ราคาน้ำมันลงและทรง: ปัญหาเรื้อรังของการฟื้นตัว

ราคาน้ำมันลงและทรง: ปัญหาเรื้อรังของการฟื้นตัว

ราคาน้ำมันลงและทรง: ปัญหาเรื้อรังของการฟื้นตัว

ตัวผมเองไม่ได้ลงทุนในกองทุนน้ำมันหรือสินทรัพย์ที่เกี่ยวกับน้ำมันเลยในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา เหตุผลหลักก็คงอย่างที่ทุกๆท่านทราบกัน ว่าน้ำมันเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีความผันผวนอย่างมากในช่วงนี้ โดยตั้งแต่ที่ OPEC เริ่มตัดสินใจคงส่วนแบ่งของตัวเองในตลาด ส่งผลให้ราคาน้ำมันร่วงลงไปกว่า 60% ตอนปี 2014 และก็ลุ่มๆดอนๆ ตลอดมาหลังจากนั้น และแม้จะดูดีขึ้นมาบ้างในปีนี้ แต่ก็ร่วงไปกว่า 4% ในชั่วข้ามคืนวันที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นความเสี่ยงที่ยังคงอยู่

ความกังวลหลักของนักลงทุนเกี่ยวกับแนวโน้มราคาน้ำมันคือสองประเด็นหลักด้วยกัน คือ อย่างแรก ความสามารถในการร่วมมือกันของกลุ่ม OPEC ซึ่งแม้จะเหนียวแน่นและแข็งแกร่งแค่ไหนในอดีต แต่ในปัจจุบันมีความอ่อนแอลงไปอย่างมาก เนื่องจากในปี 2014 กลุ่ม OPEC หันมาให้ความสำคัญกับการคงส่วนแบ่งในตลาดน้ำมันโลกไว้ จากที่เคยมีส่วนแบ่งถึง 50% ของกำลังการผลิตทั้งโลก แต่กลับลดลงเหลือ 44% ในปีที่ผ่านมาหลังจากโดนกินสัดส่วนไปอย่างมากจากผู้ผลิตรายใหม่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆนอกกลุ่ม OPEC เอง เช่น จากกลุ่ม shale oil จากสหรัฐฯ หรือ กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันจาก oil sand ในแคนาดา กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันใน OPEC จึงมองว่าหากลดกำลังการผลิตลงเพื่อดันให้ราคาขึ้น ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้พวกผู้ผลิตรายใหม่ที่มีต้นทุนที่สูงเหล่านี้ เข้ามากินส่วนแบ่งในตลาดมากขึ้น จึงผลักดันให้มีการตรึงกำลังการผลิตในระดับที่กดราคาน้ำมันให้ลงต่ำกว่าต้นทุนการผลิตของเทคโนโลยีใหม่ๆเพื่อกีดกันทางการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม การร่วมมือกันไม่ได้เกิดขึ้นง่ายขนาดนั้น ด้วยราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงกว่า 50% ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่าน วิธีเดียวที่ประเทศผู้ผลิตจะสร้างรายได้ให้เพียงพอการใช้จ่ายในประเทศคือต้องขายให้เยอะ หรือเพิ่มกำลังการผลิตนั่นเอง ประเทศในกลุ่ม OPEC ที่มีอำนาจในการต่อรองสูงอย่างรัสเซีย จึงเริ่มดำเนินแผนการผลิตของตัวเองมากขึ้นและลดความสำคัญของข้อตกลงร่วมใน OPEC ลง

ในประเด็นที่สอง หลายๆท่านคงเริ่มสังเกตเห็นแล้วว่า ถึงแม้หากทาง OPEC จะสามารถกลับมาร่วมมือกันได้อีกครั้ง และดันให้ราคาน้ำมันวิ่งขึ้นใหม่ ก็คงหนีเทคโนโลยี shale oil กับ sand oil ไม่พ้น ซึ่งมีความพร้อมที่จะกลับมาเพิ่มกำลังการผลิตทุกเมื่อ จึงทำให้ในระยะยาว upside ของน้ำมันยังมีไม่ค่อยเยอะ ในขณะที่ downside มีอยู่อย่างเหลือเฟือ

