พร้อมแค่ไหนกับยุค 4.0

พร้อมแค่ไหนกับยุค 4.0

ก่อนที่บ้านเราจะประกาศเดินหน้านโยบายไทยแลนด์ 4.0 นั้นผมเคยจับตาดูนโยบายที่คล้าย ๆ กันของประเทศอื่นมาก่อน

นั่นคือเยอรมนี ที่เคยประกาศนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 เมื่อปี 2013 และมุ่งพัฒนาประเทศมาในแนวทางดังกล่าวถึงปัจจุบัน

เยอรมนนับยุค 1.0 ตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกด้วยเครื่องจักรไอน้ำ รวมถึงรถไฟซึ่งเป็นรากฐานการขนส่งอันทันสมัยเมื่อกว่าร้อยปีที่แล้ว ก่อนจะเข้าสู่ยุค 2.0 ด้วยกระบวนการผลิตอันทันสมัยด้วยพลังงานไฟฟ้าก่อให้เกิดโรงงานอุตสาหกรรมผลิตสินค้าได้ทีละมาก ๆ ขยายตลาดได้ทั่วโลก

ตามด้วยยุค 3.0 ที่คอมพิวเตอร์เข้ามามีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจโดยเฉพาะระบบออโตเมชั่นที่ปฏิวัติระบบการทำงานให้ทันสมัยมากขึ้น และตั้งเป้าเข้าสู่ยุค 4.0 ที่ทั้งระบบจะถูกปฏิวัติเข้าสู่ยุคไซเบอร์ที่คอมพิวเตอร์เข้ามาเชื่อมโยงการทำงานเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งหมด

สำหรับไทยแลนด์ 4.0 ผมเชื่อว่าผู้อ่านทุกท่านคงได้อ่านข่าวคราวเรื่องนี้กันมามากแล้วเพราะนับตั้งแต่เราประกาศเอาจริงกับดิจิทัลอีโคโนมี และมีการส่งเสริมเทคโนโลยีไฮเทคเหล่านี้แบบจริงจังรวมถึงงบประมาณสนับสนุนสตาร์ทอัพเป็นจำนวนมากได้ก่อให้เกิดการตื่นตัวครั้งใหญ่ในบ้านเรา

เมื่อปรับเปลี่ยนนโยบายมาสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยกำหนดเครื่องจักรหลักที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ 5 ตัวนั่นคือ ภาคอาหารการเกษตรและไบโอเทคโนโลยี ภาคบริการสุขภาพและไบโอเมดิคอล ภาคเทคโนโลยีหุ่นยนต์แมคคาทรอนิคส์ ภาคสมองกลฝังตัว (IoT) และสุดท้ายคือนวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์และวัฒนธรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่ม

ทั้ง 5 ด้านเหล่านี้ล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่เรามีความโดดเด่นและเชี่ยวชาญ และมีศักยภาพที่เติบโตสู่ระดับโลกได้หากมีการยกระดับทุกอุตสาหกรรมเหล่านี้ขึ้นพร้อม ๆ กัน เพราะไม่ว่าจะเป็นอาหารที่เราเองมีสถานะเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของโลกอยู่แล้วและยังเคยมีเป้าหมายการเป็นครัวโลกด้วยก็ยิ่งผลักดันต่อได้ไม่ยากนัก

เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการเกษตรที่เราเคยโดดเด่นแต่อาจขาดความต่อเนื่องในการพัฒนาหากประยุกต์ใช้เทคโนโลยีได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้นก็น่าจะผลักดันให้อุตสาหกรรมการเกษตรขยายตัวขึ้นได้เช่นเดียวกัน

รวมไปถึงความเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของไทยที่ต่างชาติใช้เป็นฐานในการรักษาตัวและฟื้นฟูสุขภาพมานานแล้ว ซึ่งเมื่อทั้งหมดนี้ใช้เทคโนโลยีเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกันก็จะยิ่งทำให้ขยายผลและสร้างความเติบโตได้อีกมหาศาล

เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยยังมีช่องว่างให้เติบโตอีกมาก หากพิจารณาการประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF จะพบว่าเรามีตัวเลขการเติบโตโดยเฉลี่ยใน 3 ปีข้างหน้าเพียง 3.0%-3.2% เท่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศอาเซียนที่ประเมินไว้ประมาณ 5.8%

ในขณะที่อินเดียถือว่ามีอัตราการเติบโตสูงต่อเนื่องที่สุดในโลก ตามมาด้วยจีนที่แม้จะลดความร้อนแรงลงมาแล้วก็ยังคงเติบโตมากกว่า 6% ไปจนถึงปี 2020 การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนประเทศจึงถือเป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว

แต่ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นจากต่างประเทศอาจต่างจากที่เราประเมินกันเองภายในประเทศมากพอสมควรเพราะแม้เราจะมีความฝัน มีความตั้งใจ แต่ทรัพยากรที่เราขาดแคลนมากที่สุดคือ “คนที่มีคุณภาพ” สอดคล้องกับความต้องการของการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมในอนาคต ก็อาจกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ไปไม่ถึงเป้าหมายที่ต้องการได้