กลุ่มโซเชียลสูงวัยในยุค4.0

กลุ่มโซเชียลสูงวัยในยุค4.0

ผู้อ่านมีประสบการณ์เหมือนผู้เขียนหรือไม่ค่ะ ที่ทุกๆเช้ามักจะตื่นขึ้นมาพบกับ คำทักทายดีๆ รูปภาพสวยๆ 

หรือภาพของดอกไม้เปลี่ยนสีไปตามวัน ในแต่ละสัปดาห์ใน Line Message ที่ส่งมาจากคนใกล้ชิดคือคุณพ่อ คุณแม่ หรือปู่ ย่าตายาย 

ในบางวันอาจเป็นคำสอนทางพุทธศาสนา หรือคำคมเตือนใจ ซึ่งเป็นการสร้างความรู้สึกที่ดีในการเริ่มวันใหม่ ด้วยคำอวยพรและความหวังดี จากญาติผู้ใหญ่ของเรา ในยุคดิจิทัลนี้ ผู้สูงวัยจะใช้ช่องทางผ่านสื่อออนไลน์ ในการส่งผ่านความรัก ความห่วงใย เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของเทคโนโลยีต่อพฤติกรรมและความคิดของผู้บริโภคในทุกวัย ไม่เว้นแม้กลุ่มคนสูงวัย

วันนี้เรามาทำความรู้จักกับผู้บริโภคยุค 4.0 ที่เป็นกลุ่มผู้สูงวัย เมื่อพูดถึงยุคดิจิทัล เรามักจะนึกถึงกลุ่มวัยรุ่น หรือวัยทำงาน แต่ในปัจจุบัน อีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่พูดถึงพวกเขาเหล่านั้นไม่ได้เลย คือ กลุ่มผู้สูงวัย ที่ต้องจัดรวมเข้าไปใน กลุ่มที่สนใจและใช้เทคโนโลยีจากสื่อ Social media เป็นประจำอีกด้วย

จากการวิจัยของ Kantar TNS พบว่าผู้บริโภคอายุ 55-64 ปี ครอบครองอุปกรณ์ Digital Device เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 1.8 เครื่องต่อคน โดย 85% เป็นมือถือ 9% เป็นแทบเล็ต  และ 7% เป็นพีซี พวกเขาใช้เวลาถึง 41% ในการรับสื่อดิจิทัล ซึ่งถือว่าสูงกว่าปีที่ผ่านๆ มา

ผู้สูงวัย ยังให้เวลาในการรับชมสื่อทีวีสูงอยู่ หากเทียบกับกลุ่มอื่นๆ แต่ก็มีการเข้าชมออนไลน์ วีดิโอ มากขึ้น จากการสำรวจพบว่ากลุ่มอายุ 55-64 ปี เข้าถึงและรับชมสื่อออนไลน์วีดีโอมากถึง 81% ที่เข้าไปรับชมเป็นประจำ ทุกวันนี้ผู้สูงวัยใช้เวลาออนไลน์ต่อวันเฉลี่ย 2-3 ชั่วโมง

กลุ่มนี้ใช้เวลากับ โซเชียล มีเดีย ค่อนข้างมาก กิจกรรมฮอตฮิตคือ การส่งข้อความหรือ วีดิโอผ่านไลน์ การแชร์คอนเทนท์ผ่าน ไลน์ หรือเฟซบุ๊ค การอัพสเตตัส การอัพโหลดรูปและวีดิโอรวมถึงการโพสต์คอมเมนท์ในเฟซบุ๊ค

สาเหตุที่กลุ่มผู้สูงวัย สนใจและให้ความสำคัญกับกิจกรรมดิจิทัลสรุปได้ ดังนี้

1.มีเวลาและกำลังซื้อ

2.สนุกกับการเรียนรู้ และได้ยินได้ฟังสิ่งใหม่ๆ ทำให้รู้สึกว่า ตัวเองมีความร่วมสมัย ทันเหตุการณ์ อยู่ตลอดเวลารวมถึงภาคภูมิใจ หากเป็นคนแรกๆ ที่รู้ และได้แชร์ให้กับกลุ่มเพื่อนๆ

