรวจกันอย่างกว้างขวางจริงๆ วิกฤติการณ์นี้เป็นปรากฏการณ์ระดับสากล และนำไปสู่ผลกระทบอย่างรุนแรงต่อวิชาชีพนักข่าวหรือนักวารสารศาสตร์ในทุกประเทศทั่วโลก ดูตัวอย่างจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งน่าจะเรียกได้ว่าเป็นสังคมที่เฟื่องฟูที่สุดในโลกด้านข่าวสาร และสถานภาพของนักข่าวน่าจะเป็นที่ยอมรับและเป็นอาชีพอันทรงเกียรติมากกว่าที่ใดๆในโลก จากข้อมูลของ Pew Research Center ข่าวทีวีรอบเย็นซึ่งเคยเป็นเนื้อหายอดนิยมที่นำเสนอผ่านช่องโทรทัศน์ที่ออกอากาศระดับชาติอย่าง CBS NBC ABC และ FOX ปัจจุบันมีจำนวนคนดูลดลงกว่าครึ่งในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับทศวรรษ 1980 ขณะที่จำนวนหนังสือพิมพ์ที่ตีพิมพ์ทั่วประเทศก็ลดลงกว่าร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับทศวรรษ 1990 เหล่านี้ นำไปสู่การลดการจ้างงานในอุตสาหกรรมสื่ออย่างต่อเนื่อง ซึ่งอีกส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากการมีอุปกรณ์และเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ในหลายๆลักษณะการทำงาน และการที่เศรษฐศาสตร์แห่งวารสารศาสตร์ยุคดิจิทัลได้ปรากฎโฉมและขยายอิทธิพลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เศรษฐศาสตร์แห่งวารสารศาสตร์ยุคดิจิทัล (economics of digital journalism) สามารถอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายที่สุดตามหลักคิดพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์คือ อุปสงค์ (demand) และ อุปทาน (supply) ในยุคแห่งอินเทอร์เน็ตที่อุปทานของข่าวสารผ่านหน้าเว็บเพจต่างๆมีมากมายมหาศาลและเข้าถึงได้ง่ายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน มูลค่าของข่าวสารเหล่านี้ในเชิงเศรษฐกิจจึงลดน้อยลงไปเรื่อยๆในสายตาของผู้ดู ผู้ชม ผู้ฟัง (audience) ซึ่งปัจจุบันได้กลายสภาพไปเป็น ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต (Internet users) ไปแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้น การขับเคลื่อนของตลาดที่เคยเป็นในรูปแบบที่ผู้ผลิตข่าวสารเป็นผู้กำหนด (supply push) ก็ได้เปลี่ยนไปสู่ลักษณะที่ผู้ใช้หรือผู้บริโภคเป็นผู้กำหนด (demand pull) โดยอาศัยเทคโนโลยีอย่างกลไกการสืบค้น (search engines) และการสามารถเลือกและเข้าถึงเนื้อหาต่างๆหลากหลายรูปแบบ ทั้งตัวหนังสือ เสียง และ วีดิโอ ในเวลาและสถานที่ที่สะดวกและยืดหยุ่นต่อผู้ใช้มากกว่าตามกำหนดเวลาตีพิมพ์ของหนังสือพิมพ์และนิตยสารหรือผังเวลาออกอากาศของวิทยุและโทรทัศน์อย่างที่เป็นมาในอดีต

ในส่วนของข่าวสาร ประเภทของข่าวสารที่วารสารศาสตร์มุ่งนำเสนอ มักจะเป็น”ข่าว” หมายถึง เหตุการณ์ที่เป็นข้อเท็จจริงและเหตุการณ์ปัจจุบันที่มีความสำคัญและเป็นที่สนใจสำหรับสาธารณะ ซึ่งมักนำเสนอตามหลักพื้นฐานที่ว่า เกิดอะไรขึ้น ใครพูดอะไร/ทำอะไร เมื่อใด ที่ไหน อย่างไร และ ทำไม (who, what, when, where, why and how – หลัก 5Ws1H)

เป็นที่น่าสนใจว่า ในยุคที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมีจำนวนสูงกว่ากี่งหนึ่งของประชากรโลก มีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่ใช่นักข่าวมืออาชีพได้อาศัยหลักพื้นฐานดังกล่าวในการนำเสนอ “ข่าว” ของตนสู่สาธารณะผ่านช่องทางออนไลน์ที่เปิดกว้าง และในหลายๆกรณี ทำไปโดยไม่ได้มีมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพเป็นตัวกำกับ ซึ่งก็อาจนำไปสู่ปรากฏการณ์ของ ข่าวลือ ข่าวลวง ข่าวผิดพลาด ข่าวบิดเบือน ข่าวเลือกข้าง และแม้แต่ ข่าวทำลายล้าง ได้ โดยที่ผู้ปล่อยข่าวไม่จำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบใดๆ

