'โลกออนไลน์' ผลประโยชน์มหาศาล

'โลกออนไลน์'  ผลประโยชน์มหาศาล

ข้อมูลจาก กูเกิล ระบุว่า สถานการณ์การลงทุนโฆษณาบนแพลตฟอร์มดิจิทัล

 รวมถึงการใช้งานยูทูบในไทยช่วงครึ่งปีแรก มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง เติบโตไปทั้งอีโคซิสเต็มส์ ทั้งมุมการใช้งานภาคธุรกิจ ผู้ใช้งานทั่วไป และครีเอเตอร์ หรือผู้ผลิตคอนเทนท์ที่อยู่ในท้องถิ่น

กูเกิล บอกว่า ปัจจัยบวกที่เป็นตัวผลักดันสำคัญ คือ การเติบโตก้าวกระโดดของสมาร์ทโฟน โดย 3 ปีที่ผ่านมา ยอดขายโตกว่า 7 เท่า ปัจจุบันสมาร์ทโฟนทำยอดขายปีละประมาณ 15 ล้านเครื่อง หรือคิดเป็นสัดส่วน 25% ของจำนวนประชากร สอดคล้องไปกับเทรนด์การใช้งานของผู้บริโภค

จากเสพข้อมูลผ่านเดสก์ทอป วันนี้ทุกคนหันมาเสพข่าวสาร ข้อมูลออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือกันอย่างชัดเจน แต่ละปีการใช้บนโมบายเติบโตมากถึง 91% ขณะนี้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 61% ใช้เวลาบนยูทูบมากกว่าโทรทัศน์แล้ว

ข้อมูลระบุว่าโดยเฉลี่ยคนไทยใช้เวลาออนไลน์วันละ 8.3 ชั่วโมง ออนไลน์ผ่านโมบาย 4 ชั่วโมง ส่วนโทรทัศน์เพียง 2.3 ชั่วโมง แยกตามประเภทหน้าจอนอกเหนือจากโทรทัศน์อยู่กับโมบาย 75% พีซี 35% แทบเล็ต 30%

แน่นอนว่า ถ้าเป็นยูทูบ ไทยติดอันดับตลาดท็อป 10 ที่มีการชมยูทูบมากที่สุดจากทั่วโลก มีช่องซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านคน(โกลด์ แชนแนล) มากกว่า 55 ช่อง ช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาเติบโตมากถึง 2 เท่า อัพโหลดวีดิโอกันอุตลุดกว่า 1 ล้านชั่วโมง ยังไม่นับเฟซบุ๊ค ไลน์ ที่การใช้งานของคนไทยไม่เป็นรองใครในโลกหล้า

โลกออนไลน์ที่มีแนวโน้มแข่งขันแย่งชิงพื้นที่เพื่อเป็น “someone” กันอย่างคึกคัก แถมหอบเอาเม็ดเงินโฆษณาจากสื่อดั้งเดิม เอาไปถมบนออนไลน์เกือบจะหมด ใครครีเอทคอนเทนท์โดนๆ (มีทั้ง Fact และ non Fact ) ทำเงินได้พริบตาเป็นหลักแสน หลักล้านต่อเดือน ยิ่งผู้ใหบริการคอนเทนท์โซเชียลชั้นนำของโลก ที่ระยะหลังโดนตีแผ่เม็ดเงินรายได้จากการเข้าไปทำธุรกิจในประเทศนั้นๆ รายได้มหาศาล” กลายเป็นเป้าของ “ผลประโยชน์” ที่ทุกฝ่ายอยากเข้ามาร่วมจัดระเบียบ

รวมถึงอุตสาหกรรม อีคอมเมิร์ซ” ที่กำลังถูกเร่งรัดอย่างถี่ยิบ ให้จ่าย ภาษี” แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่อันนี้ไม่ค่อยมั่นใจว่า น้ำหนักที่รัฐพยายาม ไล่บี้” เพราะอยากให้ธุรกิจขายของออนไลน์ เข้ารูปเข้ารอย หรือ เพราะรัฐ จนมุม” หารายได้เพิ่มเข้าคลังได้ยากเต็มที

อันที่จริงเพราะโลกดิจิทัลมันเกิดขึ้นเร็วมาก เร็วจนกฏระเบียบของประเทศเราที่มีมาแต่ชาติปางก่อน แก้ไขปรับปรุงกันไม่ทัน ยังไม่นับเรื่อง บุคลากรชั้นนำที่เป็นผู้คุมกฏ ระเบียบต่างๆ ก็อยู่ในระดับ edging society

จึง ไม่ง่าย” ที่จะปรับเปลี่ยนได้อย่างปุ๊บปั๊บ แม้จะมีความพยายามดึงคนรุ่นใหม่ เจน X ,เจน Y, ยุคมิลเลนเนียล เข้าร่วมนำเสนอ แชร์ไอเดียหาทางออกร่วมกันอย่างสวยๆ แต่ก็ต้องอธิบายกันเหนื่อยกว่าจะเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน

ไม่ว่าความพยายามของรัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องการจัดระเบียบโลกออนไลน์ในรูปแบบไหนอย่างไร ควรต้องบาลานซ์ให้ดีระหว่างผลประโยชน์ที่ประเทศเสียไปคิดเป็น “เม็ดเงินไหลออก กับผลประโยชน์ที่ประเทศควรได้รับคิดเป็น “Knowledge” จากนวัตกรรมใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ mindset ใหม่ๆ ที่สามารถต่อยอด เพิ่มศักยภาพประเทศให้ก้าวทันโลกที่กำลังถูก Digital disruption อย่างหนักหน่วง