VIDEO 4.0 จากโลกสมาร์ทโฟนสู่โลกวีดิโอ(1)

VIDEO 4.0 จากโลกสมาร์ทโฟนสู่โลกวีดิโอ(1)

ในยุคทีโซเชียลมีเดียเต็มไปด้วยคอนเทนท์ ทั้ง สถานะ รูปภาพ บทความ ความคิดเห็น พิกัดสถานที่ หนัง ละคร ถ่ายทอดสด รีวิว สินค้า โฆษณา ฯลฯ 

ไม่แปลกใจที่ใคร ๆ ก็หันมาสร้างสรรค์คอนเทนท์ที่สามารถสร้างความน่าสนใจผ่านภาพมากกว่าคำพูด ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบภาพ อินโฟกราฟฟิค และหนึ่งในรูปแบบคอนเทนท์ที่เป็นกระนิยมก็คือ “วีดิโอ”

สอดคล้องไปกันในแง่สถิติทั้ง ยูทูบ ที่มียอดผู้ใช้กว่าพันล้านคนทั่วโลก ประเทศไทยเองก็ติดอันดับผู้ใช้ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ด้าน เฟซบุ๊ค เองก็หันมาให้ความสำคัญกับ “เฟซบุ๊ค เนทีฟ วีดิโอ” อยู่ไม่น้อย ทั้งในด้านการขายสื่อวีดิโอและการสร้างออริจินัลคอนเทนท์วีดิโอรูปแบบใหม่ๆ 

อย่าง เฟซบุ๊ค 360 และ เวอร์ชวล เรียลลิตี้ หรือแม้กระทั่ง เฟซบุ๊ค ไลฟ์ ก็ตาม ส่วน อินสตาแกรม และ สแนปแชท ก็ไม่น้อยหน้าด้วย Stories & Live ที่เน้น Micro-Moment เล็กๆแบบเรียลไทม์

ประกอบไปกับการเติบโตของคอนเทนท์ในโลกของทีวีดิจิทัลไทย ที่มีหลากหลายค่ายบันเทิงและดนตรีที่น่าจับตามองทั้งยอดผู้ติดตามและยอดการรับชมอย่าง จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จีนี่ ร็อค, อาร์สยาม มิวสิค และ เวิร์คพอยท์ เป็นต้น

ด้านวีดิโอคอนเทนท์จากผู้บริโภคด้วยกันที่มีชื่อเสียง อย่างที่นักการตลาดมักเรียกกันว่า Influencers หรือ Vloggers ก็ถูกจับตามองในบทบาทของการสร้างวีดิโอคอนเทนท์ที่เข้าถึงได้มากกว่า จากอินไซต์และบริบทของคอนเทนท์ที่ผู้บริโภครู้สึกเข้าถึงได้ ทำให้ในหลายประเทศมีการรวมตัวกันของกลุ่ม Influencers ในการสร้างคอนเทนท์สำหรับแบรนด์ให้มีผลวงกว้างมากขึ้นกว่าการยึดติดบุคคลใดบุคคลหนึ่งอย่างที่เคยเป็นมา

ทั้งหมดนี้ทำให้การสร้าง“กลยุทธ์วีดิโอ” เป็นมิติที่ขาดไม่ได้ในโลกการตลาดปัจจุบัน

คำถามที่มักได้รับจากนักการตลาดหลายๆท่าน คือ เราจะทำวีดิโอคอนเทนท์อย่างไรให้โดนใจผู้บริโภค ให้ก้าวทันตามสมัยนิยม ให้สร้างความแปลกใหม่ให้กับตลาดได้บ้าง ให้สร้างยอดได้อย่างไร โดยไม่เป็นเพียงการนำ โฆษณาหรือวีดิโอต่างๆ ที่มีในบริษัทไปใส่ไว้ในโลกโซเชียลอย่างที่เคยชินกัน

ในยุคแรกๆ คงต้องบอกว่าหลายๆแบรนด์ฮิตมากกับการทำ “ไวรัล วีดิโอ” ซึ่งโดยนัยคือการสร้างวีดิโอที่มียอดวิวสูง ด้วยคอนเทนท์ที่ตลกมากบ้าง ซึ้งมากบ้าง ให้ตรงกับจริตผู้บริโภค หรือด้วยพลังยอดซื้อมีเดียที่เยอะมากบ้างก็ตาม

จนมาถึงยุคนี้นาทีนี้ คำถามถัดมาที่ได้รับคือ ทำอย่างไรในเมื่อยอดวิวไม่ได้มีผลต่อแบรนด์ ไม่ได้สร้างยอดขาย ไม่ได้สร้างความรู้สึกดีกับแบรนด์ 

หรือที่แย่ไปกว่านั้น คือไม่รู้ด้วยซ้ำว่าที่ดูจนจบคือแบรนด์อะไร ในยุคที่ทุกอณูของความเป็นดิจิทัลที่วัดผลได้ หลายๆ คนคงปฏิเสธหรือหลอกตัวเองกับตัวเลขที่เป็นผลชี้วัดไม่ได้ ต่างจากสมัยเดิมๆ ที่ทุกอย่างทำไปเพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์แบบลอยๆไม่มีตัวเลขอิงชัดเจนเป็นตัวเป็นตนขนาดนี้

ด้าน กูเกิล มีการแนะนำการใช้โมเดล “Hero-Hub-Hygiene” ซึ่งเป็นที่รู้กันในกลุ่มนักการตลาด โดยย่อคือ เรื่องของการสร้างวีดิโอคอนเทนท์ ที่เป็นพระเอกหลักๆของปี เฉกเช่น โฆษณางบสูงลิบใน Super Bowl ประกอบไปกับวีดิโอคอนเทนท์สร้างความแปลกใหม่ระดับย่อยๆ ที่พูดถึงความสนใจของคนในคอมมูนิตี้ จนไปถึงวีดิโอคอนเทนท์ที่มีประโยชน์อยู่ในสเกลของชีวิตประจำวัน เช่น วีดิโอให้ความรู้เกียวกับสินค้าและบริการ วิธีการใช้งาน เป็นต้น ซึ่งมักเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคเสิร์ชหาเป็นประจำ

ขณะที่เรื่องการการันตีความน่าเชื่อถือของสถิติเชิงบวกของผู้บริโภคต่อการตอบรับวีดิโอของแบรนด์ยังเป็นที่กังขาในแง่ข้อเท็จจริง ว่าเป็นไปเพียงการช่วยเพิ่มยอดโฆษณาหรือไม่

ดังนั้นสิ่งที่แบรนด์ต้องหันมาให้ความสำคัญคงไม่ใช่เพียงปริมาณของการตอบรับ หากคือคุณภาพของการรับชมคอนเทนท์ 

ในตอนที่ 2 เราจะไปในโลกของกลยุทธ์การสร้างวีดิโอคอนเทนท์ ที่ตอบโจทย์สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ!