พลิกกฎองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่

พลิกกฎองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมาได้มีการประกาศพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่

และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) .. 2560 ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2560 กฎหมายฉบับนี้นับว่าเป็นการปฏิรูปองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่อีกครั้งและเป็นครั้งสำคัญ แต่ดูเหมือนประชาชนจะไม่ค่อยได้รับรู้หรือมีโอกาสได้วิพากษ์วิจารณ์สักเท่าใดนัก วันนี้ผู้เขียนขอนำประเด็นสำคัญในกฎหมายฉบับนี้มาสรุปเนื้อหาให้ผู้อ่านได้รับทราบกันค่ะ

ประเด็นแรก เรื่ององค์ประกอบของคณะกรรมการ กสทช. (มาตรา 14/2) เดิมมี 11 คน แต่ปัจจุบันกำหนดจำนวนให้เหลือแค่ 7 คน โดยผู้ที่มีสิทธิสมัครเข้ารับการสรรหาเป็น กสทช. ต้องมีคุณสมบัติพิเศษที่กฎหมายเดิมไม่ได้กำหนดไว้คือ

(1) เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการพลเรือน พนักงานในหน่วยงานอื่นของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ที่ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองหัวหน้าส่วนราชการตั้งแต่ระดับกรมขึ้นไป หรือรองหัวหน้าหน่วยงานอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคลหรือรัฐวิสาหกิจ หรือ

(2) เป็นหรือเคยเป็นนายทหารหรือนายตำรวจที่มียศตั้งแต่พันเอก นาวาเอก นาวาอากาศหรือพันตำรวจเอก หรือ

(3) ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ขึ้นไป หรือ

(4) กรณีเอกชนต้องเป็นหรือเคยเป็นผู้บริหารมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปี ในตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองกรรมการผู้จัดการในบริษัทมหาชน ที่มีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่าห้าร้อยล้านบาท หรือ

(5) มีประสบการณ์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค หรือสิทธิเสรีภาพ หรือด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคมไม่น้อยกว่าสิบปี

กล่าวโดยสรุป ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ผู้บริหารบริษัทมหาชน เป็น กสทช. ได้ ทั้งนี้จะต้องไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตรา 7 และมาตรา 8 ด้วย ซึ่งผู้เขียนยังมีความข้องใจอยู่ว่าในเมื่อมาตรา 8 กำหนดห้ามว่าผู้ที่จะมาเป็น กสทช. จะต้องไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น และไม่เป็นกรรมการ หรือที่ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐแล้ว ในทางปฏิบัติจะเกิดความย้อนแย้งระหว่างคุณสมบัติของ กสทช. ตามมาตรา 14/2 กับคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตรา 8 หรือไม่ หากจะตีความให้ไม่ขัดแย้งกันก็คงทำได้ แต่คนอ่านก็จะมีความสับสนอยู่พอสมควร

ประเด็นที่ กระบวนการคัดเลือก กสทช. กฎหมายใหม่ได้ยกเลิกขั้นตอนการเสนอชื่อผู้สมควรได้รับเลือกเป็น กสทช. จากหน่วยงานและสมาคมต่าง ๆ ตามมาตรา 9 ถึง 13 เดิมทั้งหมด และเปลี่ยนวิธีการคัดเลือก กสทช. มาเป็นการใช้คณะกรรมการสรรหาซึ่งมาจากศาลและหน่วยงานที่เป็นอิสระแทน โดยมาตรา 14 ใหม่กำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาดังนี้

(1) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 1 คน

(2) ผู้พิพากษาในศาลฎีกา จำนวน 1 คน

(3) ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด จำนวน 1 คน

(4) กรรมการในคณะกรรมการ ปปช. จำนวน 1 คน

(5) กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน จำนวน 1 คน

(6) ผู้ตรวจการแผ่นดิน จำนวน 1 คน

(7) ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของคณะกรรมการ กสทช. และคณะกรรมการสรรหาแล้ว ผู้อ่านก็อาจจะเกิดความรู้สึกปะปนกันไป เพราะองค์ประกอบเปลี่ยนไปจากเดิมเรียกได้ว่าจาก “หน้ามือ” เป็น “หลังมือ” ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนคิดว่าโฉมใหม่ของ กสทช. น่าจะมีความเป็นราชการหรืออิงกับระบบราชการมากกว่าเดิม ซึ่งความเป็นราชการก็ไม่ใช่อุปสรรคเสมอไป หากผู้ที่ได้รับคัดเลือกเป็น กสทช. เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ซึ่งเราก็ขอฝากความหวังไว้กับคณะกรรมการสรรหาที่จะมาทำหน้าที่ในส่วนนี้ สำหรับบทความฉบับนี้เราศึกษากันเท่านี้ก่อน พบกันใหม่คราวหน้าคะ