แม่น้ำเจ้าพระยาขาดคนดูแล

แม่น้ำเจ้าพระยาขาดคนดูแล

โครงการสร้างถนนในแม่น้ำเจ้าพระยาระยะทาง 57 กม. ตั้งแต่สะพานพระราม 7 จนถึงสุดเขตกรุงเทพฯ ที่บางกระเจ้า เป็นโครงการที่ กทม. ต้องลงทุนให้ได้

โดยในขั้นแรกจะต้องเร่งสร้างถนนความยาว 14 กม. ด้วยงบประมาณ 14,000 ล้านบาท และการดำเนินการจัดจ้างต้องรีบทำให้เสร็จภายใน 6 เดือน ถนนที่จะสร้างในแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งถูกออกแบบมาเพื่อให้เป็นทางขี่จักรยานและให้คนเดิน จะกินพื้นที่เข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งละ10 เมตร สองฝั่งรวมกันก็จะทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาแคบลง 20 เมตร

 

การลงทุนสร้างถนนเพื่อขี่จักรยานและทางคนเดินในแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายเป็นห่วงว่ามีความจำเป็นอย่างไรที่ต้องไปเอาใจคนขี่จักรยานถึงขนาดที่ กทม. ต้องสร้างทางขี่จักรยานในแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยเงินนับหมื่นล้านบาท และจะคุ้มค่าหรือไม่หากต้องแลกกับผลเสียที่จะตามมา เช่น เป็นอุปสรรรคต่อการไหลของน้ำช่วงฤดูน้ำท่วม สร้างความอุจาดทางสายตา สร้างปัญหาตลิ่งพัง ปัญหาขยะสะสม ปัญหาความปลอดภัยยามค่ำคืน ผลกระทบต่อการเดินทางและการขนส่งทางเรือ 

 

และที่สำคัญคือ เป็นการทำลายวัฒนธรรมริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตัวอย่างการสร้างทางจักรยานของ กทม. บริเวณสนามหลวงแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในอดีตเพราะแทบไม่มีจักรยานมาขี่ในทางจักรยานของ กทม. เลย

 

คำถามที่สำคัญคือ ทำไมแม่น้ำเจ้าพระยาถึงไม่มีคนดูแล และทำไมสังคมไทยถึงปล่อยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น กทม. เข้ามาใช้งบประมาณเพื่อทำโครงการอะไรก็ได้โดยไม่พิจารณาถึงภาพรวมว่าโครงการดังกล่าวจะสร้างความเสียหายต่อแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างไรบ้าง

 

แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นระบบนิเวศขนาดใหญ่ที่มีความเชื่อมโยงทั้งในแง่ของทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมของคนไทยทั้งประเทศ แม่น้ำเจ้าพระยามีจุดเริ่มจากแม่น้ำ ปิง วัง ยม น่านในภาคเหนือ และรวมมาบรรจบเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากน้ำโพและไหลลงทะเลที่จ.สมุทรปราการ ประชาชนคนไทยมีวิถีชีวิตที่พึ่งพิงแม่น้ำสายหลักนี้มาตั้งแต่อดีตกาล 

 

แม่น้ำเจ้าพระยาทำหน้าที่สายเลือดสำคัญสำหรับภาคการเกษตร เป็นแหล่งอาหารจากการทำประมง เป็นเส้นทางเดินเรือขนส่งสินค้า การเดินทางทางน้ำ เป็นที่กำเนิดไฟฟ้าจากเขื่อนภูมิพล สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างมากมายในแต่ละปี ทำหน้าที่ระบายน้ำในฤดูฝน รวมทั้งการรองรับของเสียจากชุมชนต่างๆ

 

