เงินของโลกอนาคต

เงินของโลกอนาคต

เงินของโลกอนาคต

ในอดีตนั้นการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการของคนเรานั้นเริ่มจากการแลกเปลี่ยนสิ่งของต่างๆ ที่มีมูลค่าใกล้เคียงกันโดยตรง หรือเรียกว่าการ “Barter” เช่น ใช้ข้าว 1 เกวียนแลกกับวัวหนึ่งตัว ก่อนจะมีการพัฒนาแนวคิดในการใช้ “เงิน” (Currency) เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการแทน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและมีความเป็นมาตรฐาน ทั้งนี้ เงินแบบธนบัตรหรือเงินแบบกระดาษ (Fiat Currency) ที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น โดยทั่วไปจะถูก Backup ด้วยทองคำหรือเงินสำรองระหว่างประเทศ และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือและมีมูลค่าที่สะท้อนตามความเป็นจริง

ในปัจจุบัน มีวิวัฒนาการใหม่ของสื่อกลางที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนขึ้นมาอีกประเภทหนึ่ง นั่นคือ Cryptocurrency ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับเงินแบบธนบัตร แต่อยู่ในรูปแบบดิจิตอล (Digital) แทน Cryptocurrency (เรียกง่ายๆว่าเงินดิจิตอล) ถูกพัฒนาขึ้นโดยอาศัยระบบบริหารฐานข้อมูลแบบ Blockchain ซึ่งค่อนข้างมีความปลอดภัย ปลอมแปลงข้อมูลความเป็นเจ้าของและปริมาณที่ถือครองอยู่ได้ค่อนข้างยาก ทั้งนี้ เงินดิจิตอลแต่ละสกุลจะมีการจำกัดจำนวนเหรียญ (Coin) หรือเงินที่จะออกมาเพื่อเป็นการจำกัดการด้อยค่าของเงิน (Inflation) โดยในช่วงเริ่มต้นนั้น ผู้ที่ต้องการเงินดิจิตอลจะต้องนำเอาเงินสดมาแลกและจะสามารถใช้เงินดิจิตอล นั้น ในการซื้อขายชำระราคาสินค้า โอนให้แก่ผู้อื่น หรือใช้เป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุนได้อีกด้วย

เงินดิจิตอลนั้นมีหลากหลายสกุลด้วยกัน ที่เก่าแก่นั้นเริ่มจาก Bitcoin ที่เป็นเงิน Digital สกุลแรกในปี 2009 ตามมาด้วย Etherium, Ripple, Litecoin เป็นต้น ขนาดของตลาดเงินดิจิตอลนั้นมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดย ณ สิ้นเดือน กรกฎาคม 2017 ประมาณการว่ามีมูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 8.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ข้อมูลจาก CoinDance) ซึ่งขยายตัวถึง 10 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงต้นปี 2016 โดย Bitcoin เป็นสกุลเงินที่ได้รับความนิยมมากที่สุด มีขนาดคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 52% ของตลาด นอกจากนี้ เงินดิจิตอลยังเริ่มได้รับความนิยมและมีผู้ให้ความสนใจในวงกว้างมากขึ้น โดยมีตัวเลขผู้ใช้งาน Cryptocurrency แล้วมากกว่า 3 ล้านคนทั่วโลก (ตามข้อมูลผลการศึกษาของ Cambridge Centre for Alternative Finance)

นอกเหนือไปจากการใช้งานเงินดิจิตอล ในฐานะ “เงิน” แล้ว ในต่างประเทศนั้น มีหลายหน่วยงานได้เริ่มมีแนวคิดที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกรรมการเงินในฐานะตัวกลางของระบบการชำระเงิน (Clearing) หรือการโอนย้ายเงิน (Money Transfer) เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวคิดที่จะสร้าง FedCoin ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นตัวกลางในการ Clearing แทน Cheque แบบกระดาษที่ใช้เวลานานในการตรวจสอบและมักจะถูกปลอมแปลงอยู่บ่อยๆ หรือธนาคารกลางแคนนาดามีแนวคิดที่จะพัฒนา CadCoin ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นตัวกลางในการโอนเงินระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่ (B2B)

นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจ Startup ในต่างประเทศยังเริ่มใช้เงินดิจิตอลระดมทุนเรียกว่าการทำ ICO (Initial Coin Offering) โดยในปี 2017 มีการระดมทุนแบบ ICO ไปแล้วมากกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับที่ระดับ 101 ล้านดอลลาร์ในปี 2016 (ข้อมูลจาก Smith & Crown) ซึ่งกระบวนการ ICO นั้นจะทำผ่านช่องทาง Online และอยู่ในรูปแบบ Digital ทำให้สามารถดำเนินการได้รวดเร็วและกระจายไปถึงผู้ที่สนใจได้ทั่วโลก โดยไม่มีข้อจำกัดว่าบริษัทจะตั้งอยู่ที่ใด ทำให้มีหลาย Project ที่สามารถระดมทุนได้ภายในระยะเวลาอันสั้น เช่น Storj Labs ที่ทำ Project ให้บริการ Data Center แบบ Cloud Service สามารถระดมทุนแบบ ICO ได้เงินไปถึง 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในเวลาเพียง 6 ชั่วโมง

แม้ว่า เงินดิจิตอลจะเริ่มได้รับความนิยม และเริ่มมีความเห็นว่าอาจเข้ามาแทนที่เงินกระดาษได้ในอนาคต แต่ในขณะนี้ เงินดิจิตอลยังไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็น “เงิน” ประเภทหนึ่งอย่างเต็มปากเต็มคำมากนัก จากการที่ยังไม่สามารถตอบโจทย์คุณสมบัติที่สำคัญสองประการของเงินที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน คือ การที่มีมูลค่าในตัวเองและมีสภาพคล่องสูงได้อย่างชัดเจน เนื่องจากเงินดิจิตอลเหล่านี้ไม่ได้มีผู้ดูแลเสถียรภาพของมูลค่าและไม่ได้มีสินทรัพย์ใดๆ มารองรับ (Backup) ส่งผลให้มูลค่าของเงินดิจิตอล แต่ละสกุลจะขึ้นอยู่กับ Demand และ Supply ของมัน ดังจะเห็นได้จากการเคลื่อนไหวของมูลค่า Bitcoin และ Etherium ที่ในปี 2017 มีการแกว่งตัวเป็นอย่างมาก โดยมีความผันผวนสูงถึงประมาณ 20% ซึ่งเมื่อนำไปเทียบกับเงินแบบธนบัตร (Fiat Currency) ซึ่งทั่วไปมักมีความผันผวนอยู่ในช่วง 3% ก็จะสะท้อนให้เห็นถึงความไม่แน่นอนของมูลค่า เงินดิจิตอล

นอกจากนี้ แม้ว่าจะมีร้านค้าหลายแห่งที่เริ่มรับชำระเงินด้วยเงินดิจิตอล เช่น Microsoft, Expedia, Bic Camera (ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่น) แต่การใช้เงินดิจิตอลในชีวิตประจำวันยังอยู่ในวงจำกัด ทำให้คุณสมบัติด้านสภาพคล่องของเงินดิจิตอลในฐานะสื่อกลางการแลกเปลี่ยนสินค้า จึงยังไม่สามารถทำหน้าที่ได้ดีมากนัก

แม้ว่าจะยังไม่มีแนวโน้มก้าวเข้ามาแทนเงินแบบเดิมๆ ในอนาคตอันใกล้ แต่ด้วยศักยภาพที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกรรมทางการเงินได้อย่างหลากหลาย สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มความสำคัญของการใช้งานเงินดิจิตอลในอนาคต ในปัจจุบัน ผู้กำกับดูแลในหลายประเทศเริ่มหันมาให้ความสนใจในการกำหนดแนวทางการกำกับดูแลเงินดิจิตอล ไม่ว่าจะเป็นประเทศญี่ปุ่นที่เริ่มยอมรับเงินดิจิตอลเป็นสกุลเงินที่ถูกกฎหมายและกำหนดให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับเงินดิจิตอลต้องมาขออนุญาตจากหน่วยงานกำกับ (FSA) หรือประเทศสหรัฐฯ ที่ SEC จะเริ่มกำกับดูแลการทำ ICO และการซื้อขายเงินดิจิตอลในส่วนที่ถูกใช้เป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุน และประเทศเกาหลีใต้ ที่อยู่ระหว่างร่างกฎหมายเพื่อกำกับดูแลเงินแบบดิจิตอลทั้งระบบ สะท้อนให้เห็นถึงการตื่นตัวของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับเงินดิจิตอล ในอนาคต ก็ไม่แน่ว่าสักวัน เราๆ ท่านๆ อาจจะไม่จำเป็นต้องพกธนบัตรหรือ Credit Card อีกต่อไป เพียงแค่มีเงินดิจิตอล ก็เพียงพอแล้ว