3.ต้องการลดช่องว่างกับลูกหลาน โดยใช้สื่อเดียวกัน พูดคุย แลกเปลี่ยนกัน ทำให้ไม่รู้สึกห่างเหิน ผู้สูงอายุท่านหนึ่งกล่าวว่า การใช้โซเชียล มีเดียทำให้หายคิดถึง แม้ว่าจะอยู่ห่างไกลกัน ทำให้ลูกหลานรู้ว่าเขารักและเป็นห่วง

4.เป็นสื่อกลางที่ใช้เชื่อมโยงกับกลุ่มเพื่อนๆ การเริ่มใช้สมาร์ทโฟนหรือการใช้โซเชียล มีเดีย มักมีอิทธิพลมาจากกลุ่มเพื่อนโดยจะมี Opinion leader ที่เริ่มใช้ก่อน และนำมาเผยแพร่ จนกลายเป็น วัฒนธรรมกลุ่มในที่สุด

5.กลุ่มนี้ต้องการเทคโนโลยีมาช่วยให้รู้สึกว่า ยังไม่แก่ และมีความทันสมัย

6.เทคโนโลยีใหม่คือแฟชั่น สำหรับกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง บางคนเปลี่ยนมือถือเป็นรุ่นใหม่ๆ เพียงเพราะต้องการภาพลักษณ์ และหากแต่ไม่ได้ใช้ ฟังก์ชั่นต่างๆ ของมือถืออย่างครบถ้วน เพราะฉนั้นมือถือรุ่นใหม่ๆ เปรียบเหมือนเครื่องประดับสำหรับผู้สูงวัยในบางกลุ่ม การประดับประดามือถือ ด้วย case ที่สวยงามหรือมีเครื่องประดับก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่ผู้สูงอายุผู้หญิงให้ความสนใจ

แพลตฟอร์ม”ที่กลุ่มผู้สูงอายุใช้เป็นประจำจะล้อตามแพลตฟอร์มยอดนิยมที่กลุ่มอายุอื่นๆใช้กัน ถ้าเป็น วีดิโอ ก็ต้อง “ยูทูบ” หากเป็น Chat ก็คือ “ไลน์” ถ้าจะ Update และ share ก็คือ “เฟซบุ๊ค”

ผู้สูงวัยยังไม่ค่อยซื้อของออนไลน์มากนัก อีกทั้งไม่ค่อยคอมเม้นท์หรือแชร์ เนื้อหาของแบรนด์ต่างๆ แต่แนวโน้มน่าจะมีการซื้อของออนไลน์มากขึ้น การใช้โซเชียลจะจำกัด อยู่ที่การรับคอนเทนท์และการแชร์ข้อมูล ส่วนการใช้เพื่อ Advocacy และ การใช้บริการต่างๆ ยังน้อยอยู่มาก

กลุ่มผู้สูงวัยยุค 4.0 เป็นกลุ่มที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ไม่ต้องการพึ่งพาผู้อื่น รักในการเดินทาง และหาประสบการณ์ใหม่ๆ อีกทั้งยังมีความกระฉับกระเฉงมากๆ ในกิจกรรม ออนไลน์ พวกเขาจะมองโลกในแง่ดี ยังต้องการใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ และมีความสุข 

ดิจิทัลจึงเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของเขา ที่ทำให้เขาได้ใช้ชีวิตแบบที่ต้องการได้ ตอบโจทย์ทั้งความต้องการของตนเอง และความต้องการด้านสังคม 

คราวหน้าถ้าได้รับไลน์ message จาก คุณพ่อ คุณแม่ ก็ให้ยิ้ม และส่ง sticker ตอบกลับนะคะ เพราะเขากำลังใช้เทคโนโลยี เพื่อเชื่อมโยงกับบุคคลที่เขาห่วงใยค่ะ