การลงทุนหุ้นไทยแบบ 4.0

การลงทุนหุ้นไทยแบบ 4.0

การลงทุนหุ้นไทยแบบ 4.0

ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารเข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็ว โลกของการลงทุนอยู่เพียงแค่ปลายนิ้ว ข้อมูลข่าวสารไม่ได้เข้าถึงยากเหมือนในอดีต ส่วนหนึ่งเพราะการเข้ามาของ 4G ทำให้มี Application ที่เกี่ยวกับการลงทุนใน “หุ้น” มีออกมาให้เลือกใช้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Application จากทางฝั่งโบรกเกอร์เอง หรือจากตลาดหลักทรัพย์ อีกทั้งส่วนใหญ่ยังเปิดให้ใช้ฟรี และแม้กระทั่ง Application ที่ใช้ในการแชท เช่น “Line” ก็ยังสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับเรื่อง “หุ้น” ซึ่งแทบจะเป็นข้อมูลแบบเรียลไทม์ ทำให้นักลงทุนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ต้องใช้ในการตัดสินใจได้ง่าย, ทันท่วงที และแทบไม่แตกต่างกับนักลงทุนสถาบัน และที่สำคัญที่สุด คือ สามารถเรียกดูได้เพียงปลายนิ้วสัมผัสจาก Smart phone ได้เลย 

การลงทุนแบบ 4.0 แม้ข้อมูลข่าวสารเข้าถึงได้ง่าย แต่ใช่ว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จจากการลงทุนได้โดยง่าย ดังนั้น นักลงทุนควรต้องมีกระบวนการวิเคราะห์ที่เป็นขั้นเป็นตอนด้วย ได้แก่

วิเคราะห์ตนเอง: ก่อนการลงทุนนักลงทุนควรทำการวิเคราะห์ตนเองเพื่อสรุปให้ได้ว่าตัวเองมีความเหมาะสมกับการลงทุนในรูปแบบใด อาทิ ชอบ/เชื่อมั่น/เชี่ยวชาญการดูกราฟก็ให้เลือกลงทุนตามสัญญาณทางเทคนิค, ชอบดูข้อมูลเชิงลึก ก็อาจเลือกลงทุนตามข้อมูลในเชิงพื้นฐาน เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว ยังต้องไม่ละเลยการประเมินความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ความคุ้มค่าสำหรับการลงทุนต่อไป

วิเคราะห์ข้อมูล: ข้อมูลการลงทุนที่หาดูได้ง่ายเพียงปลายนิ้วสัมผัสจาก Application ต่างๆ ช่วยทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลทำได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนโดยใช้ข้อมูลเชิงพื้นฐานก็อาจมองหาข้อมูลจากงบการเงินอย่างทิศทางการเติบโตยอดขายและกำไรของบริษัท รวมถึงอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญเพื่อทำการเปรียบเทียบกับธุรกิจในกลุ่ม หรือการเลือกลงทุนตามสัญญาณทางเทคนิค ก็สามารถเลือกใช้ฟังก์ชั่นการกรองหุ้นจากเครื่องมือทางเทคนิคต่างๆ ที่พบสัญญาณการซื้อ/ขายที่เพิ่งเกิดขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว นักลงทุนยังสามารถใช้ตัวช่วยอย่างการอ่านบทวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์ที่จะมีการออกบทวิเคราะห์ผลการดำเนินงานของบริษัทในแต่ละไตรมาส รวมถึงยังมีบทวิเคราะห์ผลกระทบจากข่าว ที่จะส่งผลต่อบริษัท หรือส่งผลต่อการปรับประมาณการและราคาเป้าหมายได้อีกด้วย

วิเคราะห์ความคุ้มค่าการลงทุน: สุดท้ายนี้ก่อนทำการลงทุนควรประเมินความเสี่ยงและผลตอบแทนที่เหมาะสมโดยอาจใช้ RRR (Risk Reward Ratio) ที่ใช้วัดความคุ้มค่าในการลงทุน ตัวอย่างเช่น เข้าซื้อ หุ้น XYZ ที่ ราคา 10 บาท เป้าหมายการทำกำไร 12 บาท (Reward = 20%) และมีจุด Stop loss ที่ 9 บาท (Risk = 10%) เมื่อ Reward มีค่ามากกว่า Risk ก็คุ้มค่าที่จะเข้าลงทุนได้ เป็นต้น

การลงทุนในยุค 4.0 อาจดูเป็นเรื่องง่าย แต่ก็เป็นเพียงในแง่การเข้าถึงข้อมูลและข่าวสารเท่านั้น หากแต่การลงทุนที่จะประสบผลสำเร็จให้มีกำไรอย่างยั่งยืนยังคงต้องอาศัยการกระบวนการวิเคราะห์ที่มีหลักการตามขั้นตอน และการรักษาวินัยการลงทุนที่ตั้งไว้ด้วยเป็นสำคัญ