หนังปล้นเงินกับแบงก์มีกำไร และสภาพเศรษฐกิจไทย?

หนังปล้นเงินกับแบงก์มีกำไร และสภาพเศรษฐกิจไทย?

ภาพสะท้อนเศรษฐกิจไทยเป็นเช่นไร ก็คงเห็นว่ามีแต่การคาดการณ์แนวโน้มจะดีขึ้น แต่ความเป็นจริงในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา อาจมีหลายคนตั้งถามอยู่ในใจ..!?

เปรียบเทียบสถิติการจี้หรือปล้นธนาคารในช่วงครึ่งปีนี้ (2560) ซึ่งมีให้เห็นเป็นข่าวแทบทุกเดือน ยกตัวอย่าง ปล้นกสิกรไทย สาขา Big C ราษฎร์บูรณะ 13 ก.พ. 2560, ปล้นไทยพาณิชย์ 28 ก.พ. 2560, บุกเดี่ยวปล้นกสิกรไทย แหลมฉบัง 2 มี.ค. 2560, จี้กรุงไทย 8 มี.ค. 2560, คนร้ายใช้ระเบิดปลอมจี้ธนชาต บางใหญ่ 20 เม.ย. 2560, ชิงเงินธนชาต สาขาบางซื่อ 30 พ.ค. 2560, และจี้รถขนเงินแบงก์กรุงเทพ 24 ก.ค. 2560 เป็นต้น

ทั้งนี้ คดีส่วนใหญ่ถูกตำรวจติดตามไล่ล่าจับกุมคนร้ายได้เกือบทั้งหมด

เมื่อพูดถึงการปล้นธนาคารแล้ว ผู้เขียนเองอยากสะท้อนมุมมองเกี่ยวกับการเงินและปมอาชญากรรม หลังได้ชมภาพยนตร์ 2 เรื่องเกี่ยวกับการปล้น ซึ่งมีอะไรน่าคิดอยู่เหมือนกัน

หนังเรื่องแรก Hell or High Water (ปล้นเดือด ล่าดุ) เมเจอร์ฯระบุวันที่เข้าฉาย 16 กุมภาพันธ์ 2560 และเรื่องที่สอง Going in Style (สามเก๋าปล้นเขย่าเมือง) เข้าฉาย 6 เมษายน 2560

หนังทั้งสองเรื่องนำเสนอประเด็นหลักว่า "แบงก์จะยึดบ้าน จำเป็นต้องปล้น"

เริ่มจาก Hell or High Water ของผู้กำกับฯเดวิด แม็คเคนซี ซึ่งเดินเรื่องจาก 2 พี่น้อง แสดงโดย คริส ไพน์ และเบน ฟอสเตอร์ สวมบทหนุ่มคาวบอยปล้นแบงก์ที่กำลังจะยึดบ้านและที่ดิน ซึ่งเป็นฟาร์มเล็กๆที่หวังไว้ให้ลูกชาย

หนังค่อยๆ คลี่ปูมหลังตัวแสดงเอก หรือ Character Background ของสองพี่น้องทั้งเรื่องในครอบครัวและปัจจัยที่ปล้นแบงก์ที่เป็นการแก้แค้นอย่างสาสม โดยวางแผนแยบยลปล้นทีละสาขาจนได้เงินมากพอ

สะท้อนให้เห็นว่า หนังเรื่องดังกล่าวกำลังสะท้อนวิกฤตเศรษฐกิจคนอเมริกันในพื้นที่นอกเมืองใหญ่กำลังถูกแบงก์ไล่ยึดบ้านหรือที่ทำกิน หลังไม่สามารถหารายได้มาชำระหนี้ได้ และแบงก์เองก็พยายามจะฮุบที่ดินเพื่อนำไปขายพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ด้วยกลไกดอกเบี้ยปรับขูดรีดอย่างถูกกฎหมาย

หนังเรื่องนี้บู๊ยิงกันสนั่น จุดจบคือ พี่ชายยอมสละตัวเองถูกวิสามัญฯ เสียชีวิต หลังเอาตัวล่อตำรวจ-นายอำเภอปืนโหดสู้ยิงปะทะเดือด เปิดทางให้น้องชายที่ถูกยิงได้หนีรอดพร้อมเงินก้อนโตเอาไปเข้ากาสิโนเพื่อแลกเป็นเงินที่ถูกกฎหมายมาจ่ายหนี้แบงก์

ความเสียสละยอมตายของพี่ชายเดนคุก ที่ไม่เคยวาดหวังกับชีวิตมาก่อน แต่พร้อมอุทิศตัวเองเพื่อครอบครัวน้องชาย ให้สามารถรักษาที่ดินของครอบครัวไว้ได้ และสภาพครอบครัวดีขึ้นหลังปลดหนี้จะเงินปล้นแบงก์นั่นเอง เหมือนโยนบาปให้แบงก์ไปโดยปริยาย

ส่วนหนังเรื่องที่สอง Going in Style กวาดรายได้ 84 ล้านเหรียญทั่วโลก เทียบกับงบประมาณ 25 ล้านเหรียญ ซึ่งกำกับฯโดย ซัคบราฟฟ์ ชาวอเมริกัน มีดารารุ่นใหญ่อย่าง มอร์แกน ฟรีแมน , ไมเคิล เคน และ อลัน อาร์คิน ทั้งสามรับบทชายชราเกษียณจากการทำงาน วางแผนปล้นธนาคาร หลังจากเงินบำนาญของพวกเขาถูกยกเลิก

