เบรก'พ.ร.ก.ต่างด้าว' สะท้อนสถานะธุรกิจไทย

เบรก'พ.ร.ก.ต่างด้าว' สะท้อนสถานะธุรกิจไทย

หลังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

 (คสช.) ออกคำสั่งมาตรา 44 เพื่อชะลอการบังคับใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ใน 4 มาตรา ได้แก่ มาตรา 101 ว่าด้วยการเอาผิดลูกจ้าง มาตรา 102 ว่าด้วยการเอาผิดนายจ้างที่รับคนมาทำงานในอาชีพพิเศษบางอย่างโดยไม่ได้รับอนุญาต มาตรา 122 ว่าด้วยการรับคนที่ไม่มีใบอนุญาตมาทำงาน และ มาตรา 119 ว่าด้วยการทำงานโดยไม่มีหนังสือแจ้งนายทะเบียนทราบ ออกไปอีก 180 วัน หรือจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2560 เพื่อให้ทั้งผู้ประกอบการและแรงงานต่างด้าวมีเวลาปรับตัว และดำเนินการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้ถูกต้องตามกฎหมาย

เนื่องจากที่ผ่านมา การบังคับใช้พ.ร.ก.ดังกล่าว ที่มีผลเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ได้สร้างความ“ปั่นป่วน” ให้กับทั้งผู้ประกอบการและแรงงานต่างด้าว โดยผู้ประกอบการสาขาที่ใช้แรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก อาทิ รับเหมาก่อสร้าง ภาคบริการ ภาคประมง เย็บเสื้อผ้า อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล และรองเท้า เป็นต้น ต่างออกแรงค้านการบังคับใช้ พ.ร.ก.ดังกล่าว โดยเฉพาะในมาตราของการเพิ่มโทษนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวทำงานโดยผิดกฎหมาย เช่น กรณีรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน จะมีอัตราโทษปรับตั้งแต่ 400,000 – 800,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน กรณีรับคนต่างด้าวเข้าทำงานแตกต่างจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาต มีอัตราโทษปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน  

ตามมาคือการ “แห่” เดินทางกลับประเทศของแรงงานต่างด้าวจากทั้ง เมียนมา กัมพูชา และลาว ตามข้อมูลของหนังสือพิมพ์เมียนมา ไทมส์ รายงานอ้างนายธั่น ซิน ออง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.เมียวดี ว่าตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีแรงงานเมียนมา ที่ทำงานผิดกฎหมายในไทย ได้เดินทางมาถึงจ.เมียวดีแล้วประมาณ 150,000 คน บางคนสมัครใจเดินทางกลับมาเอง และมีบางส่วนที่ถูกทางการไทยส่งตัวกลับมา

นี่คือเหตุผลสำคัญว่าทำไมรัฐจึงยอมถอย ด้วยการชะลอการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวในบางมาตราออกไป ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นยังสะท้อนว่าประเทศไทยกำลังเผชิญ “วิกฤติแรงงาน” ในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูง ที่เกี่ยวข้องกับประเภทของอุตสาหกรรม 3 D (Dirty -Dangerous -Difficult) ที่จำเป็นต้องอาศัย“แรงงานต่างด้าว”มาทดแทน วันใดวันหนึ่งที่“คนกลุ่มนี้” พร้อมใจกับกลับประเทศ ก็เชื่อได้ว่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจน้อยใหญ่ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งมีจำนวนผู้ประกอบการกว่า90% ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งประเทศ แม้ว่าสัดส่วนรายได้รวมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเอสเอ็มอีจะมีไม่มากเท่าผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่ไม่อาจละเลย ผลกระทบที่เกิดขึ้นในทุกหย่อมหญ้า ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยตามมา 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะทำให้คนในรัฐบาล ต้องกลับมาทบทวนและถามตอบกันใหม่ว่า โจทย์ที่ต้องการให้ประเทศไทยเดินสู่อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งเป็นไปตามกระแสโลก เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันซึ่งไม่อาจปฏิเสธว่าเป็นแนวทางที่ต้องมุ่งไป ทว่าหนทางของการสู่จุดหมายนั้น อาจเข้าตำรา “เข็นครกขึ้นภูเขา” เป็นงานยากของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในเมื่อ“องคาพยพ”ธุรกิจไทยส่วนใหญ่ในภาคเอสเอ็มอี ยังคงขับเคลื่อนธุรกิจของพวกเขาโดยแรงงานต่างด้าว ส่วนหนึ่งยังเป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย เพื่อลดต้นทุนประกอบการ จากภาระค่าใช้จ่ายขึ้นทะเบียนแรงงานที่ถูกระบุว่าสูง เป็นทั้งค่าใช้จ่ายบนโต๊ะและอาจมีใต้โต๊ะ แทนการใช้เครื่องจักรราคาแพงที่ทันสมัย แล้วอย่างนี้เราจะเดินไปสู่เส้นชัย 4.0 กันได้จริงหรือ ?