เศรษฐกิจ 'ฟื้นชัด' แต่ความเหลื่อมล้ำยิ่งถ่าง

เศรษฐกิจ 'ฟื้นชัด' แต่ความเหลื่อมล้ำยิ่งถ่าง

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แถลงปรับตัวเลขคาดการณ์ การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้เพิ่มเป็น 3.5%

 จากเดิมคาดว่าจะเติบโตที่ 3.4% ซึ่งการปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 2 ในรอบปี โดยครั้งแรกปรับขึ้นจากระดับ 3.2% เป็น 3.4%

การปรับเพิ่มคาดการณ์ดังกล่าว ธปท. ให้เหตุผลว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้ม “ขยายตัวชัดเจนต่อเนื่อง” ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกที่เติบโตดีขึ้นทั้งในรายสินค้าและตลาดส่งออก สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง

ในเชิงเทคนิคแล้ว การปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง มีนัยบ่งบอกว่า เศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่ภาวะ “ขาขึ้น” ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ายินดี ..แต่หากถามถึงความรู้สึกของคนทั่วไปแล้ว ดูเหมือนจะไม่เป็นเช่นนั้น เวลานี้หลายคนยังไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้นเลย โดยเฉพาะคนในกลุ่มฐานราก รวมถึงภาคธุรกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี)

หากสำรวจคุณภาพหนี้ของกลุ่มครัวเรือนระดับรากหญ้า หรือแม้กระทั่งกลุ่ม เอสเอ็มอี พบว่ายังมีอาการน่าเป็นห่วงอยู่มาก ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ก.ค.2560 กนง. ก็ได้แสดงความเป็นห่วงในเรื่องนี้เอาไว้ โดยระบุชัดเจนว่า เป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่ต้องติดตาม เนื่องจากสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาด้านความสามารถการแข่งขัน

การที่หน่วยงานเศรษฐกิจซึ่งได้รับความน่าเชื่อถือสูงอย่าง ธปท. บอกว่า เศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนขึ้น แต่ความรู้สึกของคนทั่วไปกลับไม่เป็นเช่นนั้น น่าจะเป็นเรื่องที่ “ภาครัฐ” ควรต้องหยิบมาพิจารณา และหาคำตอบอย่างจริงๆ จังๆ ว่าเป็นเพราะอะไร

ประเด็นนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” เคยค้นคำตอบ โดยสอบถามจากนักเศรษฐศาสตร์ระดับอาวุโสในวงการ ซึ่งทุกคนมองในทางเดียวกันว่า เป็นเพราะเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวแบบ “กระจุก” คนที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวรอบนี้ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนระดับบน มีจำนวนประชากรอยู่ไม่มาก ในขณะที่คนกลุ่มฐานราก ซึ่งมีจำนวนมหาศาล ยังไม่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากนัก

แน่นอนว่า สถานการณ์แบบนี้ย่อมนำไปสู่ปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ” ที่ถ่างมากขึ้น หากปล่อยให้เหตุการณ์เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ เกรงว่าปัญหาจะไม่จบแค่เฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ แต่อาจนำไปสู่ปัญหาเชิงสังคม การแก้ปัญหาก็จะยิ่งซับซ้อนมากขึ้นตามไปด้วย ที่สำคัญยังอาจกระทบไปถึงปัญหาการเมืองในระดับประเทศด้วย

โจทย์สำคัญในเวลานี้ จึงอยู่ที่ว่า เราจะจัดการกับสถานการณ์เหล่านี้อย่างไร เพราะประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่เพิ่งมาพูดคุยกันแค่ไม่กี่ปี แต่เราถกเถียงหาทางแก้ไขมามากกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว เริ่มตั้งแต่การบรรจุลงในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 จนวันนี้เราเข้าสู่ แผนพัฒนาฯ ฉบับ 12 แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำนอกจากไม่ดีขึ้นแล้ว ยังดูเหมือนว่าจะเลวร้ายลงกว่าเดิมด้วย

ปลายปีที่ผ่านมา เครดิตสวิส โกลบอล เวลธ์ รีพอร์ต ออกรายงานเรื่องความเหลื่อมล้ำของประเทศต่างๆ ในโลก ซึ่งประเทศไทยถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจาก รัสเซีย และ อินเดีย ที่สำคัญคือเราขึ้นจากอันดับ 11 ในปีก่อนหน้า จึงเป็นเครื่องตอกย้ำว่าการแก้ปัญหายังไม่ตรงจุด... ถึงเวลาแล้วที่เราต้องคิดใหม่ ทำใหม่ในเรื่องนี้ หากยังปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ ไม่แน่ว่าในปีนี้ ปีหน้า เราอาจเบียดขึ้นอันดับ 2 แซงหน้าอินเดีย ซึ่งไม่ใช่เรื่องยินดีแม้แต่น้อย!