การเกิดการปกครองของทรราช

การเกิดการปกครองของทรราช

การปกครองของทรราช ถือเป็นปรากฏการณ์ที่โดดเด่นของรัฐกรีกโบราณ ในช่วงระหว่างศตวรรษที่ 7

 และ 6 ก่อนคริสตกาล (กรีกยุคโบราณ [archaic] คือช่วงก่อนศตวรรษที่ 5 และศตวรรษที่ 5 ถือว่าเข้าสู่กรีกยุคคลาสสิก [classic]) จากข้อมูลที่ผ่านการสังเคราะห์โดยนักวิชาการที่เชี่ยวชาญในเรื่องกรีกโบราณที่ปรากฏใน Brill’s New Pauly, Historical Atlas of the Ancient World (2010) ได้แสดงให้เห็นว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว ได้เกิดการปกครองของทรราชขึ้นในรัฐกรีกโบราณเป็นจำนวนถึง 59 แห่ง

เมื่อพิจารณาเงื่อนไขบริบททางการปกครองและการเมืองก่อนเกิดทรราชยุคโบราณ จะพบว่ามีลักษณะร่วมทั่วไปคือ ก่อนหน้าที่จะเกิดทรราชยุคโบราณ รูปแบบการปกครองที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ได้แก่ การปกครองโดยกษัตริย์ (monarchy) และการปกครองของพวกอภิชน (aristocracy) รัฐกรีกโบราณส่วนใหญ่ได้ผ่านประสบการณ์การปกครองทั้งสองแบบนี้

โดยการปกครองแบบอภิชนาธิปไตยจะเป็นรูปแบบการปกครองที่แพร่หลายมากที่สุด และเมื่อสู่ช่วงศตวรรษที่ 8-7 การปกครองแบบกษัตริย์ในรัฐกรีกโบราณเริ่มเสื่อมถอยลง และรูปแบบการปกครองที่ขึ้นมาแทนที่การปกครองโดยกษัตริย์คือ การปกครองของพวกอภิชนหรืออภิชนาธิปไตย 

ซึ่งถึงแม้ว่าจะยังมีกษัตริย์ แต่ก็ดำรงอยู่ในลักษณะของผู้นำหรือประธานในพิธีกรรมต่างๆ อีกทั้งยังมีการหมุนเวียนกันขึ้นดำรงตำแหน่งกษัตริย์ในหมู่อภิชนด้วย และการปกครองแบบอภิชนาธิปไตยในรัฐกรีกในช่วงนี้เป็นการปกครองที่สืบทอดทางสายโลหิต

 ขณะเดียวกันต่อมาในศตวรรษที่ 7 /กลางศตวรรษที่ 7 การปกครอบแบบอภิชนาธิปไตยในรัฐกรีกต่างๆก็เริ่มเกิดปัญหาด้วย เงื่อนไขสำคัญที่สุดคือความไม่สงบที่เกิดขึ้นจากความไม่พอใจของผู้คนภายในรัฐเอง อันได้แก่พัฒนาการทางเศรษฐกิจและการทหารที่ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยเติบโตและมีบทบาทมากขึ้น แต่พวกอภิชนชนชั้นปกครองในรัฐจำนวนไม่น้อยไม่สามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้การปกครองที่ดำรงอยู่เดิมกลายสภาพเป็นการกดขี่ และไม่สามารถรักษาอำนาจของกลุ่มตนไว้ได้  

ขณะเดียวกัน แม้ว่าผู้คนที่ไม่พอใจกับการปกครองของพวกอภิชน แต่ในช่วงเวลาขณะนั้น รูปแบบการปกครองที่เป็นทางเลือกในนครรัฐกรีกยุคนั้นยังจำกัดอยู่แต่รูปแบบการปกครองแบบกษัตริย์และแบบอภิชนาธิปไตยเท่านั้น ขณะเดียวกันก็ยังไม่เกิดการปกครองแบบประชาธิปไตยในนครรัฐกรีกใดๆในช่วงนั้นด้วย 

อีกทั้งความคิดหรือจินตนาการเกี่ยวกับรูปแบบการปกครองที่เรียกว่าประชาธิปไตยก็ยังไม่เกิดขึ้นชัดเจน ผู้คนก็ยังไม่มีจิตสำนึกทางการเมืองที่แข็งขันเพียงพอที่จะเข้ายึดอำนาจทางการเมืองมาเป็นของตนเอง และในสภาวะที่คับข้องใจและยังไม่มีรูปแบบการปกครองอื่นเป็นตัวเลือก เมื่อมีใครคนหนึ่งที่มีความสามารถและกล้าออกมานำ มวลชนเหล่านั้นก็พร้อมทันทีที่จะตอบรับ สภาพการณ์หรือช่องว่างทางการเมืองดังกล่าวนี้นี่เองที่เปิดพื้นที่ให้เกิดการปกครองของทรราชขึ้นในยุคกรีกโบราณ

