กัดไม่ปล่อย...งานต้อง 'สำเร็จ' ไม่ใช่แค่ 'เสร็จ'

กัดไม่ปล่อย...งานต้อง 'สำเร็จ' ไม่ใช่แค่ 'เสร็จ'

การทำงาน 'เสร็จ' แต่ไม่ 'สำเร็จ' เกิดขึ้นได้ในงานทุกประเภทไม่จำกัด

กรณีพิพาทที่เกิดขึ้นจากสัญญาจะเกิดขึ้นได้สองกรณี โดยกรณีแรกเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเกิดเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นในธุรกรรมหรือกิจการที่ตกลงกันไว้ในสัญญา แต่ข้อตกลงที่จะต้องใช้บังคับกับเหตุการณ์นั้นตามที่ระบุไว้ในสัญญาเขียนไว้ไม่ชัดเจน ทำให้คู่สัญญารวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องของแต่ละฝ่ายเข้าใจหรือตีความข้อตกลงนั้นแตกต่างกัน ส่วนกรณีที่สองเป็นเรื่องที่ไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นระบุไว้ในสัญญาเลย ซึ่งเมื่อทำความตกลงกันเองในข้อพิพาทที่เกิดขึ้นไม่ได้ ก็ต้องให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดหากมีข้อตกลงในสัญญากำหนดไว้ว่าต้องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ หรือฟ้องคดีให้ศาลเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดหากไม่มีข้อตกลงดังกล่าวในสัญญา

ในปัจจุบันการร่างและจัดทำสัญญาทางธุรกิจจะเป็นหน้าที่ของที่ปรึกษากฎหมาย โดยข้อตกลงในสัญญาก็คือสิ่งที่คู่สัญญามี meeting of minds คือมีความเห็นเป็นอย่างเดียวกันแล้วจึงได้ให้ที่ปรึกษากฎหมายทำการบันทึกไว้ในสัญญา ซึ่งในสัญญาทางธุรกิจนั้นข้อตกลงที่ทำให้คู่สัญญาสามารถทำธุรกรรมหรือทำการอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ หรือเรื่องใหญ่โตแค่ไหนก็ตาม ก็คือข้อตกลงที่เกี่ยวกับ Who What When Where How ที่อยู่ในสัญญา เช่น ในการ takeover หรือซื้อกิจการบริษัทซึ่งสัญญาหลักที่ใช้คือสัญญาซื้อขายหุ้นหรือสัญญาซื้อขายทรัพย์สินนั้น ข้อสัญญาในส่วนนี้ก็จะกำหนดไว้ว่าใครเป็นผู้ซื้อใครเป็นผู้ขาย, ซื้ออะไร/ขายอะไร, ซื้อขายกันในราคาเท่าไหร่, การโอนทรัพย์สินที่ซื้อขายกันนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อใด, จะเกิดขึ้นที่ไหน และจะเกิดขึ้นโดยวิธีใด ซึ่งถือเป็นโครงสร้างหลักของ Commercial Terms ในสัญญาหรือ Contractual Framework

แต่หากข้อตกลงในสัญญามีเพียง Commercial Terms ที่เกี่ยวกับ Who What When Where How เท่านั้นก็มีโอกาสสูงมากที่คู่สัญญาจะเกิดกรณีพิพาทกันขึ้น เพราะเหตุการณ์เกี่ยวกับธุรกรรมหรือกิจการภายใต้สัญญาที่จะเกิดขึ้นภายหลังการลงนามในสัญญาอันจะทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียหายหรือเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกันนั้นไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแต่เรื่อง Who What When Where How ดังนั้น สัญญาทางธุรกิจจึงจะต้องมีข้อสัญญาอื่นๆ ที่เป็นการคาดคะเนบรรดาเหตุการณ์ดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นได้ซึ่งถือเป็นความเสี่ยง และกำหนดว่าคู่สัญญาฝ่ายใดตกลงจะเป็นผู้รับความเสี่ยงที่ระบุไว้นั้น

