ลักษณะหุ้น กับตราสารหนี้ที่ไม่น่าออม

ลักษณะหุ้น กับตราสารหนี้ที่ไม่น่าออม

ลักษณะหุ้น กับตราสารหนี้ที่ไม่น่าออม

ช่วงหลังเริ่มมีประเด็นเรื่องการลงทุนในตั๋ว BE ตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีปัญหาเบี้ยวหนี้หรือ default มากขึ้น ซึ่งแน่นอนทำให้ผู้ลงทุนได้รับความเสียหาย มีหลายบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ วันนี้เลยขอเสนอว่า หุ้นลักษณะไหนไม่น่าออม ตราสารหนี้บริษัทไหนควรหลีกเลี่ยง

สภาพคล่องไม่ดี

สภาพคล่อง เปรียบเสมือนเงินในลิ้นชักมีเข้ามีออกตลอดเวลาซึ่งเป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจค้าขาย ไม่น่าเชื่อว่าธุรกิจส่วนใหญ่ที่มีปัญหาไม่ได้เกิดจากกำไรไม่ดี หรือค้าขายไม่ได้ แต่ปัญหาส่วนใหญ่คือเรื่องสภาพคล่องที่มีไม่พอเลี้ยงดูกิจการ โดยทั่วไป ถ้ามีเงินเข้ามากกว่าออก ก็คือสภาพคล่องดีมีเหลือ อย่างนี้ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเข้ามีน้อยออกมีมากอย่างนี้อาจจะขาดสภาพคล่องได้ และถ้าไม่สามารถไปหาสภาพคล่องมาจุนเจือ(กู้มาหรือเพิ่มทุน) ธุรกิจอาจติดขัดได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญของสภาพคล่อง คือเงินสดหรือสิ่งที่ใกล้เคียงเงินสด ของบริษัทมีมากพอชำระหนี้ระยะสั้นหรือไม่ เงินสำรองเงินสดของบริษัทจะเพียงพอหรือไม่ ดังนั้นในฐานะนักลงทุนก็ควรจะตรวจสอบสภาพคล่องของบริษัท ซึ่งคำนวณจากสินทรัพย์หมุนเวียนมีสัดส่วนเท่าใดเมื่อเทียบกับหนี้สิน อัตราส่วนสภาพคล่อง (Current Ratios) = สินทรัพย์หมุนเวียน (Current Assets) / หนี้สินหมุนเวียน (Current Liabilities) โดยหากค่าอัตราส่วนสภาพคล่อง มีค่าต่ำกว่า 1 เท่า แสดงถึงว่าบริษัทมีสภาพคล่องไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ระยะสั้น แล้วอัตราส่วนสภาพคล่องมีค่าเท่าไรถึงดี คำตอบ คือ ถ้าจะให้ปลอดภัยควรมีค่ามากกว่า 1 เท่า ขึ้นไป

มี D/E หนี้สินสูง

แหล่งเงินของบริษัทนั้น มาจาก 2 สถาน ซึ่งก็คือเงินทุน + เงินกู้ การกู้นั้นมีข้อดีคือ มีต้นทุนต่ำกว่าเงินทุน ซึ่งถ้าหากำไรได้มากพอจ่ายดอก สามารถเพิ่มผลตอบแทนให้กับส่วนผู้ถือหุ้นได้ ที่เรียกว่าเพิ่มอัตราทดหรือ Gearing ตัวอย่างเช่น ควักเงินทุนมา 100 บาทค้าขายทำกำไรได้ 10 บาท กำไรต่อผู้ถือหุ้นคือ 10%(10/100) แต่ถ้าควักเงินทุนมา 50 บาท กู้มาอีก 50 บาท ขายได้กำไร 10 บาทเหมือนกัน แต่กู้มามีต้นทุนคือดอกเบี้ย สมมติว่า 3 บาท กำไรหลังดอกเบี้ยจะเหลือ 7 บาท กำไรต่อผู้ถือหุ้นจะเป็น 7/50 = 14% เพิ่มขึ้นจากเดิม 10% นี่เป็นประโยชน์ที่ได้จากการกู้แต่อย่าลืมการกู้มีดอกเบี้ยที่แน่นอนที่ต้องจ่าย แต่กำไรอาจจะไม่แน่นอนมีขึ้นมีลง มีความเสี่ยง ดังนั้นยิ่งกู้มากยิ่งเพิ่มความเสี่ยงทางการเงิน ใส่เกียร์มากไปอาจแหกโค้งได้ ธุรกิจมีปัญหา รายได้มีไม่พอจ่ายดอกเบี้ย ฟ้องร้องจนถึงขั้นล้มลายหนี้สินล้นพ้นตัว อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Debt to Equity) = Total Debt / Equity x 100 แต่ละธุรกิจสัดส่วนที่เหมาะสมคงต่างกันไปแต่เอากลางๆ ประมาณ 1 เท่า ต้นๆกำลังดี