ถึงแม้การลงทุนในน้ำมันมีความน่าสนใจลดน้อยถอยลงไปอย่างมาก ในมุมมองของผม แต่ราคาน้ำมันนับเป็นหนึ่งในดัชนีที่ผมต้องเฝ้าจับตาดูและติดตามอยู่ตลอดเวลา เพราะด้วยความเสี่ยง downside ที่กล่าวมาขึ้นต้นนั้น สร้างความเสี่ยงให้กับด้านอื่นๆอย่างต่อเนื่อง

เมื่อราคาน้ำมันตก ก็จะกระทบกับกำลังซื้อและการบริโภคในประเทศ และถึงแม้ราคาน้ำมันจะถูกลงจนทำให้ผู้ขับขี่ยานยนต์ รู้สึกดี แต่จากที่โครงสร้างแรงงานในประเทศไทยประมาณ 37% ยังพึ่งพารายได้ไม่มากก็น้อยจากภาคเกษตร กำลังซื้อที่หายไปกลับทำให้การฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศยิ่งทำได้ยากขึ้น ไม่ว่ารัฐบาลจะกระตุ้นการบริโภคด้วยนโยบายอะไรก็ตาม เพราะราคาสินค้าเกษตรหมวดใหญ่ของประเทศนั้น มีความสัมพันธ์ค่อนข้างสูงกับราคาน้ำมัน ไม่ว่าจะเป็น ยางพารา มันสำปะหลัง หรือปาล์มน้ำมัน จึงทำให้กำลังซื้อของคนกว่า 1 ใน 3 ของประเทศได้รับผลกระทบจากทิศทางน้ำมันเช่นกัน และเมื่อผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อ ธุรกิจ SME ก็จะประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างที่เป็นใน ปัจจุบัน

ในเรื่องการลงทุน อุตสาหกรรมพลังงานนับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ในช่วงราคาน้ำมันสูง สัดส่วน market capitalization ของอุตสาหกรรมพลังงานต่อมูลค่ารวมของตลาดหลักทรัพย์นั้นอยู่ที่ 37% เลยที่เดียว (ในปี 2008) และหลังวิกฤตซับไพรม์มา สัดส่วนก็ยังคงสูงอยู่ที่ประมาณ 30% จนกระทั่งราคาน้ำมันลดลงในปี 2014 จนทำให้ในปัจจุบันสัดส่วนเหลืออยู่เพียง 18% แต่ก็ยังปฏิเสธไม่ได้ครับ ว่านี่คือหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดและมีการลงทุนในประเทศที่สูงที่สุดอุตสาหกรรมหนึ่ง เมื่อราคาน้ำมันตกลงเป็นระยะเวลานาน รวมทั้งเรื่องการขาดความชัดเจนในเรื่องกระบวนการภาครัฐในการให้สัมปทานครั้งใหม่ ยิ่งทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ต้องชะลอการลงทุนออกไป เพราะในอุตสาหกรรมขุดเจาะนั้นต้องมีการวางแผนล่วงหน้าก่อนการลงทุนจริงนานถึง 6 ปีเลยทีเดียว ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงการพัฒนาอีกประมาณ 2 ปี เพื่อให้เริ่มต้นผลิตได้จริง ดังนั้นด้วยราคาพลังงานที่ต่ำ รวมไปถึงกับการขาดความชัดเจนเรื่องการสัมปทานซึ่งจะหมดอายุในปี 5-6 ปีข้างหน้านั้น ที่ไม่ได้นานเลยสำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ จะทำให้การลงทุนของภาคเอกชนจากอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศอุตสาหกรรมหนึ่งหายไปในช่วงสูญญากาศของการตัดสินใจ

แน่นอนครับ ในภาพรวมประเทศก็ยังเป็นผู้นำเข้าสุทธิของน้ำมันดิบอยู่ ซึ่งมีสัดส่วนในการนำเข้าถึง 11% ของการนำเข้า เพราะฉะนั้น เมื่อราคาน้ำมันลง หากมองกันในภาพ macro จะทำให้เรารู้สึกว่าตัวเลขเศรษฐกิจเหมือนจะดูดีขึ้นมาเลยทีเดียว เพียงแต่น่าเสียดายครับ เพราะถึงแม้เศรษฐกิจจะโตได้ในตัวเลข แต่เศรษฐกิจคงไม่ดีซะทีเดียวอย่างเช่นที่ผ่านมา