การแพทย์แม่นยำปฏิวัติโลกสาธารณสุข

การแพทย์แม่นยำปฏิวัติโลกสาธารณสุข

"อโรคยา ปรมาลาภา” ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ ถึงแม้เราจะอยู่ในศตวรษที่ 21 ซึ่งมีเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าก้าวไกล

แต่ก็ยังเป็นความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสุขภาพที่ดีล้วนเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา

ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้นนี้เอง ที่ทำให้ประชากรมีอายุยืนยาวมากขึ้น มีการเผยแพร่ผลงานวิจัยถึงเรื่องอายุขัยเฉลี่ยของประชากรโลกในวารสารการแพทย์ “เดอะ แลนเซ็ท เจอร์นัล” โดยอ้างอิงข้อมูลสถิติด้านสาธารณสุขของรัฐบาลจาก 188 ประเทศ ในช่วงปี 2533-2556 พบว่า คนมีอายุนานขึ้นกว่า 6 ปี ทำให้อายุขัยเฉลี่ยทั้งชายและหญิงเพิ่มขึ้นจาก 61 ปีในปี2533 มาเป็น 75 ปี ในปี2556

น่าเสียดาย ถึงแม้เราจะอายุยืนยาวขึ้น แต่ทว่าก็มีผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อรังนานขึ้น มีโรคประจำตัวที่ทำให้ต้องกินยาไปตลอดอายุขัย ทำให้สร้างภาระในด้านสาธารณสุขให้กับประเทศ และจำนวนคนไข้ที่มากล้นขึ้นนี่เอง ที่ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ อาทิ แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีจำนวนไม่เพียงพอกับความต้องการของจำนวนผู้ป่วยที่ถีบตัวสูงขึ้นในแต่ละวัน

ปัจจุบันจึงได้มีความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนแนวความคิดจากการรักษาพยาบาลมาเป็นการป้องกันเชิงรุกที่เน้นให้ประชาชนดูแลสุขภาพกันมากขึ้น และก้าวไกลไปจนถึงระดับที่เป็น “การแพทย์แม่นยำ” (Precision Medicine) ที่มีการวินัยฉัยโรคจนถึงการจ่ายยาและผลิตยาให้เป็นไปตามลักษณะพันธุกรรม และข้อมูลสุขภาพเฉพาะของแต่ละบุคคล

การแพทย์แม่นยำ ส่วนหนึ่งเกิดจากจำนวนข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละบุคคลเพิ่มมากขึ้น (patient generated health data) ด้วยความนิยมการใช้งาน Internet of Things ในกลุ่มผู้บริโภคที่ใช้อุปกรณ์ติดตามตัว wearable device ที่เพิ่มขึ้นนั้น ผนวกกับแอพพลิเคชั่นด้านสุขภาพสร้างข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงด้านสุขภาพของผู้ใช้งานแต่ละรายให้เพิ่มขึ้น

นอกจากนั้นความสามารถในการวิเคราะห์จำนวนข้อมูลได้มากขึ้น ซึ่งเป็นผลพวงจากเทคโนโลยี Big data และปัญญาประดิษฐ์ หรือ artifiical intelligent เพื่อใช้ในการดูข้อมูลในอดีตของผู้ป่วยรายอื่นๆ และนำมาวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรม จีโนม และข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยเฉพาะรายบุคคลมาประกอบ ก็ทำให้ได้ข้อมูลที่แพทย์นำมาใช้ในการวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำจำเพาะต่อตัวบุคคลมากขึ้น มีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้นและท้ายที่สุด เป้าหมายก็คือการนำผลที่ได้กลับไปผลิตยาเฉพาะเพื่อรักษาผู้ป่วยแต่ละรายให้ลดเวลาในการกินยาเรื้อรังให้น้อยวันลง

