นำเข้าแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตัน ประโยชน์อยู่ที่ใคร?

นำเข้าแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตัน ประโยชน์อยู่ที่ใคร?

มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)วันที่ 31 ก.ค.2560 เห็นชอบหลักการและแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติทั้งระบบ

โดยดำเนินโครงการนำร่องทดสอบระบบต่างๆ ในระยะที่ 1 ซึ่งมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เป็นผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี)รายใหม่ ปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี และเริ่มจัดหาภายในปี 2561 เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดแข่งขันเสรีเต็มรูปแบบในอนาคต

มตินี้เป็นการวางแผนของภาครัฐ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความต้องการใช้แอลเอ็นจีเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นในอนาคต หรือ ตามแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี2558-2579 (Gas Plan 2015)ไทยจะต้องนำเข้าแอลเอ็นจี ในปลายแผนปี2579 อยู่ที่ 34 ล้านตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 4 แสนล้านบาท ซึ่งประเมินจากราคานำเข้าแอลเอ็นจีเฉลี่ยปี 2559 อยู่ที่ประมาณ 7 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู

รัฐจึงต้องเพิ่ม“ผู้เล่นรายใหม่”ในธุรกิจแอลเอ็นจี ลดข้อครหาว่า ปตท.เป็นผูกขาดธุรกิจก๊าซ และยังส่งสัญญาณถึง ปตท. ต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพเจรจาจัดซื้อแอลเอ็นจีในราคาที่แข่งขันมากขึ้น เพราะต่อไปแอลเอ็นจีนำเข้าจะมีตัวเปรียบเทียบราคาจากผู้เล่นรายใหม่ ซึ่งก็คือ กฟผ. ซึ่งหากผู้จัดหาก๊าซทุกรายแข่งขันกันอย่างมีประสิทธิภาพผู้ประชาชนก็ได้ประโยชน์ที่สะท้อนผ่านค่าไฟฟ้าในอนาคต

โจทย์ใหม่นี้ ท้าทาย กฟผ. ที่เดิมเป็นเพียงผู้จัดหาและผลิตไฟฟ้าป้อนความต้องการใช้ในประเทศ แต่ต้องมาศึกษาและวางแผนนำเข้าแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตัน แม้จะเป็นปริมาณไม่มากเมื่อเทียบกับสัญญาซื้อแอลเอ็นจีระยะยาวของปตท.ในปัจจุบันที่มีอยู่ 5.2 ล้านตันต่อปี แต่ความยากของการจัดหาแอลเอ็นจีล็อตนี้ อยู่ที่ ราคา เพราะหาก กฟผ.จัดหาแอลเอ็นจีล็อตนี้ได้ในราคาถูกกว่าปตท.จะเป็นการพิสูจน์ฝีมือและเพิ่มโอกาสชิงส่วนแบ่งโควตานำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้น และมูลค่านำเข้าอาจต่ำกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ซึ่งประโยชน์จะตกกับผู้ใช้ไฟฟ้าโดยตรง

ทางกลับกัน หาก กฟผ.ซึ่งเป็นผู้เล่นรายใหม่ นำเข้าแอลเอ็นจีในราคาที่แพงกว่าปตท.ผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ใช่กฟผ.แต่เป็นประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ ที่ต้องแบกรับภาระสะท้อนผ่านการจ่ายค่าไฟฟ้าในราคาแพงขึ้น และกฟผ.อาจถูกตัดสินโควตานำเข้าแอลเอ็นจีในอนาคต  

ดังนั้น ก่อนจะเข้าสู่การดำเนินโครงการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซฯระยะที่2และ3 ที่จะเป็นการเปิดเสรีเต็มรูปแบบนั้นคงต้องฝากให้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลจะต้องวางหลักเกณฑ์และกติกาต่างๆ เพื่อติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานของผู้จัดหาก๊าซให้เป็นไปอย่างโปร่งใส่และเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย เพราะนโยบายนี้มีผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศเป็น ตัวประกัน