Income stock VS Growth Stock

Income stock VS Growth Stock

Income stock VS Growth Stock แบบไหนควรมีไว้ในพอร์ตครึ่งปีหลัง

ภาพรวมการลงทุน ณ ช่วงเวลานี้ สินทรัพย์ทั่วโลกอย่างเช่นตราสารทุน ยังคงได้รับประโยชน์จากการดำเนินนโยบายการเงินที่ชัดเจนของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) โดยการพิจารณาปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในครั้งล่าสุด ไม่ได้สร้างแรงกดดันให้กับตลาดการเงิน อีกทั้งยังมีการส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้ ประกอบกับ สถานการณ์ทางการเมืองในฝั่งยูโรโซนก็มีความคลี่คลายลงมาก ในครึ่งปีหลังนี้ ควรเริ่มปรับพอร์ตการลงทุนให้รับกับตลาดหุ้นที่มีความน่าสนใจมากกว่า หากเปรียบเทียบกับการลงทุนในตราสารหนี้ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ ก็ปรับตัวลงมาในระดับ 2% ซึ่งเริ่มมองว่า ราคาเริ่มแพง

หากคาดการณ์เรื่องการเคลื่อนย้ายของเม็ดเงินลงทุนตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) โดยเฉพาะประเทศแถบเอเชียตอนใต้ รวมทั้งประเทศไทยก็มีแนวโน้มจะได้รับความน่าสนใจจากมูลค่าของตลาดหากเทียบระหว่าง ตลาดเกิดใหม่ และ ตลาดโลก(Global Market) ปัจจุบันตลาดเกิดใหม่ มี PER อยู่ที่ประมาณ 12-13 เท่า ขณะที่ ตลาดโลกที่ PER ประมาณ 17เท่า ซึ่งถ่วงน้ำหนักด้วย ตลาดพัฒนาแล้วเป็นส่วนใหญ่ (Developed Market) จากมูลค่าดังกล่าว บ่งชี้ได้ว่า ความน่าสนใจของตลาด EM ในเชิงมูลค่ายังมีความน่าสนใจหากจะมีการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินลงทุน

ขณะที่ตลาดหุ้นไทย ค่า PER อยู่ที่ประมาณ 15 เท่า แต่อัตราเงินปันผลเฉลี่ยอยู่ที่ 3.14% สะท้อนได้ว่า ตลาดหุ้นไทยไม่ถูกมากแต่ก็ไม่แพง แต่ความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทยจะมากน้อยแค่ไหนจะขึ้นอยู่กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งยังมีแรงส่งจากการลงทุน การส่งออกและการท่องเที่ยว โดยในครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวได้ดีกว่าครึ่งปีแรก หลังจากที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะตัวเลขการส่งออกของปีนี้ที่ขยายได้ดี การบริโภคภายในประเทศฟื้นตัวขึ้น และการใช้จ่ายภาครัฐเริ่มกลับมาดำเนินตามแผนหลังจากที่ชะลอออกไปในช่วงครึ่งปีแรก อย่างไรก็ดี ผมมองว่า การฟื้นตัวขึ้นของการบริโภคเอกชน การใช้จ่ายภายภาครัฐ และ การส่งออก จะเป็นแรงสนับสนุนให้การปรับลดประมาณการหยุดลงและมีโอกาสที่จะถูกปรับขึ้นได้อีกเพราะที่ผ่านมา ประมาณการผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไทยถูกกดดันจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ลดลง

เราลองขยับเข้ามาใกล้ๆ กลยุทธ์การลงทุนในหุ้นกันบ้างช่วงครึ่งปีหลัง ในภาวะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยยังคงไม่มีทิศทางที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยก็ยังสามารถรักษาการขยายตัวในแบบค่อยเป็นค่อยไป ลักษณะหุ้นที่ควรมีติดไว้ในพอร์ตผู้ลงทุนควรให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นที่มีลักษณะ Income/Dividend Stock มากกว่า Growth Stock นั่นหมายถึง หุ้นในพอร์ตควรมีผลการดำเนินงานที่ดีไม่ผันผวน มีกระแสเงินสดที่เข้มแข็งเพียงพอที่จะจ่ายปันผลได้อย่างสม่ำเสมอ มากกว่า บริษัทที่มีกิจการที่ดีมีแนวโน้มการขยายตัวสูง (Growth Stock) เพราะการเลือกประเภทหุ้นดังกล่าวจะทำให้ผู้ลงทุนสามารถรับกระแสเงินสดระหว่างทางการลงทุนจากเงินปันผล เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจในลักษณะที่ไม่หวือหวา การทยอยรับผลตอบแทนที่สม่ำเสมอจะเป็นการป้องกันการเสียโอกาสจากการลงทุน

อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนสามารถเลือกประเภทหุ้นตามลักษณะดังกล่าว โดยเน้นกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากการลงทุนในโครงการภาครัฐ อาทิ กลุ่มรับเหมาก่อสร้างที่ได้รับผลดีจากการเลื่อนการเปิดประมูลโครงการลงทุนภาครัฐในครึ่งปีหลัง และการใช้จ่ายของรัฐมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น กลุ่มค้าปลีกที่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของการบริโภค โดยรายได้เกษตรกรจะยังคงเป็นแรงสนับสนุนการบริโภคที่สำคัญ รวมถึง กลุ่มปิโตรเคมี ที่กำลังเข้าสู่ช่วง High Season ในไตรมาส 3 และ ไตรมาส 4 ครับ