หนุนยกเลิกเว้นเก็บแวตนำเข้า

หนุนยกเลิกเว้นเก็บแวตนำเข้า

เมื่อเร็วๆนี้ กรมสรรพากร ได้นำร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษี จากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์

 (e-Business) ออกเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ เพื่อสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อร่างกฎหมายดังกล่าว ภายในร่างกฎหมาย ปรากฏสาระสำคัญในเรื่องการยกเลิกการยกเว้นจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวตสำหรับราคาสินค้านำเข้าไม่เกิน 1,500 บาท

ทั้งนี้ ประมวลรัษฎากรกำหนดให้สินค้าที่จำแนกประเภทไว้ในภาคว่าด้วยของที่ได้รับยกเว้นอากร ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร ได้รับยกเว้นจัดเก็บแวต ซึ่งปัจจุบันกรมศุลกากรกำหนดให้ของที่นำเข้า ซึ่งแต่ละรายมีราคาไม่เกิน 1,500 บาท ได้รับยกเว้นอากร ตามประเภท 12 ภาค 4 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ทำให้สินค้าที่นำเข้าทางไปรษณีย์ที่มีราคาไม่เกิน 1,500 บาท ได้รับยกเว้นภาษีแวตด้วย

เหตุที่กรมศุลกากรกำหนดวงเงินการเก็บภาษีแวต เพราะเห็นว่า สินค้านำเข้าในวงเงินไม่เกิน 1,500 บาทนั้น มีเป็นจำนวนมาก ขณะที่ อัตรากำลังไม่เพียงพอ จึงกำหนดเป็นวงเงินที่ได้รับการยกเว้น อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันการนำเข้าสินค้าราคาไม่เกิน 1,500 บาท จากต่างประเทศทางไปรษณีย์นั้น เป็นไปอย่างกว้างขวาง กระนั้นก็ตาม ผู้นำเข้าบางรายยังใช้วิธีการเลี่ยงอากรศุลกากร โดยแยกรายการนำเข้าสินค้าเพื่อสำแดงราคาให้ต่ำ 1,500 บาท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ ที่ต้องเสียอากรในอัตรา 30% ของมูลค่า

 นอกจากภาครัฐต้องสูญเสียอากรที่ควรจัดเก็บได้ ยังจะส่งผลต่อความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันของผู้ประกอบการในประเทศ ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแม้ว่าจะขายสินค้าที่มีราคาต่ำกว่า 1,500 บาทก็ตาม

ดังนั้น เพื่อให้การจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการต่างประเทศที่ได้ขายสินค้า หรือให้บริการกับผู้ซื้อในประเทศไทยผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึง การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าสินค้าทางไปรษณีย์ เป็นไปอย่างเหมาะสมและทั่วถึง ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องปรับปรุงประมวลรัษฎากรให้เหมาะสมกับรูปแบบของธุรกิจในปัจจุบัน

ทั้งนี้ แนวทางการยกเลิกการยกเว้นการจัดเก็บแวตสำหรับราคาสินค้าไม่เกิน 1,500 บาทดังกล่าวนั้น ได้มีการพูดถึงในระดับสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือสนช.ด้วยว่า ควรที่จะมีการแก้ไขหรือยกเลิก เพราะการไม่จัดเก็บแวตสำหรับสินค้าในราคาดังกล่าวนั้น ถือว่า ไม่เป็นธรรมต่อผู้ค้ารายย่อยในประเทศ ซ้ำยังถือเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ค้าขายผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นผู้ค้าเฉพาะกลุ่มเท่านั้น

สำหรับวงเงินที่อนุญาตให้มีการยกเว้นนั้น เดิมกำหนดวงเงินที่ยกเว้นไว้ที่ 1,000 บาท ต่อมา กรมศุลกากรได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 4 มี.ค 2558 กำหนดเพิ่มวงเงินที่ได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษีแวตเป็น 1,500 บาท ขณะที่ สนช.ต้องการให้มีการปรับลดเหลือเพียง 500 บาท

อย่างไรก็ดี เมื่อกรมสรรพากรกำหนดให้ยกเลิกการยกเว้นการจัดเก็บแวตดังกล่าว จึงถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่จะช่วยสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการรายย่อยในประเทศ ขณะเดียวกัน ยังลดการหลีกเลี่ยงอากรศุลกากร ทำให้ภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น