 รัฐที่เกิดทรราชขึ้นครั้งแรกแม้จะไม่ใช่รัฐชาวกรีก แต่ถือว่ามีอิทธิพลต่อชาวกรีกคือ Lydia โดยมีทรราชชื่อ Gyges ขึ้นสู่อำนาจในราวปี 685 และระบาดไปสู่รัฐกรีกต่างๆ เช่น Corinth Cypselus ได้สถาปนาตัวเขาขึ้นเป็นทรราชในปี 657, Argos อยู่ภายใต้การปกครองของ Pheidon, Sicyon มี Orthagoras เป็นทรราช และที่นี่มีการสืบสานการปกครองอย่างทรราชต่อเนื่องยาวนานที่สุดในบรรดารัฐกรีกโบราณทั้งหมด 

นั่นคือประมาณหนึ่งศตวรรษ ตั้งแต่ 656/5 และสิ้นสุดลงในปี 556/5 , Megara ปกครองภายใต้ทรราช Theagenes, การปกครองของทรราชที่ Mytilene เริ่มต้นจาก Megacles ในราวกลางศตวรรษที่ 7, ที่ Miletus มี Thrasybulus ขึ้นสู่อำนาจในปี 610, การปกครองของทรราชที่ Athens โดย Peisistratus สามารถขึ้นสู่อำนาจและอยู่ในอำนาจอย่างมั่นคงเป็นเวลากว่า 30 ปีและที่ Samos อยู่ภายใต้การปกครองของทรราช Polycrates โดยเริ่มตั้งแต่ 535 นักวิชาการเรื่องกรีกโบราณที่มีชื่อเสียงอย่าง C.A. Robsinson, J.B. Bury และ R. Meiggs, Arther Ferrill, G.L. Cawkwell และ Jean-Pierre Vernant ต่างพากันเห็นพ้องว่า ลักษณะสำคัญประการแรกของการปกครองของทรราชกรีกยุคโบราณคือ ทรราชได้รับความนิยมและการสนับสนุนจากคนส่วนใหญ่ในรัฐนั้นๆ ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้เป็นข้อเท็จจริงที่มักจะไม่เป็นที่รู้จักหรือถูกละเลยและย้อนแย้งกับการรับรู้เกี่ยวกับทรราชของผู้คนในยุคปัจจุบัน 

การรับรู้เกี่ยวกับทรราชในฐานะผู้ยึดอำนาจที่ได้รับความนิยมจากผู้คนส่วนใหญ่ปรากฏและเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปในรัฐกรีกส่วนใหญ่ในช่วงศตวรรษที่ 7 ขณะเดียวกัน กล่าวได้ว่า แม้ว่าจะมีการใช้กำลังความรุนแรงในการยึดอำนาจจากอภิชนชนชั้นปกครองเดิม แต่ทรราชก็ยึดอำนาจด้วยการสนับสนุนจากมวลชน (popular support) และก็ไม่จำเป็นต้องมีการใช้กำลังในการยึดอำนาจเสมอไปทุกครั้งด้วย 

กล่าวได้ว่า ทรราชได้รับความไว้วางใจของคนส่วนใหญ่ และผลพวงที่เกิดขึ้นจากการปกครองของทรราชในด้านบวกได้แก่ ความเจริญทางเศรษฐกิจและการค้า อุตสาหกรรม, การเติบโตของความเป็นเมือง, บูรณการความมั่นคงและความเป็นเอกภาพของรัฐ, การสิ้นสุดของการปกครองของกษัตริย์และอภิชนที่สืบสายโลหิต, การเติบโตของจิตสำนึกทางการเมืองชนชั้นล่างและกลาง, และการส่งต่อให้เกิดรูปแบบการกครองที่เรียกว่าคณาธิปไตยและประชาธิปไตย 

แต่ผลงานต่างๆของทรราชนี้เองที่เป็นตัวทำให้การปกครองของทรราชถึงอวสานลง เพราะผู้คนเติบโตทางเศรษฐกิจและการเมืองจนทรราชไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป A. Andrewes ได้กล่าวไว้ในหนังสือ The Greek Tyrants ใน ค.ศ. 1956 (ก่อนหน้าที่งานของ Gramsci จะได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษครั้งแรกในทศวรรษ 1970) ว่า “ในช่วงเวลาที่ระบอบเก่ากำลังพังทลายลง และระบอบใหม่ก็ยังไม่ได้ลงหลักปักฐาน ทรราชได้ถือกำเนิดขึ้น