ที่สำคัญที่สุดคือแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นจุดกำเนิดของวัฒนธรรมไทยที่เห็นได้ตามสองฝั่งแม่น้ำ เป็นที่ตั้งของชุมชน ศาสนสถาน และสถานที่สำคัญต่างๆ คนไทยตั้งแต่อดีตมีความผูกพันกับลำน้ำสายนี้มาเป็นเวลานานจนทำให้เกิดขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ 2 ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ประเพณีการลอยกระทง วิถีชีวิตริมฝั่งแม่น้ำ การค้าขายทางน้ำ การทำบุญ และที่สำคัญคือกระบวนพระยุหยาตราชลมารคของพระมหากษัตริย์ไทย 

 

กิจกรรมเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างคนไทยกับแม่น้ำเจ้าพระยา หากใครมีโอกาสล่องเรือตามลำน้ำเจ้าพระยาจะเห็นได้ถึงวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าเหล่านี้ที่พบได้ตาม 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ว่าจะเป็นวัดอรุณ ป้อมพระสุเมร พิพิธบางลำพู ท่าราชวรดิษฐ ท่ามหาราช หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี วัดระฆัง วัดพระแก้ว วัดกัลยาณมิตร วังบางขุนพรม รัฐสภา กองทัพเรือ และบางกระเจ้า เป็นต้น

 

การสร้างถนนใน 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจึงเป็นการตัดความสัมพันธ์ระหว่างวิถีชีวิตของคนไทยออกจากแม่น้ำสายนี้ ที่สำคัญถนนที่จะสร้างขึ้นในแม่น้ำเจ้าพระยาจะเป็นความอุจาดทางสายตาและทำลายความงดงามของแม่น้ำเจ้าพระยาและวัฒนธรรมริม 2 ฝั่งแม่น้ำอย่างสิ้นเชิง

 

ปัญหาสำคัญคือ ยังไม่มีหน่วยงานใดที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบแม่น้ำเจ้าพระยาโดยรวม หน่วยงานราชการแต่ละหน่วยงานล้วนแต่รับผิดชอบงานเฉพาะอย่างที่ตนมีหน้าที่ กรมชลประทานดูแลเฉพาะน้ำชลประทานซึ่งที่จริงก็ไม่รวมเรื่องการระบายน้ำ กรมเจ้าท่าจะรับผิดชอบเฉพาะเรื่องการเดินเรือ กรมประมงจะดูแลเรื่องสัตว์น้ำ ส่วนจังหวัดต่างๆ จะดูแลเรื่องการดูดทรายแม่น้ำ ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ที่อยู่ริม 2 ฝั่งแม่น้ำก็จะสร้างฝ่ายป้องกันน้ำท่วมของตนเองโดยผลักปัญหาน้ำท่วมไปให้พื้นที่อื่น 

 

ลักษณะการดำเนินงานที่แยกส่วนกันเช่นนี้เป็นปัญหาพื้นฐานสำคัญที่จะทำไปสู่การทำลายแม่น้ำเจ้าพระยาในระยะยาว

ที่ผ่านมาเราต้องเผชิญกับปัญหาการบริหารงานแบบแยกส่วนมาแล้ว เช่น การบริหารน้ำในเขื่อนที่ส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในปี พ.ศ. 2554 และปัญหาน้ำแล้งในปีต่อๆ มา หรือการสร้างฝายป้องกันน้ำท่วมที่นำไปสู่ปัญหาการพังทลายของตลิ่งในพื้นที่ข้างเคียง

 

ถึงเวลาแล้วที่เราควรทบทวนรูปแบบการบริหารแม่น้ำเจ้าพระยาโดยกำหนดให้มีหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบการบริหารจัดการแม่น้ำเจ้าพระยาโดยรวมเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ 

 

 

แม่น้ำเจ้าพระยามิได้เป็นสมบัติของใครคนใดคนหนึ่งหรือจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง ดังนั้นเราจึงควรช่วยกันปกป้องแม่น้ำเจ้าพระยาโดยไม่ให้องค์ปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ เข้ามาดำเนินโครงการของตนเองที่จะทำไปสู่การทำลายแม่น้ำเจ้าพระยาในระยะยาว