ใครว่า “นวัตกร” เป็นได้แต่หนุ่มสาว?

ใครว่า “นวัตกร” เป็นได้แต่หนุ่มสาว?

ในยุคที่รัฐบาลไทยส่งเสริมผลักดันให้ทุกภาคส่วนเดินหน้าสู่ความเป็นประเทศไทย 4.0 เรามักจะได้ยินคำว่าความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม กันเป็นประจำ

ทั้งนี้หลายคนอาจจะคิดว่าเรื่องของการสร้างนวัตกรรมน่าจะเป็นเรื่องของคนหนุ่มสาว ยิ่งถ้าเป็นเรื่องของการสร้างธุรกิจใหม่ (Start-upBusiness) หรือธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้วยแล้ว ผู้สูงวัยหลายคนอาจเกิดอาการทดท้อถอดใจออกจากเวทีธุรกิจเกิดใหม่กันง่ายๆเพราะคิดว่าตัวเองแก่เกินจะสร้างเทรนด์ใหม่แข่งกับคนหนุ่มสาว ข้างนายจ้างก็เช่นกัน เมื่อต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยนวัตกรรมก็จะมองหาพนักงานหนุ่มสาวมาแทนที่พนักงานสูงวัย

ก็ไม่น่าแปลกใจที่คนส่วนมากมีความเชื่อแบบนี้เพราะมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก อภิมหาเศรษฐีของโลกได้ก่อตั้งเฟซบุ๊คเมื่ออายุเพียง 19 ปีเท่านั้น  และลาร์รี่ เพจกับเซอร์กีย์ บรินคู่หูผู้ก่อตั้งกูเกิ้ลก็เริ่มธุรกิจของเขาเมื่ออายุเพียง 23 ปี ความสำเร็จของบุคคลเหล่านี้ได้สร้างภาพประทับใจให้กับคนทั่วโลกว่านวัตกรรมมากับวัยหนุ่มสาว ซึ่งในความเป็นจริงแล้วข้อมูลทางสถิติและงานวิจัยต่างๆออกมายืนยันว่าไม่จริงเลย

สัปดาห์นี้ดิฉันจึงออกมาฟันธงให้พนักงานสูงวัยทั้งหลายได้เฮกันว่าความอาวุโสหรือความชราไม่เป็นอุปสรรคต่อการเป็น “นวัตกร” (Innovator) แต่อย่างใด อย่างไรก็ตามอาจมีคำถามว่าคำว่า “พนักงานสูงวัย” นี้หมายถึงพนักงานอายุเท่าไรหรือ? ขอเรียนชี้แจงว่าไม่มีข้อกำหนดแน่นอนค่ะ บางตำราบอกว่าผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไปถือว่าเป็นพนักงานสูงวัยแล้ว แต่บางตำราบอกว่าต้องอายุ 50 ปีขึ้นไป ดังนั้นจึงขอให้ท่านผู้อ่านเลือกแบบที่สบายใจก็แล้วกันนะคะ

หนึ่งในงานวิจัยที่ออกมายืนยันว่าส่วนใหญ่ของเถ้าแก่ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างธุรกิจเกิดใหม่นั้นคือคนที่สูงวัยกว่าคนหนุ่มสาว เจ้าของงานวิจัยชิ้นนี้คือวิเวก วัธวา นักวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยดุ๊คที่มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกา วิเวกรายงานว่า “เถ้าแก่ที่มีอายุสูงกว่าสามารถสร้างบริษัทที่ก้าวหน้ากว่าด้วยเทคโนโลยีและยังสามารถบริหารลูกค้าได้อย่างเหนือชั้น (กว่าเถ้าแก่วัยเอ๊าะ)” นอกจากงานวิจัยของวิเวกแล้วยังมีข้อมูลจากมูลนิธิคอฟฟ์แมนออกมาระบุว่าจำนวนของผู้ที่เป็นเถ้าแก่ในสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่เริ่มขยับไปอยู่ในกลุ่มผู้ที่มีอายุระหว่าง 55-64 ปี และคนกลุ่มอายุนี้ประสบความสำเร็จในการบริหารกิจการมากกว่าคนวัย 20-34 ปี เกือบเป็นสองเท่า คนวัย Baby Boomers ได้ทราบข่าวนี้แล้วคงดีใจกันมากๆและเลิกล้มความคิดที่จะเกษียณแล้วหยุดทำงานเพื่ออยู่บ้านเลี้ยงหลานหรือดูทีวีทั้งวัน ถ้าท่านยังอยากเป็นเถ้าแก่ ท่านยังสามารถเปิดธุรกิจเล็กๆน้อยๆสร้างรายได้และสร้างงานให้ทั้งตนเองและผู้อื่นมีงานทำด้วยได้

