ต้องปฏิบัติได้จริง

ต้องปฏิบัติได้จริง

หลังจากพระราชกำหนดการบริหารจัดการ การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560

 มีผลบังคับใช้ ตามนโยบายการจัดระเบียบแรงงานต่างชาติของรัฐบาล ปรากฏว่าล่าสุด ระหว่างวันที่ 23-28 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีรายงานจากทุกด่านสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองว่า มีแรงงานเดินทางออกจากประเทศแล้วประมาณ 6 หมื่นคน ซึ่งบางส่วนมาจากความกลัวพระราชกำหนดดังกล่าว แต่เชื่อว่าตัวเลขเลขแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านน่าจะมากกว่านี้ จากแรงงานทั้งหมดเท่าที่ตรวจสอบได้กว่า 2 ล้านคน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุชัดเจนว่า “เหตุผลที่เราต้องทำ ทั้งๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน ต้องทำเรื่องนี้จริงจัง เพราะเขากำลังเพ่งเล็งเราอยู่ โดยเฉพาะเรื่องค้ามนุษย์ มาเลเซียก็ทำ เราก็ตกลงกัน 3-4 ประเทศในอาเซียนว่า ถ้ามีแรงงานต่างด้าว ต้องขึ้นบัญชีที่ชายแดนเท่านั้น จะไม่มีการมาขึ้นในประเทศอีก” และนายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า “จะออกมาตรา 44 เพื่อชะลอการบังคับใช้ 3 มาตราในพ.ร.ก.ดังกล่าวออกไปก่อนเป็นเวลา 120 วัน แต่หลังจากนั้นต้องเข้าสู่ระบบ” แต่นั่นหมายความว่าถึงอย่างไรกฎหมายฉบับนี้ก็มีผลบังคับใช้

นายกฯบอกว่าอยากให้เห็นใจรัฐบาลที่ต้องดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องนี้ ซึ่งประเด็นเรื่องแรงงานถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่กดดันรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องการค้ามนุษย์ ซึ่งถือว่าประเทศไทยเป็นทั้งปลายทางและทางผ่านของกระบวนการค้ามนุษย์ในรูปแบบต่างๆ และที่ผ่านมาจะเห็นว่ารัฐบาลเผชิญกับแรงกดดันค่อนข้างมาก จนกระทั่งจำเป็นต้องใช้มาตรการที่เด็ดขาดหลายมาตรการ แต่จากรายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ล่าสุดก็ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีปัญหาในเรื่องการค้ามนุษย์อยู่มาก 

ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทั้งจากแรงกดดันของต่างประเทศ ในเรื่องสิทธิมนุษยชนต่างๆ และนโยบาย“ประเทศไทย 4.0” ของรัฐบาลเอง จึงทำให้มีความจำเป็นอย่างยิ่งประเทศไทยต้องแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้จบสิ้น หรืออย่างน้อยมีกลไกการดูแลที่ดีพอ เพราะเรื่องนี้ค้างคามานานและมีการแก้ปัญหาได้น้อยมาก จนกลายเป็นขบวนการใหญ่โต มีความเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งหากเราไม่มีกฎกติกาที่ชัดเจน ก็ยิ่งยากมากที่สามารถสกัดกั้นได้

อย่างไรก็ตาม ข้อร้องเรียนของภาคธุรกิจหลายอุตสาหกรรมว่ากฎหมายใหม่ จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อบางอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานค่อนข้างมาก ซึ่งจากท่าทีของรัฐบาลได้ประเมินว่าจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็ให้เวลาภาคธุรกิจเหล่านี้มีเวลาปรับตัวอีก 120 วัน เพื่อเตรียมตัวรับผลกระทบที่เกิดจากมาตรการแรงงานใหม่ที่จะออกมา และเราเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับมาตรฐานใหม่ หากเราต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้าได้ตามเป้าหมายการปฏิรูปประเทศ

เราเชื่อว่าเป้าหมายดังกล่าวเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งผลักดัน แต่ประเด็นที่กังวลในขณะนี้คือมาตรฐานด้านการบริหารจัดการแรงงานนั้นในทางปฏิบัติสามารถดำเนินการได้หรือไม่ หรือสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่าการตรวจสอบด้านแรงงานหรือประเด็นทางสิทธิมนุษยชนนั้น กลุ่มที่ตรวจสอบเรื่องนี้ไม่ได้อาศัยข้อมูลจากส่วนราชการเพียงอย่างเดียว แต่มีข้อมูลจากส่วนอื่นอีกมากที่สามารถหาได้ ซึ่งเราหวังว่าการปฏิรูปการจัดการแรงงานครั้งนี้จะมีผลทางปฏิบัติอย่างแท้จริง เพื่อให้ภาพพจน์ของประเทศก้าวไปอีกขั้น และเป็นไปตามเป้าหมายประเทศไทย 4.0 ตามที่วางไว้