ด้วยความท้าทายนานับประการกำลังที่ประสบ วงการวารสารศาสตร์อาจจำเป็นต้องปรับศาสตร์และศิลป์ในการดำรงอยู่เสียใหม่ ในหนังสือ “Beyond news: the future of Journalism” ของ Mitchell Stephens ซึ่งตีพิมพ์เมื่อสามปีที่แล้ว และเป็นหนังสือที่ได้รับการกล่าวถึงกว้างขวางว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเชิงความคิดในวิชาการวารสารศาสตร์ ผู้เขียนซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านวารสารศาสตร์และนิเทศศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ค ได้นำเสนอว่า วิกฤติในปัจจุบันไม่ใช่วิกฤติของข่าว เพราะข่าวยังคงเป็นที่สนใจและมีการเปิดรับมากขึ้นด้วยซ้ำ แต่เป็นวิกฤติของวารสารศาสตร์ซึ่งเขามองว่าผู้ที่เกี่ยวข้องยังคงไม่ปรับเปลี่ยนกระบวนความคิดทั้งในเชิงวิชาการและวิชาชีพเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายใหม่ที่จะสามารถสร้างหลักการและคุณค่าที่จะทำให้วารสารศาสตร์เกิดความยั่งยืนต่อไป

ศาสตราจารย์มิทเชลได้นำเสนอแนวคิด “วารสารศาสตร์แห่งปัญญา” (wisdom journalism) เป็นทางเลือกใหม่สู่อนาคตเพื่อสร้างความแตกต่างของวารสารศาสตร์คุณภาพ (quality journalism)ออกจาก ภาวะที่ “ใครก็เป็นนักข่าวได้” โดยรากของคำว่าปัญญาหรือ wisdom นั้นมาจาก แนวทางแห่งความคิดอ่านอันกอปรไปด้วยความรู้ วิจารณญาณที่ดี ความเข้าใจที่ลึกล้ำ และความหลักแหลม ผู้ที่จะเป็นนักข่าวตามแนวนี้ไม่เพียงมีหน้าที่หลักในการสร้างปัญญาให้สังคม แต่ต้องมีปัญญาเป็นต้นทุนก่อนด้วย การนำเสนอเหตุการณ์ต่างๆไม่ควรจะคงอยู่เพียงในกรอบ 5Ws1H แต่ต้องสามารถวิเคราะห์ได้ด้วยว่า สิ่งที่ได้เกิดหรือกำลังเกิดขึ้นหรือน่าจะเกิดขึ้น สร้างผลกระทบตลอดจนมีทางเลือกอะไรให้กับสังคมบ้าง และทางออกที่ดีที่สุดของสังคมในแต่ละเรื่องคืออะไร

วารสารศาสตร์แห่งปัญญา มีเป้าหมายที่ไปไกลกว่าการผลิตข่าวสู่สาธารณะไปวันๆ หรือ เพียงรายงานว่าอะไรเกิดขึ้น แต่ต้องมีการค้นคว้าและสืบสวนหาข้อมูลในเบื้องลึก อีกทั้งยังต้องเปิดกว้างต่อความคิดและจุดยืนที่แตกต่างในลักษณะมณฑลสาธารณะที่มีการถกเถียงอภิปรายและสร้างวิจารณญาณที่ดีให้สังคมบนฐานของการให้และแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นเหตุเป็นผล

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ที่เป็นนักข่าวต้องมีจิตใจและกรอบคิดที่เน้นความเป็นธรรม และสามารถจะเชื่อใจได้ว่าจะไม่เลือกข้างหรือลำเอียง การนำเสนอเนื้อหาก็ต้องถูกกำกับด้วยกรอบดังกล่าวอย่างเคร่งครัด ขณะที่วิธีการในการได้มาซึ่งข้อมูลต้องวางใจได้ และการสร้างเนื้อหาต้องใช้ความรู้ ประสบการณ์ การสังเกตอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนวิจารณญาณที่ดีเป็นฐาน การนำเสนอประเด็นใดๆต้องมีหลักฐานและข้อเท็จจริงประกอบชัดเจน และต้องได้สัดส่วนกับความสำคัญของประเด็นนั้นๆต่อสาธารณะ ไม่มากไปไม่น้อยไป นอกจากนี้ยังต้องมีตรรกะที่ดี แม้จะเปิดพื้นที่ให้ความคิดเห็นจากมุมต่างๆแต่ก็ต้องจัดระเบียบไว้ภายใต้ตรรกะที่เหมาะสม

วารสารศาสตร์แห่งปัญญามีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับสภาวการณ์โลกปัจจุบันที่กำลังเปลี่ยนแปลง มีความซับซ้อน และความขัดแย้งอยู่ในหลากมิติ การสร้างปัญญาให้สังคมผ่านกระบวนการทางข่าวสารย่อมเป็นการติดอาวุธให้มนุษยชาติสามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืนและมีอารยะ กระนั้นแล้ว สิ่งหนึ่งที่เป็นเงื่อนไขอันจะขาดเสียมิได้เป็นพื้นฐานก็คือ เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพของสื่อ ซึ่งจากมุมมองของตะวันตกย่อมเป็นเสมือนของตาย แต่ในบางสังคมที่เราคุ้นเคย เสรีภาพยังคงเป็นเพียงภาพลวงตา และปัญญายังเป็นของสูงที่สงวนไว้อย่างเคร่งครัด