Marketing ๔.๐

Marketing ๔.๐

วันนี้ผมจะพูดถึงการทำตลาดยุคใหม่ ซึ่งผมว่าสิ่งที่น่าสนใจในการที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า คือ การเปลี่ยนรูปแบบการทำการตลาดแบบใหม่

ให้มันแตกต่างจากที่เราทำกันมา และนั่นก็คือเหตุผลที่ผมตั้งใจเขียนหัวข้อคอลัมน์ครั้งนี้เป็นภาษาอังกฤษผสมกับเลขไทย เพื่อให้เจ้าความแปลก และดูแตกต่างนี้ ดึงดูดสายตาคนอ่านมากกว่า คำว่า Marketing 4.0 

...จริงไหมล่ะครับ!

สำหรับรายได้ของประเทศไทยที่มาจากการท่องเที่ยวนั้นมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการมาเข้าร่วมประชุม การมานิทรรศการ รวมถึงการมารักษาพยาบาลในบ้านเรา และรายได้อีกอย่าง คือ การส่งออกสินค้าที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย ถ้าเป็นสินค้าด้านเกษตรกรรมอันนี้ถือว่า Made in Thailand ของจริง 

แต่ถ้าเป็นสินค้าอุตสาหกรรม อย่างการส่งออกรถยนต์ สิ่งที่เราได้จริงๆ คือ แค่ค่าแรงในการประกอบรถยนต์แต่ละคันเท่านั้น และการทำการตลาดของสินค้าเหล่านี้ ก็เป็นภาคเอกชนทำล้วนๆ ซึ่งเราอาจจะต้องมานั่งวิเคราะห์กันดีๆ ว่าเราได้เงินมากน้อยเพียงใด 

กลับมาที่ Marketing ๔.๐ ของประเทศไทย ที่คงต้องมีการปรับใหญ่เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศไปสู่จุดหมายเดียวกัน วันนี้ต้องบอกเลยหลายๆ หน่วยงานของประเทศไทยเรา ส่วนใหญ่ยังทำการตลาดแบบโบราณ 

ขอยกตัวอย่าง สปอตโฆษณาใน CNN ซึ่งจะเห็นบ่อยมาก เพราะเราเชื่อว่า CNN มีคนชมทั้งโลก ถึงจะซื้อพื้นที่โฆษณาแพงอย่างไรก็คุ้ม ซึ่งหลายหน่วยงานของเราก็ใช้ CNN เป็นสื่อในการโปรโมทประเทศกันมาตลอด หรืออาจจะเป็นการทำการตลาดโดยการออกไปทำเทรดแฟร์ต่างๆ ทั่วโลก เรียกว่าส่วนใหญ่จะเป็นการให้เงินสนับสนุนแก่บริษัทต่างๆ ไปออกบูธต่างประเทศ หรือจัดงานขึ้นมาเองเลย 

ในประเทศก็มีเราใช้วิธีแบบนี้กันมาร่วม 30 ปีแล้ว ซึ่งมันก็น่าจะถึงเวลาที่เราควรจะลองทำการตลาดแบบใหม่ๆ ดูอย่างในประเทศ CLMV นั้น แทนที่เมื่อก่อนเราทำเพียงแค่ให้เงินบริษัทคนไทยไปออกบูธเพียงเท่านั้น แต่เราลองเปลี่ยนมาใช้สิ่งที่เรียกว่า Soft Power ซึ่งก็คือการเข้าไปทำให้เขารู้สึกชื่นชมเราเพิ่มมากขึ้น เช่น เลือกรายการโทรทัศน์ ละคร หรือภาพยนตร์ที่ดังๆ และน่าสนใจไปฉายในประเทศเหล่านี้ หรือจะสนับสนุนการผลิตสารคดีดีๆ เพื่อให้ไปขายมาตรฐานแบบอินเตอร์ไปเลย 

วันนี้คนที่มีฝีมือผลิตสารคดีในบ้านเราอาจจะไม่มีทุนมากพอที่จะทำในระดับมาตรฐานแบบอินเตอร์ เราก็ให้เงินสนับสนุน โดยคัดเลือกเนื้อหาที่เป็นการนำเสนอประเทศไทยในทางตรงหรือทางอ้อมก็ได้ เหมือนภาพยนตร์ต่างประเทศที่มาถ่ายทำในประเทศไทยก็ต้องเน้นว่าถ่ายให้คนดูเห็นว่าเป็นประเทศไทย มีความเป็นไทย ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ฉากหนึ่งฉาก 

อย่างทำเป็นฉากสงครามเวียดนาม ฉากสงครามในเขมร แบบนี้ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่มีใครทราบอยู่ดีว่าเป็นประเทศไทย แต่อย่างใครที่เคยดูภาพยนตร์จีนเรื่อง ‘Lost in Thailand’ จะเห็นว่าเรื่องนี้ขายประเทศไทยเต็มๆ จนกลายมาเป็นสาเหตุให้เชียงใหม่กลายเป็นเมืองฮิตของนักท่องเที่ยวจีนไปอีกเมือง 

นี่ล่ะครับเป็นการทำการตลาดอีกรูปแบบหนึ่งที่ประเทศอื่นๆ เขาทำกันมานานแล้ว แต่เราไม่เคยคิดจะทำกัน หรืออย่างคลิปโปรโมท ‘I Hate Thailand’ ที่ททท. ทำออกมา ซึ่งก็ถือว่าเป็นกระแสระดับหนึ่งเลยในช่วงนั้น เพราะมีความแปลก และความสนุกสนาน เป็นคอนเทนต์ดีๆ ที่ไม่ได้ขายของกันแบบโต้งๆ นี่ก็ถือเป็นการตลาดในโลกยุคใหม่ที่เน้นคอนเทนต์ที่น่าสนใจ มีการปรับตัวตามพฤติกรรมผู้คนในยุค 2017 ไม่ใช่ทำแค่เพียงซื้อสื่อที่อาจจะมีคนเห็นเยอะ แต่ถึงเวลาที่ฉายแล้วอาจไม่มีใครสนใจก็ได้ เพราะไม่ดึงดูดมากพอ แต่ถ้าคอนเทนต์ของเราดี และน่าสนใจ ถึงอย่างไรก็มีคนตามมาดูอยู่ดี

การได้เดินทางไปทำงานต่างประเทศบ่อยๆ ทำให้ผมได้เห็นโลกของการทำการตลาดเพื่อช่วงชิงความสนใจจากผู้บริโภคมากขึ้น และเมื่อกลับมามองที่ประเทศไทยของเราแล้ว ก็ต้องบอกเลยว่าเรายังพัฒนาได้อีกหลายสเต็ปครับ หากจะเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 อย่างจริงจัง เพราะฉะนั้นการพัฒนาบุคลากรในหน่วยงานต่างๆ ของประเทศให้มีความรู้ความเข้าใจในโลกของการทำการตลาดยุคใหม่ที่เป็นการทำตลาดแบบ Emotional ไม่ใช่การทำการตลาดแบบ Functional อีกต่อไป 

นั่นก็ควรเป็นเรื่องที่เราต้องไฮไลท์ไว้เลยล่ะครับ