 กระแสเงินสดติดลบ

งบกระแสเงินสด แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน เป็น เงินสดรับจ่ายที่เกิดจากการดำเนินงาน ควรมีค่าเป็นบวก แสดงถึงมีความสามารถในการดำเนินงาน และมีสภาพคล่อง

กระแสเงินสดจากกิจกรรมการลงทุน ถ้าค่าเป็นลบ ไม่แปลกเพราะข้อมูลส่วนนี้จะแสดงถึงว่า บริษัทจ่ายเงินลงทุนไปกับอะไรบ้างในอนาคต เช่น ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์

กระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงิน โดยเกิดจากกระแสเงินสดไหลเข้าหรือออก จากการเปลี่ยนแปลงของหนี้สินจากธนาคาร หรือหนี้สินระยะยาว / กระแสเงินสดไหนออกจากเงินปันผลจ่าย

ปัญหามักจะอยู่ที่กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ติดลบอย่างต่อเนื่องทุกปี อันนี้มีปัญหาเพราะค้าขายไปตัวเลขมีกำไร แต่ไม่มีเงิน เมื่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานติดลบไปเรื่อยๆหลายๆปีก็ต้องดิ้นรนไม่ว่าจะการกู้เงินหรือเพิ่มทุนไปเรื่อยๆ(กระแสเงินสดจาการจัดหาเงินจะเป็นบวก) หรือขายทรัพย์(กระแสเงินสดจากการลงทุนเป็นบวก) ซึ่งถ้าออกมาลักษณะนี้ต้องระวัง เพราะสุดท้ายธุรกิจไม่สามารถสร้างเงินสดได้ จะสร้างปัญหาได้ในอนาคต ต้องหลีกเลี่ยง

 จบด้วยวงจรเงินสดไม่ดี

วงจรเงินสดเกิดจาก ระยะเวลากว่าสินค้าจะขายได้ + ระยะเวลาเก็บเงินจากลูกค้า – ระยะเวลาชำระหนี้การค้า เรียกได้ว่า คนทำธุรกิจนั้นก็อยากขายของ และรับเงินเร็วๆ จากลูกค้า และชำระหนี้การค้าช้าๆ ถ้าวงจรเงินสด ยิ่งกินระยะเวลาวันมาก..เงินยิ่งจม กว่าจะได้รับเงินนาน อาจทำให้ต้องไปกู้แสดงว่า ระยะเวลายิ่งสั้นยิ่งดี

ทั้งหมดท่านสามารถ ไปดูตัวเลขได้ที่เวปไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ ได้ที่ www.set.or.th > ระบุชื่อหุ้นที่ต้องการ ลงในช่อง Get Quote > เลือกเมนู บริษัท/หลักทรัพย์ จากนั้นเลือก “สรุปข้อมูลสนเทศบริษัทจดทะเบียน” ซึ่งพอจะเป็นเครื่องมือตรวจเช็ค ป้องกันความเสียหายเบื้องต้นได้

ที่มาข้อมูล : เครดิต ส่วนงานค้าตราสารหนี้และหน่วยลงทุน