คนต้นคิดปล้นแบงก์คือ โจ รับบท ไมเคิล เคน ที่ไปติดต่อธนาคารเพราะบ้านกำลังถูกยึด ได้เห็นเหตุการณ์ปล้นของแก๊งโจรที่มี3คน และด้วยความกดดันบ้านจะถูกยึด จึงโน้มน้าวเพื่อน วิลลี่ (มอร์แกน ฟรีแมน) และ โรเบิร์ต (อลัน อาร์คิน) ซึ่งตอนแรกไม่เห็นด้วย แต่หลังแบงก์กำลังยกเลิกเงินบำนาญของพวกเขา จึงเปลี่ยนใจมาร่วมด้วย

การดำเนินเรื่องแบบสนุกสนานสร้างเสียงหัวเราะ แต่แฝงด้วยมุมมองที่มีต่อธนาคารในแง่ร้าย อันทำลายชีวิตบั้นปลายของคนแก่ชรา

แน่นอนทั้ง3หนุ่มสามารถวางแผนจนปล้นแบงก์ได้สำเร็จแบบไม่มีใครตาย และแยบยลจนเอฟบีไอจับไม่ได้ และสามารถนำเงินมาเสวยสุข จบแบบแฮปปี้เอนดิ่ง

ราวกับว่าการปล้นแบงก์ไม่ผิด โยนความผิดให้แบงก์ที่พยายามเข้ามายึดแย่งความสุขของชายแก่หลังเกษียณ

แต่ถ้าใครไปคิดตามหรือคิดง่ายตามหนังเรื่องนี้ บ้านเมืองก็คงน่าจะยุ่ง คาดว่าคงมีคนแก่อีกเยอะที่มีปัญหาลักษณะนี้กับแบงก์ในวันเกษียณ ว่ามั้ยล่ะ

จะว่าไปแล้ว.. เพิ่งผ่านมาพ้นการครบ 20 ปี "วิกฤตต้มยำกุ้ง" หรือวิกฤตเศรษฐกิจจากลอยตัวค่าเงินบาท ปี 2540 ซึ่งแบงก์ชาติ (ธปท.) โดย ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ระบุว่า (21 มิถุนายน 2560) การเกิดซ้ำของวิกฤตในรูปแบบที่เกิดขึ้นในปี 2540 กับเศรษฐกิจไทยต้องบอกว่าแทบเป็นไปไม่ได้ เว้นแต่ไทยจะเปลี่ยนกลับไปตรึงค่าเงินแบบในอดีตอีก

ขณะที่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง โดย กฤษฎา จีนะวิจารณะ โฆษกฯ ระบุ (27 กรกฎาคม 2560) ชี้เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณการขยายตัวต่อเนื่อง การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวในระดับสูง

ทว่า ทัศนะผู้เขียนกลับมองว่า เศรษฐกิจภายในประเทศไม่ได้คึกคัก และยังซึมยาวเสียด้วยซ้ำ ดูจากหลายธุรกิจมีผลประการ-กำไรลดลง แต่ก็น่าประหลาดใจว่า ธุรกิจการธนาคารกลับมีผลประกอบการยังมีกำไรดี

"กรุงเทพธุรกิจ" รายงาน (21 กรกฎาคม 2560) จากการรวบรวมผลประกอบงวดครึ่งแรกปี 2560 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ 10 แห่งที่รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่ามีกำไรสุทธิรวม 7.47 หมื่นล้านบาท โดยธนาคารกสิกรไทยมีกำไรมากที่สุด มีกำไร 1.91 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.44% รองลงมาคือธนาคารกรุงเทพมีกำไรสุทธิ 1.63 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.9%

ส่วนธนาคารกรุงไทยมีกำไรสูงสุดเป็นอันดับ 3 โดยมีกำไร 1.17 หมื่นล้านบาท แต่มีอัตราการปรับลดลงมากที่สุด โดยกำไรปรับลดลงถึง 27.5 % ธนาคารที่มีกำไรปรับลดลงมากเป็นอันดับ 2 คือ ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ หรือ แอลเอชแบงก์ มีกำไร 1.2 พันล้านบาท ลดลง 12.4% สำหรับธนาคารที่กำไรเพิ่มขึ้นสูงสุด ได้แก่ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย มีกำไร 477 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.1% ตามมาด้วยธนาคารทิสโก้ มีกำไร 2.99 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.6% และธนาคารกรุงศรี มีกำไร 1.15พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.5%

พูดก็พูดเถอะ.. เมื่อเห็นกำไรของธนาคารแล้ว หันไปมองสังคมสูงอายุของไทยที่นับวันจะมีปัญหาเพิ่มมากขึ้น เพราะเกษียณแล้วแต่ยังใช้หนี้ไม่หมด

จึงได้แต่หวังว่าหนัง Hell or High Water และ Going in Style อาจจะสะท้อนสังคมอเมริกันเท่านั้น คงไม่ใช่สังคมไทยในอนาคตอันใกล้นี้..!?