นอกจากเรื่องของการสร้างธุรกิจเกิดใหม่แล้ว สำหรับเรื่องเทคโนโลยีคนสูงวัยก็ยังทำได้ดีสมวัยด้วย จากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์เกี่ยวกับบริษัท 500 แห่งที่ทำธุรกิจด้านเทคโนโลยีที่เติบโตเร็วที่สุดของปี 2009 และ 2011 คือบริษัทเฟิร์สโซลาร์ ที่ก่อตั้งโดยนวัตกรวัย 68 ปี ส่วนบริษัทที่ครองอันดับสองในปี 2009 คือบริษัทริเวอร์เบ๊ด เทคโนโลยี เถ้าแก่ผู้ร่วมก่อตั้งมี 2 คน คนหนึ่งอายุ 51 ปี อีกคนอายุ 33 ปี และบริษัทที่ครองอันดับสามในปี 2009 คือ บริษัทคอมเพ็ลเลนท์ เทคโนโลยี ผู้ร่วมก่อตั้งมี 3 คน อายุ 45, 55, และ 58 ปี 

ทั้งนี้แม้จะเป็นตัวเลขการจัดอันดับเมื่อ 7-8 ปีมาแล้ว ปัจจุบันนี้บริษัทเฟิร์ส โซลาร์และริเวอร์เบ๊ค เทคโนโลยีก็ยังดำเนินธุรกิจไปได้ด้วยดี ส่วนเจ้าของคอมเพ็ลเลนท์ เทคโนโลยีได้ขายกิจการให้กับเดลล์ไปแล้วด้วยราคาที่ดีเยี่ยม ไม่เพียงแต่ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่คนสูงวัยทำได้ดีกว่าคนหนุ่มสาวในการสร้างธุรกิจเกิดใหม่และดำเนินธุรกิจด้านไฮ-เทค ในประเทศเยอรมนีก็เช่นเดียวกัน เบอร์กิต เวอร์วองค์ นักเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเดรสเดนได้ทำการศึกษากรณีศึกษาของบริษัทขนาดใหญ่บิ๊กบึ้มบริษัทหนึ่งพบว่าพนักงานสูงวัยไม่เพียงแต่จะมีความคิดที่แจ่มแจ๋วในการปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเท่านั้น พวกเขายังสร้างนวัตกรรมที่สร้างรายได้ให้กับบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นบริษัทนี้ซึ่งเคยมีนโยบายโละพนักงานสูงวัยด้วยการสนับสนุนให้พวกเขา “เออร์ลี่รีไทร์” ก็ได้ล้มเลิกนโยบายนี้ไปแล้ว

ตัวอย่างและข้อมูลต่างๆที่ดิฉันนำเสนอมานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้กำลังใจและความมั่นใจแก่ผู้สูงวัยตลอดจนบรรดานายจ้างว่าพนักงานสูงวัยไม่ใช่คนที่ล้าหลังหมดสภาพไร้ซึ่งความคิดสร้างสรรค์ แต่พนักงานสูงวัยยังไฟแรงถ้านายจ้างรู้จักจิตวิทยาในการจูงใจและมีหลักการที่เหมาะสมในการจัดระบบผลตอบแทนที่ถูกใจพนักงานสูงวัย อย่าคิดว่าการจ้างพนักงานวัยหนุ่มสาวจะเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องเสมอไปว่าพวกเขาจะเป็นนวัตกรสร้างนวัตกรรมให้องค์กรได้มากกว่าคนสูงวัย แท้ที่จริงแล้วพนักงานทุกวัยสามารถเป็นนวัตกรผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ดีมาให้องค์กรได้ทั้งสิ้นหากผู้บริหารเข้าใจว่าคนแต่ละวัยมีจุดเด่น จุดด้อย มีความสนใจและต้องใช้ปัจจัยอะไรจึงจะจูงใจให้พวกเขาอยากทำงาน สรุปก็คือต้องมีหลักการบริหารบุคคลที่เหมาะสมนั่นเอง