ทิศทางการเมือง หลังคดีจำนำข้าว

ทิศทางการเมือง หลังคดีจำนำข้าว

ปกรณ์ พึ่งเนตร

วันพิพากษาคดีจำนำข้าวของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังกลายเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะชี้ทิศทางการเมืองไทยว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

เรื่องปรองดองคงไม่ต้องพูดถึง เพราะร่างสัญญาประชาคมที่รัฐบาลทำกันมา พอนำไปฟังความเห็นในเวทีต่างจังหวัด ก็มีเสียงท้วงติงหนาหูแทบทุกเวที เพียงแต่เสียงเหล่านี้ไม่ได้หลุดมาเป็นข่าวในสื่อกระแสหลักมากมายนัก

แต่แม้จะไม่เป็นข่าว มันก็สะสมเป็นความคับข้องใจ และค่อยๆ ขยายเป็นความไม่พอใจ รอสิ่งที่เรียกกันว่า “ไม้ขีดไฟก้านเดียว”

วันก่อนมีข่าวลับที่รายงานกันในหน่วยงานความมั่นคงว่า มีสมาชิกผู้ก่อเหตุรุนแรงจากหลายอำเภอของ จ.ปัตตานี จำนวนมากกว่า 10 คน กระจายกันขึ้นรถไฟเดินทางออกนอกพื้นที่ ปลายทางกรุงเทพมหานคร ผ่านมาหลายวันแล้ว บุคคลเป้าหมายยังไม่ได้เดินทางกลับ จึงมีการคาดการณ์ว่าอาจเป็นการพยายามก่อเหตุนอกสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในห้วงใกล้วันพิพากษาคดีจำนำข้าว เพื่อเบี่ยงเบนประเด็นให้เป็นเรื่องการเมือง

การก่อเหตุนอกดินแดนปลายด้ามขวาน เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อวันสำคัญของเดือน ส.ค.ปี 59 นั่นก็คือเหตุระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน นับรวมได้เกือบ 20 จุด จนป่านนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่ามูลเหตุจูงใจของพวกเขาเหล่านั้นคืออะไร เป็นแก๊งรับจ้างสร้างสถานการณ์เพื่อสั่นคลอนอำนาจ คสช. หรือเป็นกลุ่มที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนขยายพื้นที่ปฏิบัติการ หรือทั้งสองมูลเหตุรวมกัน

เมื่อยังสรุปไม่ได้ว่า “ไฟใต้” หรือ “การเมือง” เป็นมูลเหตุขับเคลื่อนปฏิบัติการ ข่าวลับเล็กๆ ชิ้นนี้จึงมีน้ำหนักน่าติดตาม และน่าจะพอชี้แนวโน้มสถานการณ์ช่วงเดือน ส.ค.นี้ได้อยู่เหมือนกัน

ผมเพิ่งได้คุยกับอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายประจำที่เคยรับผิดชอบงานด้านความมั่นคงในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เขาประเมินว่า “ท้องหิว” และ “ความอยุติธรรม” คือชนวนการลุกฮือของมวลชนในทุกพื้นที่ขัดแย้งทั่วโลก

วันนี้เศรษฐกิจระดับรากหญ้า นอกเหนือจากภาคการท่องเที่ยว เรียกได้ว่า “ตายสนิท” หากคดีจำนำข้าวอธิบายไม่ได้ในแง่ของความยุติธรรม เพราะมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้ หมุดหมายวันที่ 25 ส.ค.อาจท้าทายอย่างยิ่งต่อรัฐบาลทหารว่าจะคุมสถานการณ์ให้สงบราบคาบได้ต่อไปหรือไม่