ข้อมูลจากบริษัทออราเคิล คอร์ปอเรชั่น ระบุว่าเกือบทั้งหมดของยาที่กำลังพัฒนาอยู่ จะเป็นยาเฉพาะแต่ละบุคคล และโอกาสจากการรอดชีวิตโดยเฉพาะ โรคมะเร็งและหัวใจ จะได้รับการดูแลรักษาที่แม่นยำขึ้น

ทั้งนี้ การแพทย์แม่นยำนั้น ยังต้องอาศัยการบูรณาการข้อมูลคนไข้ที่มาจากหลายแหล่งข้อมูล ทั้งการกลั่นกรองทางพันธุกรรม การรายงานผลการตรวจโรค ผลทดสอบจากห้องปฎิบัติการ นักวิจัยและพยาธิวิทยา ซึ่งแต่เดิมยากจะเชื่อมโยงข้อมูลคนไข้แบบองค์รวม เนื่องจากเวิร์คโฟล์ของแต่ละส่วนงานต่างกันระบบที่ไม่สามารถรองรับการเพิ่มขยายข้อมูล รวมถึงความมั่นใจด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลคนไข้ด้วย

บริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์องค์กร อย่างออราเคิล ก็มีผลิตภัณฑ์ที่จะมาตอบโจทย์การแพทย์แม่นยำ โดยซอฟต์แวร์ Oracle Healthcare Precision Medicine (OHPM) ได้รับการออกแบบให้เชื่อมโยงช่องว่างระหว่างเวิร์คโฟลว์ของคลินิคทดสอบ ตั้งแต่การสั่งตรวจวินิจฉัยโรคไปจนถึงการวิเคราะห์ผลลัพธ์ และให้ข้อแนะนำในการดูแล (OHPM) ช่วยการตอบสนองการรักษาเฉพาะบุคคล ที่ให้ข้อมูลด้านแลปทดสอบ และโปรไฟล์ของพันธุกรรม และยังช่วยเร่งการตรวจทดสอบในห้องปฎิบัติการโมเลกุล ขณะที่รักษาระดับความคงที่ และการติดตามการสร้างข้อมูลที่เกิดขึ้นในการจัดทำรายงาน เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดหรือคอมพลายแอนซ์

ส่วนความปลอดภัยของข้อมูลนั้น ปัจจุบันเริ่มมีแนวคิด การใช้บล็อกเชน ที่เป็นโอเพ่นซอร์สเทคโนโลยีที่ใช้ดาต้าเบสแบบกระจาย สำหรับธุรกรรมที่ต้องการความปลอดภัย มาใช้ประยุกต์ใช้ในข้อมูลด้านสาธารณะสุข ส่วนบุคคล ภายใต้บริบทของการวิจัย การทดสอบทางคลินิก และการจัดการสาธารณะสุขประชากร บล็อกเชนจะทำให้เกิดการรวบรวม และบูรณาการข้อมูลจากผู้เข้าร่วมในเครือข่ายแบบกระจายในห่วงโซ่มูลค่าด้านสาธารณสุข

การแพทย์แม่นยำยังเป็นเพียงต้นอ่อนในระยะเริ่มต้นเท่านั้น โดยข้อมูลจาก บริษัท Persistence Market Research ประมาณการมูลค่าตลาดที่เกี่ยวข้องไว้ที่ 2559-2567 เติบโตเฉลี่ย 14.7% มูลค่า 172.95 พันล้านดอลลาร์

ไม่ว่าวิทยาการทางการแพทย์จะล้ำหน้าเพียงใด และท้ายที่สุดการแพทย์แม่นยำจะเติบโตจนกลายเป็นต้นกล้าที่แข็งแรงแล้วก็ตามที แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการมีสุขภาพที่แข็งแรงนั้นควรจะอยู่ที่แต่ละบุคลลที่ต้องใส่ใจในการดูแลตนเอง 

ทั้งการทานอาหารที่มีประโยชน์  ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะนั่นคือคำตอบสุดท้ายของการมีวิถีชีวิตที่มีความสุขอย่างยั่งยืนและปราศจากโรคภัยนั่นเอง