ข้อตกลงเกี่ยวกับความเสี่ยงและคู่สัญญาฝ่ายที่จะเป็นผู้รับความเสี่ยงนี้อาจเกี่ยวข้องกับส่วนได้เสียทางธุรกิจถือเป็น Commercial Risks เช่น ข้อตกลงว่าผู้ว่าจ้างจะจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้รับจ้างรวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงแต่ไม่เกินวงเงินที่กำหนดไว้ ซึ่งผู้รับจ้างจะเป็นผู้รับความเสี่ยงในกรณีที่ค่าใช้จ่ายสูงกว่าวงเงิน หรือเป็นข้อตกลงที่เกี่ยวกับความเสี่ยงทางกฎหมายถือเป็น Legal Risks เช่น ข้อตกลงที่กำหนดว่าผู้ขาย software จะไม่รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ซื้อในกรณีที่เกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอกจากการใช้ software ของผู้ขาย เนื่องจากทุกธุรกรรมและทุกกิจการทางธุรกิจจะมี Commercial Risks และ Legal Risks อยู่ด้วยกันทั้งสิ้น เมื่อความเสี่ยงนั้นเกิดขึ้นจริงแต่ไม่มีข้อตกลงในสัญญาที่คู่สัญญาทำความตกลงกันไว้ล่วงหน้าว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้รับความเสี่ยงนั้น ก็คงจะไม่มีใครยอมใครเพราะจะต้องเป็นฝ่ายเสียหายหรือเสียเปรียบ

ที่ปรึกษากฎหมายที่สามารถทำสัญญาทางธุรกิจขึ้นจนมีการลงนามโดยคู่สัญญาและใช้บังคับระหว่างกันแล้ว แต่สัญญาที่ทำขึ้นนั้นกลับก่อให้เกิดกรณีพิพาทขึ้นระหว่างคู่สัญญาที่ต่างสุจริต จากสาเหตุที่กล่าวมาแล้วนั้น ผมเรียกว่าเป็นการทำงาน 'เสร็จ' แต่ทำงาน 'ไม่สำเร็จ'

หากกล่าวถึงนักกฎหมายที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูงในด้านการจัดทำสัญญาทางธุรกิจในยุคปัจจุบัน ผมเชื่อว่าชื่อของคุณอธึก อัศวานันท์ จะต้องถูกรวมอยู่ด้วยในอันดับต้นๆ เสมอ ผมได้มีโอกาสร่วมงานกับคุณอธึกมานาน ทั้งในฐานะที่คุณอธึกเป็นลูกพี่ของผม (เนื่องจากเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้วคุณอธึกเป็น Senior Partner และผมเป็น Junior Partner อยู่ในสำนักงานกฎหมายแห่งเดียวกัน) และในฐานะที่เป็นลูกความเมื่อผมทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายในบางเรื่องให้แก่ True หรือบริษัทอื่นในกลุ่มของ CP Group ที่คุณอธึกเป็นผู้บริหารระดับสูงอยู่ รวมทั้งในฐานะที่เป็นคนละฝ่าย เมื่อผมต้องทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายให้แก่สถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อแก่บริษัทที่คุณอธึกมีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งผมเห็นว่าความรู้และความเข้าใจในเรื่อง Commercial Risks และ Legal Risks ของคุณอธึกนั้นอยู่ในระดับที่หาตัวจับยาก และมีความสามารถอย่างสูงในการทำงานให้ 'สำเร็จ'

การทำงาน 'เสร็จ' แต่ไม่ 'สำเร็จ' เกิดขึ้นได้ในงานทุกประเภทไม่จำกัดเฉพาะแต่ในงานของที่ปรึกษากฎหมาย ผมเห็นว่าผู้ที่จะสามารถทำงานให้ 'สำเร็จ' ได้นั้น นอกจากจะต้องมีความรู้และประสบการณ์ในงานที่ตนทำอยู่นั้นเป็นอย่างดีแล้ว ยังต้องเป็นคนทำงานประเภท 'กัดไม่ปล่อย' ไม่ใช่สักแต่ว่าทำให้ 'เสร็จ' ("Once a task is just begun, never leave it till it's done...Do it well or not at all." Quincy Jones)